ปัจจุบันสังคมทั่วโลกได้ตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการทำลายของมนุษย์ หรือปัจจัยต่างๆ จนทำให้หลายองค์ออกมารณรงค์จัดกิจกรรมและปลูกจิตสำนึกมากขึ้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่าเปลือกหอยแมลงภู่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน เพราะในปีหนึ่งๆ มีประมาณเปลือกหอยจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นขยะ ประมาณปีละ 5 หมื่นตัน การลดปริมาณขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน การแก้ปัญหาขยะด้วยการฝั่งกลบเป็นการสร้างปัญหามลพิษทางดินและปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 สาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดนวัตกรรมต่อยอดผลิตสีเกล็ดมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ช่วยโลกร้อน แถมยังเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผสมสีนี้มาจากธรรมชาติทั้งหมดจะปลอดภัยแก่ผู้ใช้สี เพราะไม่มีฝุ่นไมกาที่เป็นแร่หิน
"รศ.ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเปลือกหอยแมลงภู่มาวิจัย พัฒนาและแปรรูปเป็นเกล็ดประกายมุก ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการศึกษากระบวนการสกัดชั้นมุก ซึ่งผนึกอะรากอไนต์ที่มีอนุภาคเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบในอนุภาคระดับนาโนออกมาจากเปลือกหอยได้สำเร็จและยังคงความเหลือบมันของมุขไว้สวยงาม
จึงนำงานวิจัยนี้มาต่อยอดเป็น "สีเกล็ดมุก" เพื่อให้เกิดมูลค่าสื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เมื่อแสงตกกระทบจะเห็นเป็นเกล็ดระยิบระยับสวยงามและสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมและงานศิลปหัตกรรมได้อย่างมีเอกลักษณ์ วัตถุดิบที่ใช้ผสมสีนี้มาจากธรรมชาติทั้งหมด จะปลอดภัยแก่ผู้ใช้สี เพราะไม่มีฝุ่นไมกาที่เป็นแร่หิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคปอด และได้ทีมวิจัยที่เป็นศิลปินนักวาดรูปมีชื่อเสียงมาทดลองใช้สีและนำความคิดเห็นมาปรับปรุงพัฒนา จนมีจุดเด่นของสีที่มีประกายมุกชัดเจนและคงทนยึดติดกระดาษ เนื้อสีละลายน้ำได้ดี ผลงานชิ้นนี้จึงได้รางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐิ์นานาชาติ ครั้งที่ 42 และได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมาย
นอกจากนวัตกรรม "สีเกล็ดมุกจะมีคุณค่าด้านผลงานศิลปะแล้ว ยังช่วยในเรื่องการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยการเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกจากเด็ก เราจึงจัดกิจกรรม" ให้เด็กในโครงการศิลปะเพื่อปลุกจิตสำนึกเพื่อการมีส่วนลดโลกร้อน ภายใต้หัวข้อ Enhancing Student Environmental Sustainability Awareness with Innovative Art Materials: Multidisciplinary of art and Science Activites เป็นโครงการที่ใช้สอนเชิงพหุศาสตร์ ที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านศิลปศึกษาและวิทยาศาสตร์เข้าในกิจกรรมได้อย่างกลมกลืน
"โดยขั้นแรกในการเริ่มกิจกรรมจะให้พี่ๆ จากครุศาสตร์ให้ความรู้น้องๆ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ว่า โลกร้อนได้อย่างไร ทำไมถึงต้องใช้สีเกล็ดมุกและสีเกล็ดมุกทำงานศิลปะ และสีที่ได้มาจากอะไร จากการค่อยๆ สอนจะทำให้เด็กทราบถึงปัญหา เกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมลดโลกร้อน รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน หลังจากนั้นจึงจะให้เด็กเริ่มทดลองใช้สีที่ผลิตขึ้น ซึ่งการสอนเหล่านี้จะทำให้เด็กได้ในเรื่องการบูรณาการความรู้ด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กันด้วย" รศ.ดร.ปุณณรัตน์กล่าว
"สมใจ จงรักษ์วิทย์" ประธานโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม กล่าวว่า คณะครุศาสตร์ได้นำสีเกล็ดมุกมาอธิบายให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสี โดยวัตถุดิบหลักนั้นมาจากเปลือกหอยที่ไม่ใช้แล้ว นำกลับมาประดิษฐ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้เด็กในสาธิตจุฬาฯ ก่อน โดยเริ่มจากเด็กกลุ่มเล็ก ประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีทักษะในการใช้สีและพู่กัน ซึ่งเบื้องต้นเด็กเกิดความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะด้วยความวาวของสีที่ใช้ยังไม่มีขายในท้องตลาด ส่วนเด็กกลุ่มที่สองเริ่มกิจกรรมในภาคเรียนที่ผ่านมาแบบเต็มรูปแบบ ทั้งการรณรงค์เรื่องของสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ในเรื่องโลกร้อน ทำให้เกิดความตระหนักและสรรค์สร้างภาพที่ใช้สีเกล็ดมุกออกมาได้อย่างสวยงาม แต่เด็กหลายๆ คนอยากให้สีนี้มีสีสันที่สดใสและเพิ่มความวาวของมุกให้มากขึ้น จะทำให้ผลงานออกมาสวยกว่าเดิม
"น้องตุ๋น" ด.ญ.ปุณนดา แพร่แสงเอี่ยม นักเรียนชั้น ป.5/1 ในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ฝ่ายประถม เล่าว่า จากการได้ทดลองใช้สีเกล็ดมุก รู้สึกว่างานออกมาสวยกว่าการใช้สีน้ำปกติหรือการโรยกากเพชรเทียมทั่วไป เพราะสีที่ใช้นี้จะเห็นได้ชัดว่ามีความมันวาวและไม่หลุดจากกระดาษได้ง่าย ก่อนที่พี่ๆ จะให้วาดรูปจะสอนว่า สีนี้ทำมาจากหอยแมลงภู่ด้วยวิธีการสกัดอย่างไร ซึ่งยังทดลองการนำหอยมาผสมกับน้ำยาล้างจานเกิดระเบิด ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนและยังบอกสาเหตุว่า ทำไมเราจึงต้องนำหอยชนิดนี้มาผสมผสานกับสี จึงจะเริ่มให้ระบายสีในหัวข้อโลกร้อนในความคิดของหนู
"นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ไม่ใช่เพียงแต่เก็บขยะ ปลูกต้นไม้ แต่การนำขยะที่มาจากธรรมชาติมาดัดแปลงให้เกิดความสวยงามได้" น้องตุ๋น กล่าว