
ใกล้เส้นตายจอร์แดนขอไอเอสดูตัวประกันก่อน
ใกล้เส้นตายจอร์แดนขอไอเอสดูตัวประกันก่อน นักวิจัยชี้เจ้าสาวญีฮัดไม่ใช่เหยื่อแนะระวัง'เชียร์ลีดเดอร์'อันตราย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.วันที่ 29 ม.ค.2558 ตามเวลาในประเทศไทยว่า รัฐบาลจอร์แดนขอดูตัว ร้อยโท มาอัซ อัล-คาซซาเบห์ นักบินรบชาวจอร์แดนที่กลุ่มรัฐอิสลามใช้เป็นเงื่อนไขในการแลกตัวกับซาจิดา อัล-ริชาวี นักรบหญิงของกลุ่มไอเอสที่ปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตายไม่สำเร็จและถูกทางการจอร์แดนจับกุมได้ ก่อนที่กำหนดเส้นตายการแลกตัวประกัน ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น นายเคนจิ โกโตะจะมาถึงในอีกไม่นาน
ไอเอสยื่นคำขาดว่าถ้าทางการจอร์แดนไม่นำตัวอัล-ริชาวีมาส่งมอบที่บริเวณชายแดนประเทศตุรกี ก็จะสังหารร้อยโท อัล-คาซซาเบห์ ในช่วงก่อนตะวันตกดินของวันที่ 29 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่นในเมืองโมซุล ประเทศอิรัก
ทางการจอร์แดนยืนยันว่าต้องเห็นหลักฐานว่านักบินของตนยังมีชีวิตอยู่และไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงก่อน
รัฐบาลญี่ปุ่นร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจอร์แดนในการแลกเปลี่ยนตัวประกันเพื่อความปลอดภัยของนายโกโตะ ตัวประกันชาวญี่ปุ่น ที่ถูกกลุ่มไอเอสจับตัวไว้ ก่อนหน้านี้กลุ่มไอเอสได้ตัดหัวตัวประกันชาวญี่ปุ่นคนแรกไปแล้วหลังจากเส้นตายการส่งมอบเงินค่าไถ่จำนวน 6,500 ล้านบาทจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านไป
อย่างไรก็ตามมีรายงานที่สับสนออกมาตั้งแต่วันพุธ (28 ม.ค.) ว่าริชาวี ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว โดยเป็นการเผยแพร่ข่าวจากเว็บไซต์ ซารายา นิวส์ ซึ่งหากข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง นาย ฮาชีม อัล-คาลิดี และนายซาอิฟ โอเบียเดท บรรณาธิการบริหารจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
นักวิจัยชี้เจ้าสาวญีฮัดไม่ใช่เหยื่อแนะระวัง'เชียร์ลีดเดอร์'อันตราย
ขณะเดียวกันผลศึกษาของสถาบันเพื่อการเจรจาทางยุทธศาสตร์ (ไอเอสดี) มีสำนักงานในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ประเมินว่า มีสตรีตะวันตก 550 คนที่เดินทางไปอิรักและซีเรีย โดยคาดว่าไปแต่งงาน ดูแลครอบครัวและเลี้ยงลูก แต่ถึงแม้ถูกห้ามสู้รบ แต่จำนวนมากก็มีบทบาทเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ เฉลิมฉลองเมื่อนักรบไอเอสกระทำสิ่งโหดเหี้ยม ช่วยเกณฑ์อาสาสมัคร และกระทั่งยุให้โจมตีในต่างประเทศ
รอส เฟรเนตต์ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาด้านลัทธิสุดโต่ง กล่าวว่า ภาษารุนแรงและการอุทิศตนเพื่อเป้าหมาย ไม่ได้ต่างจากที่พบในผู้ชายที่เป็นนักรบอาสา ที่น่าวิตกคือหากไอเอสเพลี่ยงพล้ำ ผู้หญิงเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนหน้าที่จากงานหลักในครอบครัวมาสู่ปฏิบัติการรุนแรง
นักวิจัยของไอเอสดีเก็บข้อมูลสตรีหลายร้อยคนทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่มุ่งศึกษาสตรี 12 คนจากออสเตรีย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศสและเนธอร์แลนด์ ที่อาศัยอยู่กับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย สตรีบางคนในกลุ่มเห็นดีเห็นงามกับการตัดศีรษะ เช่น คนหนึ่งทวิตหลังการตัดศีรษะสตีเฟน ซ็อตลอฟฟ์ นักข่าวสหรัฐว่า "ฉันอยากทำอย่างนั้นบ้าง" และใช้ถ้อยคำแสดงความปรารถก่อเหตุรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลตะวันตก ที่สำคัญพวกเธอให้คำแนะนำและยุให้ผู้หญิงคนอื่นๆเดินทางไปยังดินแดนที่ไอเอสยึดครอง และกำลังแสดงบทบาทเชียร์ลีดเดอร์ให้ผู้ก่อการร้ายกลับไปก่อเหตุโจมตีในบ้าน
เจน ฮัคเคอร์บี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยดุ๊ค ที่ศึกษาเรื่องสตรีกับการต่อต้านลัทธิสุดโต่ง กล่าวว่า การมองผู้หญิงเป็นเหยื่อ แทนที่จะเป็นว่าที่ผู้ก่อการร้าย เป็นเหมือนกับจุดบอดด้านเพศสภาพ ผู้กำหนดนโยบายมองข้ามและประเมินการก่อการร้ายโดยสตรีเพศทั้งในแง่ของแรงจูงใจในการเดินทางไปยังดินแดนไอเอส และบทบาทที่พวกเธอกำลังทำ ต่ำเกินไป
ฮัคเคอร์บี กล่าวว่า ผู้หญิงจำนวนมากไปจากประเทศตะวันตก เพราะความรู้สึกแปลกแยกและการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกตามศรัทธาความเชื่อ ถูกชักจูงเข้าสู่กลุ่มไอเอสด้วยความคิดผจญภัยและใฝ่ฝันถึงดินแดนอิสลามใหม่ในอุดมคติ นอกจากการเป็นภรรยาและแม่แล้ว บทบาทที่สำคัญคือการสร้างภาพให้กับไอเอสต่อโลกภายนอก ผ่านโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ลดภาพไอเอสในฐานะกลุ่มก่อการร้าย ให้กลายเป็นกลุ่มที่กำลังก่อร่างสร้างรัฐ