ไลฟ์สไตล์

'ซินเจียง' แตงทิเบต ยอดนิยม โฉมใหม่วงการเมลอนในไทย

'ซินเจียง' แตงทิเบต ยอดนิยม โฉมใหม่วงการเมลอนในไทย

05 ก.พ. 2558

ทำมาหากิน : 'ซินเจียง' แตงทิเบต ยอดนิยม โฉมใหม่วงการเมลอนในไทย : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                         เดิมที "แตงทิเบต" ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับเมลอน มีรูปทรงผลสวย เนื้อละเอียดสีส้มเข้ม รสชาติหวาน อร่อย และได้รับความนิยมสูงในประเทศจีน ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยค่อนข้างจะยาก ล่าสุดมีบริษัทเอกชน ผู้รับซื้อแคนตาลูป-เมลอนรายใหญ่ในประเทศไทย  "มูนสตาร์ อกริคัลเจอร์" ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์แตงทืเบต สายพันธุ์ซินเจียง ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับประเทศไทย และผลจากการที่ ภานุพงศ์ จันทรังษี เกษตรกรหนุ่มไฟแรงจากรั้วแม่โจ้ ทดลองปลูกในพื้นที่เกือบ 2 ไร่ ที่บ้านวังหิน ต.บ้านโพธิ์  อ.เมือง จ.นครราชสีมา ใช้เวลาไปเพียง 70 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้กว่า 10 ตัน มีรายได้กว่า 2 แสนบาท ล่าสุดได้ขยายพื้นที่ปลูกอีกเท่าตัว
 
                         ภานุพงศ์ บอกว่า เดิมทีปลูกแคนตาลูป เมลอน มา 7-8 ปีแล้ว เพราะมองว่าเป็นพืชที่ตลาดต้องการสูง ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย หลังจากทราบว่า มีบริษัทเอกชนมีการทดลองปลูกแตงทิเบต พันธุ์ซินเจียง ที่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ จึงตัดสินใจลงทุน 5 หมื่นบาท ใช้พื้นที่เกือบ 2 ไร่ ปลูกแตงทิเบต พันธุ์ซินเจียง จำนวน 5,000 ต้น ชุดแรกที่เก็บผลผลิตช่วงต้นปี 2558 ได้มา 10 ตัน สร้างรายได้กว่า 2 แสนบาท จึงมองว่าพืชชนิดนี้มีอนาคตแน่นอน 
 
                         "แตงทิเบต ซินเจียง มีอายุการเก็บเกี่ยว 75 วัน หลังเพาะเมล็ด  ครั้งแรกผมวางแผนการผลิตเพื่อให้แตงทิเบตชุดนี้ออกสู่ตลาดในช่วงปีใหม่ ชุดแรกแตงทิเบตจำนวน 5,000 ต้น เก็บผลผลิตได้กว่า 10 ตัน โดยทยอยเก็บเกี่ยวออกจากแปลงครั้งละกว่า 3 ตัน จะได้ผลแตงทิเบต ซินเจียง น้ำหนักผลละ 1.5-3 กก. ผลผลิตทั้งหมดส่งจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หลักๆ คือแม็คโคร และห้างอื่นอีกหลายแห่งในราคา กก.ละ ราว 30 บาท" ภานุพงศ์ กล่าว
 
                         หลังจากปลูกแตงทิเบต ซินเจียง เชิงการค้าลอตแรกประสบผลสำเร็จ ทำให้ภานุพงศ์ตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกใหม่อีกเท่าตัว เป็น 1 หมื่นต้น และตั้งใจว่า ต่อไปอาจจะกลายเป็นพันธุ์หลักที่เขาจะผลิตส่งให้มูนสตาร์ในปีนี้ พร้อมกับแคนตาลูปและเมลอนสายพันธุ์ซูโม่อีกด้วย
 
                         ส่วนเทคนิคการปลูกแตงทิเบต พันธุ์ซินเจียง ภานุพงศ์ บอกว่า จะไม่แตกต่างจากการปลูกแคนตาลูป เมลอนทั่วไป คือเริ่มจากขุดร่องทำแปลงลงแตงทิเบต พันธุ์ซินเจียงขนาด 1 เมตร จากนั้นเพาะต้นกล้า โดยใช้วัสดุเพาะ หรือมีเดีย เมื่อต้นกล้าอายุ 10 วัน ก็จะย้ายลงแปลงปลูกเป็น 2 แถว ขนาด 60x40 ซม. คือช่องกว้างต้นบนร่องห่างกัน 60 ซม. ระหว่างต้น 40  ซม.พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 3,000 ต้น ใช้น้ำด้วยระบบน้ำหยด 
 
                         ส่วนการให้ปุ๋ยจะให้ทางสายน้ำหยด เริ่มให้ปุ๋ยครั้งแรก 3 วันหลังปลูกลงแปลง พออายุ 20 วันแรก ให้ปุ๋ยเกล็ด 20-20-20 ปริมาณ 1 กรัมต่อต้น หรือครั้งละ 5  กิโลกรัมต่อ 5,000 ต้น เปิดให้ปุ๋ยทางน้ำนาน 5 นาที ทุกวัน พร้อมทั้งให้ปุ๋ยทางใบด้วยการฉีดพ่นเป็นปุ๋ยเกล็ดทางใบสูตร 30-20-10 อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อายุประมาณ 30 วัน เมื่อแตงทิเบตเริ่มติดดอก ใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตรเดิม 20-20-20 แต่เพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 10 กิโลกรัมต่อวัน ทางใบเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-20-30 อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร+แคลเซียม-โบรอนเพื่อช่วยบำรุงดอกและผล 
 
                         เมื่ออายุ 60 วันหรือ 15 วันก่อนเก็บเกี่ยวให้เร่งสะสมน้ำตาลและความหวาน โดยทางน้ำใช้ 13-13-21 ครั้งละ 25-30 กิโลกรัมต่อ 5,000 ต้น จนอายุ 70 วัน พ่นทางใบด้วย 0-0-50 อัตรา 20 กรัมต่อ 20 ลิตร เพื่อเร่งความเข้มของสีเนื้อ เร่งความหวานรอบสุดท้าย ก่อนตัดประมาณ 5 วัน จะงดน้ำ งดปุ๋ย เพื่อให้ความหวานเข้มข้นที่สุดตามที่ตลาดต้องการ
 
                         นับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่เป็นทางเลือกของเกษตรกร
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(ทำมาหากิน : 'ซินเจียง' แตงทิเบต ยอดนิยม โฉมใหม่วงการเมลอนในไทย : โดย...ดลมนัส กาเจ)