
ตัดต้นไม้ไม่ได้...กลัวล้มทับ
17 ก.พ. 2558
เปิดซองส่องไทย : ตัดต้นไม้ไม่ได้...กลัวล้มทับ
ดิฉันอยู่บ้านเลขที่ 6 นราธิวาสซอย 10 คือ มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตายอยู่ภายในบ้านใกล้เคียงของดิฉัน และดิฉันได้แจ้งไปที่เขตสาทรหลายครั้งแล้ว ทั้งไปด้วยตัวเองและโทรศัพท์ไปพูดคุย และส่งภาพที่มีต้นไม้แห้งตายในบ้านใกล้เคียงให้ทางเขตดู แต่เขตบอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากอยู่ในบ้านของคนอื่น
ให้ทางดิฉันคุยกับเจ้าของบ้านที่มีต้นไม้ตายนี้เอาเอง ซึ่งดิฉันก็ได้แจ้งกับเจ้าของบ้านหลังนี้แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทางสำนักงานเขตบอกทำอะไรไม่ได้ นอกจากหากเกิดต้นไม้ล้มลง ต้องไปฟ้องร้องเอาเอง สรุปว่าปัญหานี้ หากเจ้าของบ้านไม่ยอมตัด ทางสำนักงานเขต และเพื่อนบ้านก็ทำอะไรไม่ได้อย่างนั้นหรือ
ซึ่งถ้ากิ่งไม้ใหญ่หักโค่นอาจฟาดเข้ามาในโรงจอดรถของดิฉัน และรถที่จอดในซอย ซึ่งบางครั้งดิฉันก็จอด หากล้มลงถูกคน คงบาดเจ็บสาหัสเลยทีเดียว จริงๆ แล้วดิฉันเป็นคนใจเย็น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านทุกคน รวมถึงเจ้าของบ้านหลังนี้ด้วย จึงไม่อยากผิดใจกัน หากเขาบอกว่าจะจัดการ ก็จะอดใจรอ ทำไมต้องรอให้เกิดความเสียหายเสียก่อน ในเมื่อมันป้องกันได้ อยากให้ทางเขตเร่งเข้ามาจัดการให้ด้วยก่อนที่ "วัวหายแล้วล้อมคอก"
กรรณาภรณ์
ตอบ
นางเตือนใจ จันเรือง หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตสาทร ชี้แจงว่า พื้นที่ที่ผู้ร้องเรียนร้องมานั้นเป็นพื้นที่เอกชนไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะถ้าอยู่ในที่สาธารณะ ทางเขตสามารถเอาออกให้ได้ โดย กทม.เป็นผู้ดูแล แต่ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในรั้วของเจ้าของบ้าน ซึ่งก็ต้องให้เจ้าของบ้านเป็นผู้ดำเนินการตัดเอง ซึ่งทางเขตก็ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า
เพราะถ้าทางเขตเข้าไปตัดอาจมีการฟ้องร้องจากเจ้าของบ้านได้ แต่ถ้าต้นไม้ต้นนี้เกิดล้มหักขึ้นมา เจ้าของบ้านซึ่งมีต้นไม้นี้อยู่ในบ้านก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด กรณีเกิดความเสียหายขึ้นมา ทางเขตก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าทำไมต้นไม้ตายแล้วทำไมเจ้าของบ้านถึงยังไม่ตัดอีก โดยได้มีเจ้าหน้าที่ของทางเขตได้คุยกับผู้ร้องเรียนว่าให้ทั้งสองฝ่ายมาที่เขต มาตกลงกันว่าให้ตัดต้นไม้ออก
เพราะทางผู้ร้องเรียนกลัวต้นไม้ที่ตายแล้วจะล้มมาทับบ้านของตน ทางเขตได้แนะนำว่าให้ติดต่อกับเจ้าของบ้านที่มีต้นไม้ ให้นัดกันและให้ดูว่าทำอย่างไรเพื่อที่จะตัดออก ต้นไม้ต้นนี้อยู่ในบ้านทางเขตไม่มีอำนาจดำเนินการได้เลย และบ้านหลังที่มีต้นไม้ตายแห่งนี้ก็ได้ให้ร้านอาหารเช่าช่วงเป็นร้านขายอาหาร เพราะการตัดต้นไม้ต้นนี้ต้องทำการยกโต๊ะ เก้าอี้ของร้านค้าที่มาเช่าออกก่อนถึงจะทำการตัดต้นไม้นี้ได้
ถ้าผู้ร้องเรียนติดต่อกับเจ้าของบ้านได้ให้ติดต่อมาที่สำนักงานเขตได้เลย และทางเขตจะเข้าไปดำเนินการในการตัดต้นไม้ออกให้ โดยต้องให้เจ้าของบ้านมีความยินยอมเสียก่อน แต่ในการตัดไม้นี้ต้องเสียค่าบริการตามระเบียบของ กทม. เพราะต้องไปวัดโค่นต้นและประเมินว่าต้องเสียค่าบริการในการตัดเท่าไหร่ และก็เก็บเศษไม้ไปทิ้งให้ตามระเบียบ กทม. ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมเป็นระเบียบอยู่แล้ว ตอนนี้ทางเขตก็รอเจ้าของบ้านที่มีต้นไม้และผู้ร้องเรียนประสานเข้ามา เพื่อที่ทางเขตจะได้ดำเนินการเข้าไปตัดต้นไม้ที่ตายต้นนี้ให้เพื่อไม่ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเกิดความเดือดร้อนโดยเร็ว
ล้มละลาย
ดิฉันมีเรื่องอยากสอบถามค่ะ คือว่า สามีเคยทำธุรกิจ แล้วเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งดูแลกิจการให้แก่ครอบครัว แต่ปรากฏว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ธุรกิจที่เคยมีรายได้ก็หยุดชะงักอยู่กับที่ การลงทุนต่างๆ มีแต่ความเสียหาย ทำให้มีหนี้สินมากมาย ทั้งขายบ้าน ขายรถ ขายทรัพย์สินที่มีแล้วก็ยังไม่พอใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็ทวงถามจนไม่รู้จะทำอย่าไร สุดท้ายถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย
หลังจากนั้น เราก็พยายามต่อสู้จนผ่านขั้นตอนต่างๆ มาได้ จนมาถึงวันนี้พอยืนอยู่ได้อีกครั้ง แต่ก็ยังมีหนี้สินที่ต้องเคลียร์อยู่ แต่เราก็ไม่ได้หนีหนี้ค่ะ ยังคงจ่ายหนี้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่มีบ้าน หรือทรัพย์เหมือนแต่ก่อน แต่ก็พยายามใช้หนี้อยู่ค่ะ
สิ่งที่อยากทราบคือ ล่าสุดนี้มีคำสั่งศาลปลดสามีจากการล้มละลายแล้ว แต่ทางเครดิตบูโรยังไม่ยอมลบรายการหนี้ต่างๆ ที่มีกับธนาคารก่อนวันฟ้องล้มละลาย พร้อมกันนั้นก็มีธนาคารพากันมาขอเฉลี่ยทรัพย์ที่กรมบังคับคดีด้วย
อยากทราบว่า กรณีอย่างนี้ ต้องทำอย่างไรบ้างคะ
ฟาง
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ปราชญา อ่อนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า ในส่วนของเครดิตรบูโรนั้น ถือเป็นประวัติการเงิน ซึ่งจะมีระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่ากี่ปี การที่จะไปลบนั้น คงยาก แต่ที่ส่วนใหญ่เมื่อปลดหนี้หมดแล้ว ชื่อหลุดจากบูโร เช็กไม่เจอ อาจจะเป็นเพราะเลยระยะเวลาที่บูโรกำหนดแล้ว เช่น กำหนด 5 ปี ถ้าเช็กประวัติย้อนไปหลังจาก 5 ปี ไปแล้วก็จะมองไม่เห็นประวัติการเงินที่เสีย ที่เคยมีอยู่ก่อนหน้านั้น 5 ปี
ส่วนเรื่องของที่มีเจ้าหนี้มาขอเฉลี่ยทรัพย์นั้น ตามกฎหมายแล้ว หลังจากศาลมีคำสั่งปลดจากบุคคลล้มละลายแล้ว สามีของคุณก็เหมือนได้เริ่มต้นใหม่ เจ้าหนี้ที่จะขอมาเฉลี่ยทรัพย์ได้ ต้องเข้ามาภายใน 1 เดือน หลังจากศาลมีคำสั่งให้ล้มละลาย และให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้มาใช้สิทธิ์ของตัวเองในระยะนั้น ก็หมดสิทธิ์ที่จะติดตามเรื่องหนี้สินที่สามีคุณมีอยู่ได้
กรณีของคุณ ต้องดูว่า คุณมีสิทธิ์ยื่นเอกสารเรื่องการปลดล้มละลายไปที่กรมบังคับคดี เพื่อแจ้งกับเจ้าหนี้ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การที่สามีคุณถูกเป็นบุคคลล้มละลาย และถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย จะมีเอกสารแจ้งไว้ ดังนั้นกรมบังคับคดี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จะทราบเรื่อง เจ้าหนี้ก็จะไม่มีสิทธิ์ติดตามเรื่องหนี้สินที่เคยมีอยู่ได้อีก