
รวมกลุ่มผลิต 'กุ้งเหยียด' สูตรแท้ดั้งเดิม...บ้านสาขลา
25 ก.พ. 2558
ทำมาหากิน : รวมกลุ่มผลิต 'กุ้งเหยียด' สูตรแท้ดั้งเดิม...บ้านสาขลา : โดย...ทีมข่าวเกษตร
นอกจาก "ปลาสลิด" บางบ่อ ที่ขึ้นชื่อของเมืองสมุทรปราการแล้ว ยังมีของดีอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้ง "กุ้งเหยียด" ของ ป้าสุนทร สุวรรณนาวิน แห่ง ต.บ้านสาขลา อ.พระสมุทรเจดีย์ สินค้าโอท็อปที่อยู่คู่ชาวปากน้ำมาช้านาน ปัจจุบันมีลูกค้ากระจายอยู่ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร้านอาหารไทยในต่างแดน ต่างมาขอสูตรการทำแล้วนำกลับไปเพิ่มเป็นเมนูเด็ดให้ลูกค้าก็มี
โดย "ป้าสุนทร สุวรรณนาวิน" ประธานกลุ่มแม่บ้านสาขลา ในวัย 69 ปีวันนี้ เป็นชาวบ้านเพียงไม่กี่รายที่ยังคงทำ ”กุ้งเหยียด” จำหน่าย ถึงขณะนี้นับเป็นรายใหญ่ที่สร้างชื่อให้ท้องถิ่น ในฐานะผลิตสินค้าคุณภาพที่การันตีความอร่อยโดยเป็นสินค้าโอท็อปของ ต.บ้านสาขลา อ.พระสมุทรเจดีย์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
"ป้าสุนทร" ย้อนอดีตให้ฟังถึงที่มาก่อนรวมกลุ่มแม่บ้านทำกุ้งเหยียด เมื่อปี 2535 ว่าเดิมทีที่บ้านสาขลา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำกุ้งเค็มขาย กุ้งเค็มจะตัวเล็ก ตัวไม่ตรง วางเป็นกองๆ ใส่ถุงจำหน่าย กระทั่งเจ้าหน้าที่เกษตรมาแนะนำให้ทำเป็นโอท็อปของดีของตำบล จึงเปลี่ยนจากกุ้งเค็มเป็นกุ้งเหยียดที่ต้องใช้กุ้งใหญ่ แล้วก็ต้องทำให้ตัวตรง
"ช่วงแรกๆ ที่ทำออกมา ได้อาศัยการประชุมสัมมนาของกลุ่มแม่บ้าน ทั้งแม่บ้านภาคกลาง และสมาคมแม่บ้านทั่วประเทศ เป็นที่แนะนำและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ ต่อมาได้ระดมสมาชิกกลุ่มแม่บ้านออกงานและนำกุ้งเหยียดไปตามงานจังหวัดต่างๆ กระทั่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศภายในเวลาอันรวดเร็ว" ป้าสุนทร เล่า
ทุกวันนี้แม้กุ้งเหยียดบ้านสาขลาจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ป้าสุนทรกลับไม่เน้นเรื่องขยายตลาดหรือจัดส่งไปขายตามจังหวัดต่างๆ และพอใจที่จะขายกุ้งเหยียดให้แก่ลูกค้าเฉพาะที่ร้านใน ต.สาขลาเท่านั้น ด้วยเหตุผลคือค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าแรง ค่าขนส่ง ค่าเสียหายอื่นๆ ขณะที่สินค้าจะมีอายุของการบริโภค อีกทั้งมั่นใจว่าหากผลิตภัณฑ์ดีมีคุณภาพ ย่อมมีลูกค้าเดินทางมาซื้อถึงที่ ดังนั้นจึงวางจำหน่ายที่เดียวไม่มีสาขาอื่น
ด้านวิธีการทำนั้น ป้าสุนทรไม่หวงสูตรแต่อย่างใด เริ่มจากใช้สูตรกุ้งใหญ่ 3 กิโลกรัม น้ำตาล 1 กิโลกรัม และเกลือ 60 กรัม ใช้เวลาต้ม 2 ชั่วโมง แต่เคล็ดลับสำคัญคือการเรียงกุ้งในหม้อให้ตรง 2-3 ชั้น แล้วใส่น้ำตาลทรายและเกลือ ทำเช่นนี้สลับไปเรื่อยๆ จนเต็มหม้อ จากนั้นยกขึ้นเตาไฟ รอจนน้ำแห้ง ก่อนนำจำหน่าย ซึ่งสูตรนี้ป้าสุนทรยอมรับว่ามีเจ้าของร้านอาหารไทยในต่างประเทศหลายราย มาขอเพื่อนำไปทำเป็นเมนูของร้านจนลูกค้าติดใจไปตามๆ กัน
"แต่ละวันจะซื้อกุ้งสดมาทำกุ้งเหยียด 40-60 กิโลกรัม แต่ในช่วงเทศกาลหรือมียอดสั่งจองพิเศษจากลูกค้าเข้ามามาก อาจเพิ่มเป็น 80 กิโลกรัม ทั้งนี้ กุ้งสด 4 กิโลกรัม เมื่อทำเป็นกุ้งเหยียดแล้วจะเหลือเพียง 2.5 กิโลกรัม ราคาขายปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท จากเดิมที่ขายอยู่กิโลกรัมละ 350 บาท เนื่องจากราคากุ้งและต้นทุนอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปรับราคา" ป้าสุนทรแจง
ป้าสุนทร สุวรรณนาวิน นอกจากเป็นผู้นำสร้างอาชีพในชุมชนแล้ว ยังถือเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้คน รวมทั้งทายาท โดยเมื่อปี 2538 ได้เป็นแม่ดีเด่นแห่งปีในวันแม่แห่งชาติ สาขาการเกษตร เข้ารับประทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ด้วย
------------------------
(ทำมาหากิน : รวมกลุ่มผลิต 'กุ้งเหยียด' สูตรแท้ดั้งเดิม...บ้านสาขลา : โดย...ทีมข่าวเกษตร)