
อาจารย์ฮุสนาแม่แบบมุสลิมะห์หญิงยุคใหม่
เปิดการศึกษาโลกมุสลิมตอน : อาจารย์ฮุสนาแม่แบบมุสลิมะห์หญิงยุคใหม่
วันนี้ผมมีมุสลิมะห์ตัวอย่างมานำเสนอ ผู้หญิงตัวเล็ก แต่ไม่เล็กในเรื่องความสามารถ การเป็นผู้นำ และการมีมุมมองที่กว้างไกล เป็นแม่แบบของมุสลิมะห์ยุคใหม่ในวันนี้ วัชรี เด็ดดวง หรือ “ฮุสนา” เป็นคนกรุงเทพฯ แต่เติบโตที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นบุตรสาวของนายอาจารย์ทวี กับนางฟูรอ เด็ดดวง มีพี่น้อง ทั้งหมด 5 คนเป็นผู้หญิงหมด ตัวเองเป็นคนที่ 2 ชีวิตการศึกษาของ “ฮุสนา” เริ่มต้นเรียนประถมที่โรงเรียนตีบะห์ และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนอัซซานียะห์, นครมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนฟาตาย๊าต อัล-อับบาซียะห์, และเข้าสู่ระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร กรุงไคโร-อียิปต์ ปัจจุบันนี้กำลัง ศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาศึกษาศาสตร์ วิชาเอกบริหารการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ถือว่าเป็นการเรียนภาษาไทยครั้งแรก ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเขียนวิทยานิพนธ์)
จากการใช้ชีวิตในสามประเทศของ “ฮุสนา” ทำให้เห็นความแตกต่างด้านการศึกษาของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน การศึกษาที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นการศึกษาอย่างมีระบบ มีแรงจูงใจด้านการแข่งขัน ทำให้ต้องมีความขยันโดยเน้นการท่องจำเป็นหลัก ส่วนการศึกษาในประเทศอียิปต์ มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย เปิดกว้างด้านความคิดและการแสวงหาความรู้ เน้นการเข้าถึงวิชาการอย่างรอบด้าน ถือได้ว่าเป็นผู้นำการศึกษาด้านศาสนาและภาษาอาหรับในโลกอิสลามที่ล่ำค่าที่สุด ส่วนการศึกษาที่ประเทศไทย มีทั้งองค์ความรู้และรูปแบบที่เป็นระบบซับซ้อน ติดระเบียบวินัย แต่สร้างสรรค์ได้น้อย จากมุมมองที่ได้เห็นว่าฐานของการศึกษาคือผู้เรียน สำคัญที่การปูรากฐานให้มั่นคง เน้นให้สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ให้เกิดเป็นรูปธรรม มากกว่าเน้นเกรดด้วยคำถามปรนัย
พ่อของ “ฮุสนา” เป็นครู และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาและภาษาอาหรับหลายแห่งในละแวกพัฒนาการ เธอจึงกลายเป็นครูตั้งแต่อายุ 12 ปี แม้ว่าในช่วงนั้นเธอยังพูดภาษาไทยไม่เก่ง เมื่อเวลาที่ขาดครูเธอก็ทำหน้าที่สอนแทน ซึ่งขณะนั้นใช้การจำรูปแบบที่พ่อสอนและนำไปสอนต่อ บางคำยังไม่เข้าใจความลึกซึ้งในความหมายภาษาไทยด้วยซ้ำ เพราะเพิ่งฝึกเรียนภาษาไทย จากที่เธอมีความเก่งด้านภาษาอาหรับและเริ่มเรียนรู้ภาษาไทยความคิดที่อยากแปลหนังสือจึงเริ่มขึ้น
เมื่อได้เดินทางมาเรียนที่กรุงไคโร เนื่องจากได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับนักศึกษาไทย จึงทำให้ถนัดภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งภาษา จากที่ชอบวิชาการแปลอาหรับ-อังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย กลายมาเป็นการแปลอาหรับเป็นไทย และได้เริ่มฝึกแปลด้วยตนเองเป็นเล่มๆ หลังจากนั้นได้ทำงานด้านการแปลอย่างเป็นทางการกับสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับเมื่อจบการศึกษาจากประเทศอียิปต์ ส่วนงานเป็นล่ามและผู้แปลเอกสารได้เริ่มที่สถานทูตโอมานประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นคนแรกที่ประเดิมตำแหน่งผู้แปลของสถานทูตในขณะนั้น
จุดเริ่มต้นของโรงเรียนพัฒนาภาษาอาหรับอัลมุนญิด เกิดจากความพยายามในการเผยแพร่ภาษาอาหรับ เพื่อเป็นภาษาทางธุรกิจอีกภาษาหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย และด้วยความโด่งดังของประเทศไทย ด้านการท่องเที่ยว ตลาดแรงงาน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการบุกตลาดตะวันออกกลางและการติดต่อทางธุรกิจในหลายๆ ด้าน เปิดโอกาสให้มีการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอาหรับได้ แต่การเรียนภาษาอาหรับในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับเท่านั้น จึงมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งการเรียนการสอนก็เน้นที่ทักษะอ่านเขียนเป็นหลัก ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่จบออกไปแล้วก็ยังพูดภาษาอาหรับไม่ได้ ปัจจุบันเปิดโรงเรียนยังไม่ถึง 3 ปี มีนักศึกษา 341 คน มีทั้งศาสนาอิสลาม พุทธ คริสต์ และซิกซ์
ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนพัฒนาภาษาอาหรับอัลมุนญิด เป็นรูปแบบการศึกษานอกนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่าต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล การเรียนมี 2 แบบ เป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป เรียนวันเสาร์-อาทิตย์ และแบบเดี่ยว เลือกลงเรียนได้ตามวันเวลาที่สะดวกในวันธรรมดา สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pasaarab.com
วิธีการสอนไม่ใช่แค่นั่งหรือยืนแปลเท่านั้น แต่ใช้เทคโนโลยีการศึษาอื่นๆ มาช่วยให้เกิดความหลากหลาย เช่น นำเสนอข้อมูลแบบพาวเวอร์พอยท์ผ่านเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ ฟังคลิปวิดีโอ และสัมผัสประสบการณ์จริงโดยการพูดคุยกับอาหรับโดยตรง