ไลฟ์สไตล์

เจ้าของที่ดินตาบอดซื้อที่กคช.เพื่อเป็นทางเข้า-ออก

เจ้าของที่ดินตาบอดซื้อที่กคช.เพื่อเป็นทางเข้า-ออก

28 เม.ย. 2558

เปิดซองส่องไทย : เจ้าของที่ดินตาบอดซื้อที่กคช.เพื่อเป็นทางเข้า-ออก

 
                          ดิฉันมีเรื่องอยากทราบว่า ทำไมการเคหะแห่งชาติขายที่ดิน 35 ตารางวา เพื่อเปิดทางให้เจ้าของที่ดินตาบอด ซึ่งที่แห่งนี้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่หลังสวนสุขภาพหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง เขตสะพานสูง เพื่อที่จะได้ถมที่สร้างโครงการขาย ก่อผลกระทบรุนแรงแก่ผู้อยู่อาศัยโดยรอบเป็นอย่างมาก
 
                          ทำไมการเคหะถึงได้ตัดขายที่ 35 ตารางวา และได้เงินเพียงแค่ 4 ล้านบาทเท่านั้น ช่วยเปิดทางที่ตาบอดซึ่งเป็นบึงน้ำลึกถึง 7-11 เมตร พื้นที่เกือบสิบไร่ให้นายทุนถมดินทำที่จัดสรรสร้างบ้าน-สร้างคอนโดมิเนียม ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนี้นับพันครอบครัวเรือนมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก 
 
                          จึงอยากวอนทางการเคหะช่วย แต่ไร้ซึ่งคำตอบว่าเป็นเพราะเหตุใด ขณะที่กรมที่ดินใช้ที่แปลงนี้วางอุปกรณ์รังวัดและหลักเขต กลับถูกการเคหะขอคืน ยืนยันเพื่อที่จะขายที่แห่งนี้ให้เอกชนเท่านั้น ด้านชาวบ้านเตรียมยื่นเอกสารร้องนายกฯ-สื่อมวลชน เข้าช่วย ก่อนนายทุนเร่งพัฒนา หวั่นที่ตาบอดแห่งนี้เมื่อถมสูงขึ้นมาแล้ว ชาวหมู่บ้านนักกีฬาที่อยู่โดยรอบอาจจะโดนผลกระทบต่อวิกฤติน้ำท่วมหนักในชุมชน 
 
                          ดิฉันจึงอยากให้ทางการเคหะช่วยหาคำตอบให้ทีว่าเป็นเพราะอะไรถึงต้องทำแบบนี้ด้วย ไม่สงสารชาวบ้านที่อยู่โดยรอบเลยหรือ ซึ่งชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบนี้ไม่ใช่น้อยๆ เป็นพันๆ ครัวเรือน ถ้าเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านแบบนี้ อยากทราบว่าทางการเคหะยังอยากที่จะทำต่อหรือไม่ อย่างไร? ช่วยหาเหตุผลตอบให้ด้วย เพราะคลางแคลงใจเป็นอย่างมาก
 
 
เบญจวรรณ 
 
 
ตอบ
 
 
                          น.ส.ปณัดดา สืบสกุล ผู้อำนวยการกองสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ชี้แจงว่า แปลงที่ดินจำนวน 35 ตารางวา ที่การเคหะแห่งชาติจะขายให้เอกชนตั้งอยู่ภายในโครงการเคหะชุมชนหัวหมาก ถนนกรุงเทพ-กรีฑา เขตสะพานสูง ซึ่งแปลงที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับที่ดินตาบอดของเอกชนมิใช่บึงรับน้ำของชุมชน 
 
                          โดยระบบการระบายน้ำของชุมชนใช้วิธีสูบระบายลงคลองสาธารณะ ทั้งนี้เจ้าของที่ดินตาบอดได้ขอซื้อที่ดินของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเป็นทางเข้าออกและปรับปรุงพื้นที่จัดสร้างเป็นที่พักอาศัยจำนวน 26 หน่วย หากมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลในพื้นที่นั้นๆ 
 
                          เมื่อมีการถมดินจะต้องขออนุญาตจากเขตสะพานสูง ซึ่งผู้ขออนุญาตจะต้องเสนอแผนป้องกันความปลอดภัย และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียงก่อนที่จะออกใบอนุญาตก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถระงับการถมดินได้ถ้าไม่เป็นไปตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่กำหนด 
 
                          ขณะเดียวกันระบบการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วมของโครงการเคหะชุมชนหัวหมากได้มอบโอนให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล และที่ดินที่เอกชนจะขอซื้อที่ดินจากการเคหะแห่งชาติบางส่วนประมาณ 21.63 ตารางวา สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาประเวศ ได้ใช้พื้นที่สำหรับวางหลักหมุดที่ดินและไม่ได้ก่อสร้างเป็นอาคารแต่อย่างใด 
 
                          ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ขอคืนพื้นที่บางส่วน โดยมีการแลกเปลี่ยนกับที่ดินของผู้ขอซื้อที่ดินเท่ากับจำนวนที่ขอคืน พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ให้สำนักงานที่ดินสามารถใช้ประโยชน์วางหลักหมุดได้ตามเดิม
 
                          อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร้องเรียนโดยมีนางเบญจวรรณ เป็นแกนนำ ร่วมกับผู้อยู่อาศัยประมาณ 15 ครัวเรือน ได้ต่อเติมอาคารรุกล้ำพื้นที่ของผู้ขอซื้อที่ดินจากการเคหะแห่งชาติ ซึ่งการพัฒนาที่ดินนั้นจะต้องรื้อถอนอาคารที่มีการรุกล้ำ อันจะทำให้เสียประโยชน์ของผู้ร้องเรียน