
เปิดเบื้องหลังมติ มส. 'ธัมมชโย' อาบัติปาราชิก ?
22 ก.พ. 2558
เปิดเบื้องหลังมติ มส. 'ธัมมชโย' อาบัติปาราชิก ? : โดย...โต๊ะการศึกษา
ถือเป็นปรากฏการณ์เก่าเอามาเล่าใหม่ ยิ่งใหญ่กว่าเดิม กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ขณะนี้ สำหรับกรณีปัญหาวัดพระธรรมกาย แต่มาคราวนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการเมืองข้นคลั่ก เพราะมีที่มาจากที่ นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยถึงการประชุม ณ รัฐสภา ของคณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ว่า ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เข้าชี้แจงในที่ประชุมว่า ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542 นั้น ชี้ชัดว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ
เมื่อขว้างระเบิดลูกใหญ่ลงกลางวงการพระพุทธศาสนา ทำให้ถนนทุกสายพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์สูงสุด คือ มหาเถรสมาคม (มส.) ว่าจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้น ในที่ประชุม มส.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 มี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน จึงมีการหารือวาระดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความกระจ่างแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
โดย พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. เปิดเผยภายหลังการประชุม มส.ว่า ประเด็นที่ 1 ที่ประชุม มส.ได้มีมติรับทราบกรณีนายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปชี้แจงกรณี พระเทพญาณมหามุนี หรือหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ว่า ได้มีการละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี 2542 หรือไม่
ประเด็นที่ 2 มส.ได้พิจารณาถึงเจตนาของหลวงพ่อธัมมชโย ใน 2 กรณี ดังนี้ 1.ฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม มส.ได้ยกมติ มส.ในปี 2549 ขึ้นมาพิจารณาแล้ว พบว่า หลวงพ่อธัมมชโยยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ 2.มีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ในขณะเดียวกันคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิดของหลวงพ่อธัมมชโย โดยมีการผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด ถือเป็นอันยุติ ประเด็นที่ 3 เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งยึดตามมติ มส.ปี 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้น สถานภาพปัจจุบันของหลวงพ่อธัมมชโย ยังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม
โฆษก มส. เล่าถึงที่มาที่ไปของมติ มส.ครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว หลวงพ่อธัมมชโยยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ ทาง มส.ขณะนั้นดำเนินการให้องค์กรปกครองขั้นต้น คือ คณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ใช้กฎนิคหกรรมสอบสวนเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2542 ขณะกำลังสอบสวนก็มีโจทย์อีก 2 ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า หลวงพ่อธัมมชโยยักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกาย ต่อมาหนึ่งในโจทก์ร่วมฟ้องได้ถอนฟ้องหลวงพ่อธัมมชโย ทางการสอบสวนของคณะสงฆ์จึงยุติไว้ก่อน รอคำตัดสินจากฝ่ายบ้านเมือง ต่อมาทางอัยการได้พิจารณาแล้ว จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่าหลวงพ่อธัมมชโยได้พ้นมลทินแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงนำมาพิจารณาต่อเห็นว่า หลวงพ่อธัมมชโยเป็นผู้ประพฤติฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชจริงหรือไม่ ทางคณะสงฆ์ถือตามพระวินัย โดยถือเอาเจตนาเป็นเกณฑ์หลัก
พระพรหมเมธี เล่าอีกว่า เมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน คือ ที่ดินของวัดพระธรรมกายนั้น มีฝ่ายฆราวาสเป็นเจ้าที่ดินบ้าง ส่วนที่ดินของหลวงพ่อธัมมชโยที่จดทะเบียนไว้ ท่านก็ยินดีรับปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชก็คืน หมายความว่า แสดงเจตนาว่าจะโอนคืนให้แล้วดำเนินการคืนเฉพาะในส่วนที่หลวงพ่อธัมมชโยสามารถที่จะคืนได้ ส่วนที่เป็นของชาวบ้านที่นำไปถวายวัดนั้น ได้ติดต่อคืนภายหลังจนครบถ้วนตามที่ฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องไว้ ทางคณะสงฆ์จึงได้พิจารณาว่า ท่านยอมรับทำตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชแล้ว มาถึงปี 2549 คณะสงฆ์สมัยนั้นจึงได้พิจารณาว่า หลวงพ่อธัมมชโยไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์วัดหมดแล้วตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช คณะสงฆ์จึงคืนตำแหน่งให้ เจ้าคณะปกครองจังหวัด และภาค พิจารณาว่าท่านไม่มีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์สินของวัด ก็เป็นอันว่ายุติ คืนตำแหน่งให้ เมื่อท่านไม่ผิดทางคณะสงฆ์จึงได้พิจารณาให้ท่านมีสมณฐานันดรศักดิ์เลื่อนเป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพญาณมหามุนี
"เรื่องมันนานมาก กว่า 16-17 ปี แล้วมาดำเนินเมื่อปี 2547 ครั้งหนึ่งที่ มส.ได้หยิบยกขึ้นมา แล้วมาคืนตำแหน่งให้ปี 2549 มาถึงปัจจุบัน อยากจะเรียนว่า เจตนาที่พระเทพญาณมหามุนี จะขัดขืนมตินั้น ก็ไม่มี ไม่มีการฉ้อโกง ปฏิบัติตามกฎของ มส. ปฏิบัติตามคณะองค์กรปกครองสงฆ์ ไม่มีข้อตำหนิว่าท่านได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ผิดพระวินัย ไม่มีเจตนาฉ้อโกง มส.ในยุคนั้น ซึ่งไม่ใช่ มส.ในยุคนี้นะ ขอย้ำ แม้แต่อาตมาเองตอนนั้นก็ยังไม่ได้เป็นกรรมการ มส. ได้พิจารณาแล้วว่า เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในยุคนั้น ได้เสนอแนะกับ มส.สมัยนั้นว่า พระเทพญาณมหามุนีไม่มีเจตนาฉ้อโกงของวัดพระธรรมกาย ศาลได้ยกฟ้องแล้ว"
"ส่วนที่เรื่องนี้มาเป็นเรื่องอีกในวันนี้ อยากจะให้สังคมชาวพุทธเราทั่วไปได้ทราบว่า ยุคนี้เป็นยุคล่อแหลมต่อสื่อ พอออกไปทั่วประเทศ ทั่วโลก ประเทศไทยเป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงปกครองของบ้านเมือง คสช.เข้ามาทำความสงบสุขให้แก่แผ่นดิน อยากจะให้สื่อ ผู้สื่อข่าวทุกคน มองเห็นความสงบสุขของบ้านเมือง ก็คือว่า เรื่องที่แล้วไปเมื่อไม่มีมลทินโทษก็กลับเอามาพูดอีก ทาง มส.จึงได้ฝากให้อาตมาในฐานะโฆษก มส.มาพูดว่า เรากำลังจะทำการปรองดองความสามัคคีของคนในชาติ ถ้าเราคิดตั้งเจตนาเอาเรื่องที่ทำไปแล้ว มีมติไปแล้ว มาพูดซ้ำอีก มส.ก็ไม่รู้จะพิจารณาต่อไปอย่างไร เมื่อทุกอย่างมีข้อยุติทั้งฝ่ายบ้านเมืองและคณะสงฆ์แล้ว” กรรมการและโฆษก มส. กล่าว
เมื่อได้มีประกาศออกมาดังๆ จาก มส.ว่า กระบวนการฝ่ายคณะสงฆ์ได้สิ้นสุดแล้ว จากนี้ไปต้องจับตาว่า สังคมไทย ทั้งคณะสงฆ์ที่เห็นด้วย หรืออีกส่วนหนึ่งที่ยังเคลื่อนไหวคัดค้านมติ มส.ครั้งนี้อยู่ จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดการแตกแยกในหมู่มวลสงฆ์หรือไม่ แล้วฝ่ายบ้านเมืองอย่าง สปช. ซึ่งเป็นผู้พิจารณาหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้งจะดำเนินการเรื่องนี้ต่ออย่างไร
รวมไปถึงกลุ่มธรรมาธิปไตย ที่เคยยื่น มส.ให้มีการตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อวดอุตริมนุสธรรม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แต่เรื่องกลับเงียบหาย ซึ่งจากสถานการณ์ร้อนแรง ณ วันนี้ ถือว่าเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่กำลังเป็นวันเริ่มต้นการปฏิรูปและตรวจสอบครั้งใหญ่ของคณะสงฆ์
----------------------
(เปิดเบื้องหลังมติ มส. 'ธัมมชโย' อาบัติปาราชิก ? : โดย...โต๊ะการศึกษา)