ไลฟ์สไตล์

 จับใจCanon Eos 7D MkII : ไอทีรีวิว

จับใจCanon Eos 7D MkII : ไอทีรีวิว

12 เม.ย. 2558

จับใจCanon Eos 7D MkII : ไอทีรีวิว

            ช่วงปลายปี 2557 แคนนอน สร้างกระแสข่าวที่สั่นระรัวหัวจิตหัวใจตากล้องในประเทศไทยด้วยการเปิดตัว Canon 7D MkII กล้อง DSLR ระดับท็อปในกลุ่มเซ็นเซอร์แบบ APS-C รุ่นที่สอง หัวจิตหัวใจช่างภาพทั้งหลายสั่นระรัวไปกับคุณสมบัติต่างๆ ที่แคนนอนตั้งใจใส่มาในกล้องตัวนี้ ที่เข้ามาแทน 7D รุ่นแรกซึ่งได้รับการจัดตำแหน่งให้เป็นกล้องรุ่นท็อปของ DSLR แบบ APS-C ของค่ายอยู่แล้ว

            และ เมื่อเปิดสเปกต่างๆ ออกมา ตากล้องทั้งหลายก็ยอมรับว่างานนี้ แคนนอน "จัดเต็ม" มาให้จริงๆ           

            ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสสัมผัสเจ้า Canon 7D MkII ตัวนี้ราว 1 สัปดาห์เมื่อเร็วๆ นี้ เพราะทางแคนนอนบอกว่าต้องจัดสรรกล้องให้แก่สื่อรายอื่นที่ต่อคิวกันยาวเหยียดรอที่จะรีวิวเจ้า King of APS-C ตัวนี้

            สัมผัสแรกกับเจ้า 7D MkII ก็รู้สึกถึงความตั้งใจในการออกแบบให้กล้องตัวนี้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความเร็ว และความมั่นคงในการเก็บภาพ น้ำหนักของตัวกล้องเหมาะมือและจุดศูนย์ถ่วงอยู่ตรงกลางด้านล่าง ทำให้การวางตำแหน่งกล้องระหว่างการถ่ายภาพเป็นไปได้ด้วยดี และยิ่งการออกแบบกริปด้านมือจับ ที่อวบ ใหญ่ ขึ้นกว่า 7D รุ่นแรก ทำให้การจับถือทำได้ถนัดมืออย่างยิ่ง และเมื่อประกบเข้ากับเลนส์มุมกว้างขนาดค่อนข้างใหญ่น้ำหนักเยอะอย่าง 17-40 F4L ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าหน้าเลนส์คว่ำลงเพราะเสียสมดุล

            ปุ่มต่างๆ ใช้งานได้ถนัดมือทั้งปุ่มกดและปุ่มหมุน ที่ใส่ฟังก์ชั่นการปรับแต่งความไวแสง ค่า F Stop ค่า Speed Shutter ได้อย่างลงตัว ช่องมองภาพเห็นได้ 100% สว่างใส มีระดับน้ำอิเล็กทรอนิกส์และเข็มทิศพร้อมระบบ GPS บอกตำแหน่งที่ลั่นชัตเตอร์อีกด้วย

            ภายในตัวกล้องนั้นเป็นโลหะน้ำหนักเบาอย่างแมกนีเซียมอัลลอยเป็นโครงสร้าง พร้อมการซีลปิดกันน้ำกันฝุ่นอย่างดี เพื่อป้องกันเซ็นเซอร์ CMOS รุ่นใหม่ขนาด 20.2 ล้านพิกเซล ที่ทำงานสัมพันธ์กับหน่วยประมวลผล DUAL Digic 6 (ชิพประมวลผล Digig 6 จำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกัน)

            ที่สำคัญ 7D MkII มาพร้อมกับระบบออโต้โฟกัสพัฒนาใหม่แบบ Cross-Type ทั้ง 65 จุด พร้อมความสามารถในการทำงานที่ EV-3 ที่ จุดกึ่งกลาง (รุ่นแรกใช้ Cross Type 19 จุด) ทั้งยังติดตามจุดโฟกัสได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ไม่พลาดเวลาใช้งาน แถมสามารถจับโฟกัสในที่ที่มีแสงน้อยได้อย่างดี ตอนที่ลองโฟกัสวัตถุในที่มืด แล้วให้เพื่อนเคลื่อนวัตถุเป้าหมายไป ก็เห็นจุดโฟกัสในช่องมองภาพเคลื่อนตัวติดตามไปด้วย เก่งมากๆ ณ จุดนี้

            นอกจากนั้นยังถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว  10 เฟรมต่อวินาที ที่ถือว่าเร็วเอามากๆ จะเป็นรองแต่พี่ใหญ่ อย่าง Eos 1D MkIII เท่านั้นที่ทำได้เร็วถึง 13 เฟรมต่อวินาที เวลากดชัตเตอร์ทีละชุด ฟังคล้ายเสียงปืนกลรัวกระสุน แต่กระสุนชุดนี้ฟังเพราะเสียจริงๆ

            ผู้เขียนใช้ 7D MkII มาจับกับเลนส์หลายตัว ทั้ง EF-S 18-135 mm STM ที่เป็นชุดคิทติดตัวกล้องมา  EF 17-40 mm F4L และเลนส์สุดคุ้มอย่าง EF 50 mm F 1.8 II พบว่าการทำงานของกล้องตัวนี้ลงตัวกับ เลนส์ที่ใช้มอเตอร์โฟกัสแบบ STM มากที่สุด การโฟกัสทำได้ไว เงียบ อย่างน่าทึ่ง แต่แม้จะใช้กับ EF 50 F1.8II  ที่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการโฟกัสช้า ยังทำให้เจ้าตัวเล็กราคาคุ้มค่านี่ ทำงานได้เร็วขึ้น แถมยังให้สีสันในไฟล์ภาพที่อิ่ม สดใสขึ้นด้วย

            ด้วยความที่ใช้เซ็นเซอร์ แบบ APS-C ทำให้ต้องเพิ่มตัวคูณระยะเลนส์เข้าไปอีก 1.6 เท่า เมื่อใช้กับเลนส์ EF 50 mm F1.8  ก็ทำให้ได้ระยะเลนส์ที่ 80 mm ช่วยให้การถ่ายภาพแบบ "หลังละลาย" ทำได้ดั่งใจ และเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ที่ใส่มาในเจ้า 7D MkII นี้ ให้สีที่อิ่มขึ้นมาก แต่ยังคงเป็นสีโทนแคนนอน ไม่เน้นจัดจ้าน เหมือนกับค่ายนิคอน

            การถ่ายภาพในช่วงเวลากลางคืน นั้นเป็นจุดที่น่าสนใจของเจ้า 7D MkII เพราะแคนนอนบรรจงใส่ความสามารถให้เจ้าตัวท็อปฝั่ง APS-C ตัวนี้ ดัน ค่า ISO (ค่าประสิทธิภาพการรับแสง) ได้สูงถึง 25600 (โหมด H) และ 51200 (โหมด H2) แถมมีการจัดการสัญญาณรบกวน (Noise) ที่มีประสิทธิภาพ แต่ค่าISO สูงสุด ก็เป็นเพียงทฤษฎีที่เหนือกว่าจะใช้งานได้จริง เพราะภาพในระดับนั้นมี Noise ขึ้นมามากจนไม่อาจรับได้ แต่สำหรับค่า ISO ที่ระดับ 6,400 นั้น สัญญาณรบกวนในภาพมีให้เห็นในระดับที่ "รับได้" ทำให้ช่างภาพได้เก็บภาพในเวลากลางคืนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาขาตั้งกล้องกับการเปิดสปีดชัตเตอร์นานๆ

            จากคุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวล (ไม่รวมการถ่ายวิดีโอ ที่ไม่มีเวลาทดลองเล่นจริงๆ จังๆ) ทำให้สรุปได้เลยว่า เจ้า Canon EOS 7D MkII นี้เหมาะกับงานที่ต้องการความไว และความคมชัดสูงในสปีดชัตเตอร์เร็วๆ เช่นการถ่ายภาพกีฬา มากที่สุด แต่ถ้าจะซื้อหาไปใช้งานทั่วไป ก็ยิ่งทำให้คุณภาพของภาพที่ได้ดีขึ้นมาอีก เพียงแค่คุณต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของเซ็นเซอร์ APS-C ที่แตกต่างจากเซ็นเซอร์แบบ Full Frame เท่านั้น