ไลฟ์สไตล์

ครูที่อังกฤษไม่กล้าพูดเรื่องลัทธิสุดโต่งในชั้นเรียน

ครูที่อังกฤษไม่กล้าพูดเรื่องลัทธิสุดโต่งในชั้นเรียน

21 เม.ย. 2558

ลุงแจ่มเตือนภัย : ครูที่อังกฤษไม่กล้าพูดเรื่องลัทธิสุดโต่งในชั้นเรียน

 
                         ที่อังกฤษมีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.ความมั่นคงและการต่อต้านลัทธิก่อการร้าย” สาระสำคัญของ พ.ร.บ. กำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศร่วมกันป้องกันไม่ให้นักเรียนถูกดึงเข้าสู่เส้นทางก่อการร้าย และให้ทางโรงเรียนช่วยกันหยุดยั้งแนวคิดสุดโต่ง ในบางกรณีครูอาจจะถูกดำเนินคดีหากพบเห็นการกระทำที่น่าสงสัยของเด็กนักเรียนแล้วไม่แจ้งเตือนไปทางตำรวจ 
 
                         นอกจากนั้นโรงเรียนทุกแห่งจะต้องช่วยกันส่งเสริมค่านิยมแบบอังกฤษอย่างจริงจัง โดยเมื่อถึงวาระการประเมินผลงานของโรงเรียนก็จะมีการพิจารณาด้วยว่าโรงเรียนไหนปฏิบัติตามข้อบังคับนี้หรือไม่เพียงใด
 
                         อย่างไรก็ตาม สหภาพครูแห่งชาติ (เอ็นยูที) แสดงความวิตกว่าข้อบังคับเหล่านี้จะทำให้พื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ถูกปิดไปโดยปริยาย เพราะครูจะไม่กล้านำประเด็นเหล่านี้มาพูดกันในชั้นเรียน
 
                         เลขาธิการเอ็นยูที บอกว่า ไม่มีครูคนไหนอยากเห็นนักเรียนของตนถูกชักนำให้กลายเป็นคนหัวรุนแรง แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ถือว่าไม่ถูกจุด
 
                         “ที่เราเป็นห่วงมากๆ ก็คือเราอยากให้เด็กๆ มีโอกาสได้ถกเถียงปัญหาเหล่านี้กันในชั้นเรียน แต่ครูของเราหลายคนไม่กล้าพูดคุยเรื่องพวกนี้กันในชั้นเรียน เพราะกลัวว่าถ้าพูดแล้วก็ต้องไปรายงานกับทางตำรวจด้วย”
 
                         เธอยกตัวอย่างว่าเหตุการณ์ที่ทำให้ครูตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็คือเหตุการณ์กลุ่มก่อการร้ายโจมตีสำนักพิมพ์ชาร์ลี เอ็บโด ในฝรั่งเศส
 
                         “นักเรียนบางคน โดยเฉพาะนักเรียนมุสลิม บอกว่าถ้าพวกเขาแสดงความเห็นว่าการ์ตูนในนิตยสารฉบับนั้นทำร้ายจิตใจของพวกเขา พวกเขาก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสุดโต่ง และการที่เด็กนักเรียนปิดปากในเรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พวกเขาถูกห้ามไม่ให้พูด”
 
                         เธอเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การปราม แต่เป็นการเปิดให้มีการพูดคุยกันในกรอบที่เหมาะสม และถ้าเห็นว่าเด็กคนไหนมีพฤติกรรมเอนเอียงไปทางลัทธิก่อการร้ายก็ให้รีบนำมาตรการป้องกันที่ทางโรงเรียนมีอยู่แล้วมาใช้แก้ไข
 
                         คาลบูม บาเชีย จาก Inspire (แรงบันดาลใจ) องค์กรต่อต้านลัทธิสุดโต่ง เห็นด้วยว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน เธอบอกว่า “การป้องกันเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะร่วมกับคนในชุมชน ร่วมกับแม่ของเด็กนักเรียน หรือร่วมกับครูด้วยกัน ร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และช่วยกันสังเกตว่าเด็กคนไหนมีแนวโน้มที่จะเบนเข็มไปในทางมิจฉาชีพ เพื่อจะได้พูดคุยหาทางแก้ไขกันแต่เนิ่นๆ”