ไลฟ์สไตล์

พัฒนาศูนย์ผลิต'กระดาษสา'สู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่แม่สาย

พัฒนาศูนย์ผลิต'กระดาษสา'สู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่แม่สาย

15 เม.ย. 2558

พัฒนาศูนย์ผลิต'กระดาษสา'สู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่แม่สาย : ธานี กุลแพทย์รายงาน

           เมื่อผลิตภัณฑ์กระดาษสาคุณภาพแบรนด์ "จินนาลักษณ์" แห่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย รังสรรค์ผลงานโดย บริษัทจินนาลักษณ์ มัลเบอร์รี่สาเปเปอร์ จำกัด นำโดย นางจินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล ตลอดกว่า 2 ทศวรรษ ได้มุ่งพัฒนาผลงานด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจประเทศ จากเริ่มต้นผลิตเป็นแผ่นเพื่อจำหน่าย ได้ต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากสไตล์ ล่าสุดยกระดับพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวควบคู่เป็นศูนย์เรียนรู้ผลิตกระดาษสาของเมือง

           จินนาลักษณ์ ย้อนให้ฟังว่า บริษัทตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 ที่ 235 หมู่ 1 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย หรือเมื่อกว่า 20 ปี เกิดจากใจรักและชื่นชอบงานกระดาษสาเป็นชีวิตจิตใจ จึงจัดตั้งเป็นกิจการเล็กๆ เริ่มจากผลิตกระดาษสาเป็นแผ่นก่อนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษสาหลากสไตล์ อาทิ กล่องกระดาษ ถุงกระดาษ หมวก เสื้อผ้า ฯลฯ ชิ้นงานจากกระดาษหญ้าแฝก ปัจจุบันมีกว่า 3,000 รายการ

           โดยเธอบอกว่าชิ้นงานคุณภาพเหล่านี้เป็นฝีมือของพนักงานประจำ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว และกระจายงานสู่ชาวบ้านตามความถนัดเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน ขณะที่การทำตลาดเธอย้ำเน้นผลิตเพื่อค้าส่ง 70% ค้าปลีก 30% ทว่านับแต่ปี 2555 ได้มุ่งทำตลาดค้าปลีกมากขึ้น ด้วยเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สวนโคมตุง ถนนคนเดิน จ.เชียงราย แบรนด์ "จินนาลักษณ์" เน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทยผสานความเป็นล้านนา

           "พี่ไม่ได้มองเรื่องดีมานด์ซัพพลายของตลาดเท่าที่ควร ผลที่ตามมาคือมีสินค้าเหลือในสต็อกซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่อง จนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2556 โดยเลือกแผน 6 คือขับเคลื่อนการตลาดเพื่อขยายตลาด" จินาลักษณ์ แจง

           พร้อมระบุว่า จากทีมที่ปรึกษาโครงการเข้าสำรวจสถานประกอบการและเก็บข้อมูล พบปัญหา 4 เรื่อง คือ การทำตลาดไม่ชัดเจน ทีมงานขาดความคิดสร้างสรรค์ ขาดการจดสิทธิบัตรด้านเทคนิคการผลิต และเป้าหมายการขายไม่ชัดเจน ดังนั้นทีมที่ปรึกษาจึงวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนตลาดในระยะสั้น กลาง และยาว ด้วยจัดอบรมหลักสูตรขอบเขต บทบาท เทคนิคการตลาด แก่ทีมงานเพื่อให้เข้าใจโครงสร้างต้นทุน ตลาด การแข่งขัน ประเมินคู่ค้า ฯลฯ

           "ขณะที่การปฏิบัตินั้น เราได้ดำเนินการใน 3 แผน คือ พัฒนาสินค้าใหม่ เช่น ประยุกต์ใช้สินค้าค้างสต็อกดังกล่าว นำมาพัฒนาเป็นที่ครอบแก้วกาแฟจำหน่าย โดยมียอดขายถึงธันวาคม 2556 จำนวน 4.8 หมื่นชิ้น คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของยอดขาย 1.44 แสนบาท" 

           พร้อมปรับปรุงโชว์รูมเป็นศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่จัดโปรแกรมผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษสาให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือสร้างผลงานด้วยตัวเอง คิดค่าบริการคนละ 299 บาท ตั้งเป้าผู้สนใจราว 6,000 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีกว่า 2.9 ล้านคนที่ไปเชียงราย นั่นหมายถึงจะทำรายได้เพิ่ม 1.8 ล้านบาท ด้านการทำตลาดออนไลน์ คาดจะเพิ่มยอดขายได้ 1,500 แผ่นของกระดาษสาแผ่น หรือ 1.8 หมื่นแผ่นต่อปี คิดเป็นมูลค่า 4.5 แสนบาทต่อปี

           จากการเข้าร่วมโครงการ เธอย้ำนอกจากจะเพิ่มยอดขายให้บริษัทได้กว่า 2.3 ล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมั่นใจแนวโน้มผลิตภัณฑ์จะสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเชียงราย อย่างไรก็ตาม ท่านที่สนใจสินค้า วิธีทำ แวะชมได้ที่บริษัท หรือ โทร.09-0750-8432 และ 0-5367-5395