ไลฟ์สไตล์

ชะตาคนนามูล-ดูนสาด บนหลุมเจาะปิโตรเลียมดงมูล

ชะตาคนนามูล-ดูนสาด บนหลุมเจาะปิโตรเลียมดงมูล

26 เม.ย. 2558

หลากมิติเวทีทัศน์ : ชะตาคนนามูล-ดูนสาด บนหลุมเจาะปิโตรเลียมดงมูล : เรื่อง / ภาพ ... รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน

 
                               “นามูล-ดูนสาด” ชื่อนี้สังคมเริ่มให้ความสนใจ หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เพื่อติดตั้งที่บริเวณหลุมสำรวจดงมูล-บี (DM-B) แปลงสัมปทาน L27/43 ในพื้นที่ ต.หนองกุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 
 
 
 
เหตุที่คนนามูล-ดูนสาดลุกขึ้นสู้ 
 
 
                               หลายคนคงสงสัย และมีคำถามว่า ทำไมชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ สมหมาย จงไพบูลย์ ชาวบ้านนามูล เล่าว่า หากย้อนไปเมื่อปี 2532 บริษัทเอสโซ่ได้เข้ามาขุดเจาะสำรวจในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับหลุมเจาะดงมูล-บี ในปัจจุบัน ช่วงนั้นชาวบ้านไม่ได้รวมกลุ่มกันต่อต้าน เพราะหลวงเป็นคนอนุมัติให้ทำ และยังไม่รู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากมีการสำรวจแล้วก็ทำการปิดหลุม ไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อเนื่อง 
 
                               จนเมื่อปี 2556 มีการเข้าขุดเจาะสำรวจบริเวณบ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งไม่ไกลจากบ้านนามูลมากนัก การขุดเจาะเผาก๊าซทำให้พืชผลทางการเกษตรเกิดความเสียหาย และเมื่อมีโอกาสไปเรียนรู้จากพื้นที่อื่น อย่างที่บ้านคำไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ ต.โนนสะอาด อ.หนองแสง จ.อุดรธานี หรือล่าสุดได้ไปดูโรงแยกก๊าซที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทำให้เชื่อได้ว่า หากมีการดำเนินโครงการต่อไปจะเกิดผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างแน่นอน 
 
                               นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวบ้านกังวลอีกอย่างก็คือ การใช้สารเคมี และการระเบิดจะกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน ที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาเป็นแหล่งอุปโภคบริโภคของคนทั้ง ต.ดูนสาด อีกทั้งความเจ็บไข้ที่จะเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า แม้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ก๊าซชนิดนี้จะก่อความเป็นพิษเมื่อมีความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดอาการไม่รู้สึกตัวและถึงแก่ชีวิตได้ แต่หากมีปริมาณความเข้มข้นต่ำจะก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ก่ออาการตาแดง ถึงแม้บริษัทยืนยันถึงความปลอดภัย แต่ก็เคยเกิดเหตุมาแล้วกับชาวบ้านคำไผ่ จ.กาฬสินธุ์ และบ้านโนนสง่า จ.อุดรธานี ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลรับการรักษานับร้อยคน
 
                               ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ทั้งระบบ จากโครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล (Dong Mun GPP) 3 ฐานการผลิต Pad A, B และ C ในอนาคตจะเกิดการวางท่อส่งก๊าซ การสร้างโรงแยกก๊าซในบริเวณแถบนี้ ซึ่งบริษัทได้รับสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปี 2560 
 
 
 
จากความตระหนัก สู่การรวมพลัง
 
 
                               ที่่น่าสนใจ ชาวบ้านเริ่มคิดว่า การรวมกลุ่มจะก่อให้เกิดพลังในการต่อรอง และลำพังคนนามูลจะไม่มีทางสู้คู่ขัดแย้งที่มีทั้งเงินและอำนาจได้ การก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จึงเกิดขึ้น 
 
                               โดย วิชัย ใจบุญ ชาวบ้านนามูล เล่าว่า เริ่มแรกๆ ของการรวมกลุ่มหลายคนก็กลัว เพราะได้ยินว่าใครเข้าร่วมกลุ่มจะถูกจับ กลุ่มนี้รวมตัวโดยไม่มีใครเป็นผู้นำ ทุกคนในกลุ่มจะช่วยกันทุกเรื่อง เราคิดกันว่า ไม่ควรผลักภาระให้ใคร ไม่เน้นให้ใครเป็นคนตัดสินใจตามลำพัง กลุ่มเกิดขึ้นเมื่อช่วงที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านการขุดเจาะก๊าซ ที่เริ่มก่อตัวเมื่อประมาณปลายปี 2557 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำได้ว่าหลังจากชาวบ้านเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันเรื่องนี้ จากการเห็นว่า ผลกระทบนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
                               “เป้าหมายก็เพื่อจะหยุดการขุดเจาะสำรวจ ดีที่สุดคือ ให้ยกเลิกขนเครื่องมือออกไปเลย เพราะหวั่นผลกระทบพืชไร่ ยาง อ้อย จะมีผลผลิตลดลง และที่เขาบอกว่าจะนำความเจริญมาให้ มันจากตรงไหน ตอนนี้ชุมชนไม่ต้องการความเจริญแล้ว พอใจแล้วที่ได้อยู่กับอากาศบริสุทธิ์ การทำมาหากินตามวิถีชาวบ้าน พอใจที่จะอยู่แบบนี้ นอกจากผลกระทบจากโครงการแล้ว ชาวบ้านได้อะไร  ก๊าซเราก็ต้องซื้อใช้ถังละ 400 บาท ค่าไฟก็เหมือนกับทุกแห่ง ถามว่าเจาะแล้วชาวบ้านใช้ฟรีไหม เราก็ต้องซื้อใช้เช่นเดิม ต้องให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรมแก่ชาวบ้านด้วย เราก็เป็นคนเหมือนกัน” 
 
                               "วิชัย" เล่าถึงการทำงานกลุ่มว่า เวลามีงานก็จะมีการนัดหมาย เตรียมการอย่างน้อยในหนึ่งอาทิตย์ จะมีการพูดคุยวงใหญ่ 1-2 ครั้ง วงย่อยก็มีการคุยกันเรื่อยๆ สถานที่จะใช้บ้านสมาชิกคุยกันตามความสะดวก ซึ่งมีการร่วมกันคิดชื่อกลุ่ม ออกแบบโลโก้ และทำเสื้อกลุ่มที่มาจากชาวบ้านคิดร่วมกัน
 
                               อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมไม่มาถามประชาชนก่อน หากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วจะแก้ไขอย่างไร ชาวบ้านควรรู้ถึงผลดีผลเสียก่อนร่วมตัดสินใจหรือไม่ หน่วยงานกล้าฟันธงไหมว่า ไม่มีผลกระทบ ทำแบบนี้มันลิดรอนสิทธิประชาชนมากเกินไป คนมีอำนาจไม่เคยลงมาเคลียร์กับชาวบ้าน ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญชะตากรรม ตามลำพังได้อย่างไร 
 
 
 
บทเรียนจากการต่อสู้บ่อก๊าซ 
 
 
                               ขณะเดียวกัน ในการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาดขึ้นมานั้น ปกรณ์ สระแก้งตูม ชาวบ้านนามูลบอกว่า เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งของกลุ่มชาวบ้านในการต่อสู้ โดยจะช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ และทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจกับคนภายนอก เราคิดกันไว้ว่า น่าจะมีการตั้งกองทุนไว้เพื่อการต่อสู้ และสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เช่น การปลูกป่า กิจกรรมการทำความสะอาดชุมชน เป็นต้น 
 
                               การต่อสู้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้ จากสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้รู้จักนิสัยข้าราชการทั้งในพื้นที่ และระดับจังหวัดมากขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้ในเชิงวิชาการ คำพูดคำจา ความเข้าใจในการทำสัมปทานปิโตรเลียม ได้เรียนรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพื้นที่อื่นๆ และพื้นที่ข้างเคียง อย่างที่ภูฮ่อม จ.อุดรธานี ผลกระทบคือ ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ใบแห้ง ต้นไม้ไม่เติบโต ผลกระทบที่เกิดกับน้ำ ทำให้เกิดปลาตายอย่างที่บ้านนาคำน้อย จ.กาฬสินธุ์ ได้เรียนรู้จากคนในชุมชน รู้จักความกลัว-ความกล้าของคน
 
                               แม้จะรู้สึกเสียใจ แต่ถ้ามีทางไหนไปได้ก็ต้องไปให้สุด วันข้างหน้าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่โครงการจะหยุดหรือไม่ ก็ไม่ท้อแท้ ตอนนี้อยากหาเหตุและผลไว้เพื่อการต่อสู้ พยายามมองหาทางออกในการปกป้องสิทธิที่เป็นการช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะกับการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน 
 
 
 
โยงเครือข่าย ผนึกกำลังต้าน    
 
 
                               นอกจากชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันเองในตำบลแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงกับนักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา ประชาสังคม และการรวมกลุ่มกับเครือข่าย “อีสานใหม่” ที่ถูกกระทำทั้งจากรัฐและทุน กว่า 10 พื้นที่ในภาคอีสาน ล่าสุด เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่มีกลุ่มองค์กรรวมกันกว่า 70 องค์กร ที่มีการแบ่งทีมนักวิชาการ ทีมกฎหมาย และทีมสื่อสาร ได้มีตัวแทนเดินทางลงมาพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล การติดต่อประสานงานช่วยเหลือซึ่งกันและกันในอนาคต ในการผลักดันให้เกิดการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
 
                               ในขณะที่ชาวบ้านยื่นเรื่องร้องคัดค้านต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ส่งเรื่องถึงศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องต่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และประสานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้ามาตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อชุมชน แต่การดำเนินการขุดเจาะสำรวจยังเดินหน้า 
 
                               ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มต้นการขุดเจาะ ซึ่งนับจากนี้ภายใน 90 วัน เมื่อถึงชั้นก๊าซที่ความลึกประมาณ 3 กิโลเมตร จะเริ่มเผาสำรวจปริมาณก๊าซและดำเนินการตามแผนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เสมือนว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการมีความชอบธรรม และไร้การละเมิดใดๆ อย่างสิ้นเชิง  
 
                               ปัจจุบันนี้แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นการขุดเจาะสำรวจ แต่ขณะนี้ก็ก่อผลกระทบในเชิงสังคมเกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านเกิดความแตกแยก เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน กลุ่มผู้คัดค้าน มีการว่ากล่าวระหว่างกันจนมองหน้ากันไม่ติด และปัจจุบันยังมีการแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นประมาทเกิดด้วยขึ้นแล้ว 
 
                               ฤาชะตากรรมของคนบ้านนามูล-ดูนสาด จะถูกแขวนไว้กับเงื่อนไขความมั่นคงทางพลังงานของประเทศชาติ ที่จะสร้างความร่ำรวยให้แก่กลุ่มทุนเพียงหยิบมือ
 
 
 
 
 
----------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : ชะตาคนนามูล-ดูนสาด บนหลุมเจาะปิโตรเลียมดงมูล : เรื่อง / ภาพ ... รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน)