
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง เชื่อม 2 จังหวัดผ่านใต้ดิน
22 ก.พ. 2558
ถิ่นไทยงาม : โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง เชื่อม 2 จังหวัดผ่านใต้ดิน
บนเส้นทางถนนดิสโก้ หรือ Disco Road ไม่ใช่ถนนแห่งเสียงเพลงหรือเต้นรำนะ แต่เป็นถนนที่เมื่อใครนั่งรถผ่านก็จะหัวโยกหัวคลอนราวกับเต้นดิสโก้ ต่างหาก เป็นการเรียนขานพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสร็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในแถบตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อราวปลายปี 2535 ซึ่งถนนหนทางที่ทรงผ่านนั้นเป็นหลุมเป็นบ่อ จนไม่อาจจะเลี่ยงหลบไปไหนได้
ด้วยความลำบาก แร้นแค้น ของราษฎรในพื้นที่ ที่ไม่มีแม้แต่น้ำจะทำการเกษตร จึงเกิดเป็นพระราชดำริที่จะให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน (ห้วยวังคำ) พร้อมทั้งให้พิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่ และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ฝั่งจังหวัดมุกดาหารมาเติมให้อ่างเก็บน้ำลำพะยัง เพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น แล้วยังมีพระราชดำริเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ให้ดำเนินการโดยให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุด และให้ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ว่าง บริเวณที่จะส่งน้ำออกจากอุโมงค์ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดกับป่าไม้ เพราะหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ 1เอ จนหมดไปได้ จนเกิดเป็น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน
แล้วในที่สุด ปี 2551 ก็เกิด อุโมงค์ผันน้ำ จากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ฝั่งจังหวัดมุกดาหาร ลอดใต้ภูเขาภูบักดี มาสู่อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ระยะทางประมาณ 710 เมตร โดยมีการก่อสร้างถนนเข้ามาเชื่อมต่อกับปลายอุโมงค์ฝั่งกาฬสินธุ์ เป็นระยะทาง 4.905 กิโลเมตร และฝั่งมุกดาหาร 4.810 กิโลเมตร
นายอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนด้วย พาพวกเราเดินลอดไปตามอุโมงค์ ลึกเข้าไปเรื่อยๆ มีท่อส่งน้ำอยู่ตรงกลาง อากาศในอุโมงค์เย็นกว่าด้านนอก เดินไปเรื่อยๆ ผ่านระยะ 200-300 เมตรไปเสียหายใจหอบเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอากาศเบาบาง ส่วนที่ 2 เหนื่อยเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ระหว่างเดินในอุโมงค์ แต่มันน่าตื่นเต้นตรงที่เราเดินข้ามจังหวัดได้ง่ายๆ เอง เพราะราวๆ ครึ่งทางของอุโมงค์ ก็ประจวบเหมาะกับเส้นแบ่งจังหวัดพอดี ภายในอุโมงค์ก็ทำป้ายบอกระยะไว้เมื่อเข้าเขตของอีกจังหวัดเช่นกัน
อุโมงค์ส่งน้ำ ไม่ได้แค่ให้ตื่นเต้นตอนเดินลอดภูเขาข้ามจังหวัด แต่ยังเห็นเกล็ดหินปูนเกิดผนังเป็นเกล็ดเล็กๆ ระยิบระยับ อันเกิดจากการไหลซึมของน้ำใต้ดิน จนเชื่อว่าในอนาคตอีกนับ 100 ปี อาจจะเป็นหินงอก หินย้อยที่มีขนาดใหญ่ก็ได้ถ้าไม่เป็นหินตายเสียก่อน และที่มากไปกว่านั้นคือ เจ้าอุโมงค์ส่งน้ำนี่เอง ช่วยให้พื้นที่การเกษตรโดยรอบเกิดเป็นพื้นที่สีเขียวจากการเพาะปลูกได้ จากการประเมินก่อนหน้านี้ พบว่า มีพื้นที่รับผลประโยชน์มากถึง 12,000 ไร่
และนี่เอง เป็นหนึ่งในโครงการชัยพัฒนาที่แท้จริง เหมือนดังที่ในหลวงมีพระราชดำรัสไว้ว่า "ลำพะยังเป็นโครงการที่เป็นชัยพัฒนาจริงๆ เพราะเริ่มทำตั้งแต่ไม่มีน้ำ ต้องใช้น้ำค้างทำการเกษตร ไม่ได้ผลผลิตเลย ข้าวเปลือกที่ชาวบ้านเก็บมาตากไม่มีเมล็ดข้าวเลย ก็เริ่มพัฒนาลำพะยังให้มีน้ำกักเก็บได้ จนปัจจุบันราษฎรมีอาชีพ มีฐานะ จึงถือว่าเป็นชัยพัฒนา"