ไลฟ์สไตล์

นกกาฝากอกเพลิง

นกกาฝากอกเพลิง

15 ก.พ. 2558

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกกาฝากอกเพลิง

 
                          เพิ่งผ่านพ้นงานใหญ่ประจำปีอย่างกิจกรรมนับนกดอยอินทนนท์ (Inthanon Census) ไปหมาดๆ ใครลองได้ไปแล้วติดใจ ใครไม่ได้ไปและอยากรู้ว่า “นับนก” ทำกันอย่างไร นับไปเพื่ออะไร เตรียมตัวแพ็กกระเป๋าไปนับนกเขาใหญ่ (Khao Yai Bird Census) ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ครับ รายละเอียดเพิ่มเติมลองติดตามทางเว็บไซต์ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) หรือสอบถามโดยตรงได้ที่เบอร์โทร.0-2588-2277 หรือทางอีเมล [email protected]
 
                          การสำรวจประชากรนกในพื้นที่อนุรักษ์อย่าง อช.เขาใหญ่ ทำให้มีข้อมูลของชนิดที่ควรจับตาในการอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น โดยเปรียบเทียบแนวโน้มประชากรจากข้อมูลนับนกครั้งก่อนๆ ได้ ที่สำคัญมากคือ ข้อมูลของชนิดที่มีสถานภาพถูกคุกคามระดับโลกที่พบในพื้นที่ และชนิดที่มีการกระจายแคบหรือชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic taxa) ดอยอินทนนท์มีนกกินปลีหางยาวเขียว (Green-tailed Sunbird) ชนิดย่อย angkanensis ที่มีอกสีส้มเข้มไม่เหมือนที่ไหนในโลก เขาใหญ่เองก็มีนกจับแมลงคอน้ำตาลแดง (Hill Blue Flycatcher) ชนิดย่อย lekhakuni ที่พบเฉพาะป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อีกตัวที่เกือบจะเข้าข่ายชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นคือ นกกาฝากอกเพลิง (Fire-breasted Flowerpecker) ชนิดย่อย cambodianum
 
                          ความพิเศษของนกกาฝากอกเพลิงชนิดย่อยนี้ คือ เพศผู้ไม่มีแถบสีแดงที่อกต่างจากนกทางภาคเหนือ ตะวันตก ใต้ หรือแม้กระทั่งอีสานเหนือ พูดง่ายๆ ว่า มันขาดจุดเด่นที่ดูน่าดึงดูดที่สุดของชนิดย่อยอื่นๆ นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้เอง บางครั้งมันจึงถูกยกสถานะขึ้นมาเป็นชนิดเต็ม (ในกรณีนี้จะรู้จักกันในชื่อ Cambodian Flowerpecker) การกระจายพันธุ์ของมันจำกัดอยู่เพียงแค่ป่าตะวันออกของไทยและทางตะวันตกของกัมพูชาเท่านั้น แคบยิ่งกว่านกเฉพาะถิ่นของภูมิภาคอินโดจีนอย่างไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) และนกโกโรโกโส (Coral-billed Ground Cuckoo) ซึ่งพบขึ้นไปถึงอีสานเหนือ
 
                          นกกาฝากอกเพลิงเพศผู้มีหลังสีน้ำเงินอมเขียวเหลือบสะท้อนแสง ท้องสีเหลืองนวล มีขีดสีดำกลางอก ด้านบนของอกมีแถบสีแดงเพลิงยกเว้นชนิดย่อยที่พบทางภาคตะวันออกนี้เอง เพศเมียมีลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว ท้องสีอ่อนกว่าด้านบนของลำตัว นกกาฝากชนิดนี้เป็นขาประจำบนป่าดิบเขาที่มักส่งเสียงร้องดังมาจากพุ่มกาฝากบนยอดไม้สูงให้ได้ยินอยู่เสมอ บางครั้งอาจพบลงมาหากินลูกไม้หรือน้ำหวานดอกไม้ถึงระดับตีนเขาด้วย
 
 
----------------------
 
 
นกกาฝากอกเพลิง
 
 
ชื่ออังกฤษ Fire-breasted Flowerpecker, Buff-bellied Flowerpecker
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dicaeum ignipectus (Blyth, 1843)
 
วงศ์ (Family) Dicaeidae (วงศ์นกกาฝาก)
 
อันดับ (Order) Passeriformes (อันดับนกเกาะคอน)
 
 
----------------------