
ชุดตรวจ 'ดีเอ็นเอ' ลดปลอมปน การันตี 'ข้าวหอมไทย' ในเวทีโลก
17 ก.พ. 2558
ทำมาหากิน : ชุดตรวจ 'ดีเอ็นเอ' ลดปลอมปน การันตี 'ข้าวหอมไทย' ในเวทีโลก : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
เป็นที่รู้กันดีว่า ข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hommali Rice) เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุดในโลก เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมในตลาดโลกกว่ากึ่งหนึ่งเป็นข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย จนทำให้เกิดปัญหาการปลอมปน ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาส่งผลให้เกิดการสูญเสียภาพลักษณ์การค้าข้าวของประเทศไทย อันนำมาสู่ราคาจำหน่ายที่ลดลงและยังอาจสร้างความเสียหายให้แก่ข้าวหอมมะลิไทยที่ในอนาคตได้
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีความกังวล จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางเพื่อวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์สายพันธุ์และสืบทราบถึงข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะเป็นคู่แข่งของข้าวหอมไทยด้วย
"ที่จริงของเดิมเรามีอยู่แล้วให้บริการมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ตรวจได้ครั้งละไม่มากและใช้เวลานาน แต่เครื่องตัวใหม่นี้เป็นเทคโนโลยีใหญ่ล่าสุดนำเข้ามาจากอังกฤษและเป็นเครื่องแรกในเอเชีย สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ถึง 2 หมื่นตัวอย่างต่อวัน"
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงเทคโนโลยีสกัดดีเอ็นเอข้าวตัวใหม่ล่าสุด ซึ่งคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีเข้าสู่กระบวนการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ โดยสามารถให้บริการผู้ประกอบการส่งออกข้าว กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไปที่ต้องการตรวจสอบดีเอ็นเอของข้าวสายพันธุ์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้าวหอมมะลิ
"ที่เราต้องเน้นข้าวหอมมะลิ เพราะเป็นข้าวที่ทำรายได้หลักให้ประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกข้าวหอมรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันมีพ่อค้าหัวใสใช้ตราข้าวหอมมะลิ แต่มีข้าวพันธุ์อื่นมาผสม อย่างเช่น หอมมะลิ 105 กับข้าวหอมปทุม ข้าวสองพันธุ์นี้จะเหมือนกันมาก จนแยกไม่ออก ต้องใช้การตรวจดีเอ็นเอมายืนยันถึงจะรู้" ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ยืนยัน
ด้าน พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด “ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก” ณ อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยระบุว่า จากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพข้าวให้แก่กระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือและการยอมรับในการตรวจสอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนจัดส่งตัวอย่างข้าวให้ตรวจสอบกว่า 4 หมื่นตัวอย่าง ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งหน่วยปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพในการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเครื่องมือที่ทันสมัยและก้าวหน้า
"กรมการค้าต่างประเทศได้สนับสนุนทุนอุดหนุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยเพื่อการส่งออก จำนวน 40 ล้าน และมหาวิทยาลัยสมทบงบประมาณอีก 24 ล้าน ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกข้าวนับแสนล้านในแต่ละปี" พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวย้ำ
สำหรับห้องปฏิบัติการดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม จะเป็นห้องปฏิบัติการใหม่ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงในการบริการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยและข้าวจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีโอกาสปลอมปนข้าวส่งออกของไทย
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ข้อมูลอ้างอิงเอกลักษณ์ดีเอ็นเอข้าวไทยและในภูมิภาคอาเซียนและเป็นสำนักงานที่ให้การเปรียบเทียบและรับรองเอกลักษณ์ดีเอ็นเอในข้าวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรีในปี 2558 ด้วย
-------------------------
(ทำมาหากิน : ชุดตรวจ 'ดีเอ็นเอ' ลดปลอมปน การันตี 'ข้าวหอมไทย' ในเวทีโลก : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)