ไลฟ์สไตล์

นกช้อนหอยดำเหลือบ

นกช้อนหอยดำเหลือบ

25 ม.ค. 2558

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกช้อนหอยดำเหลือบ

 
                             ตั้งแต่กลางเดือนจนถึงปลายเดือนมกราคมนี้ อาสาสมัครนักดูนกทั่วประเทศไทยหลายกลุ่มทยอยออกตระเวนนับนกน้ำตามพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับติดตามประชากรนกน้ำในโครงการ Mid-winter Asian Waterbird Census (เรียกสั้นๆว่า AWC) ผู้อ่านท่านใดสนใจช่วยนับนก รีบติดต่อไปที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ก่อนสิ้นเดือนนี้นะครับ
 
                             นกน้ำส่วนใหญ่มีจำนวนลดลงทุกปีโดยยังคงมีสาเหตุหลักคือการถูกล่าและถิ่นอาศัยถูกทำลาย มีเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่ชัดเจนที่สุดคงไม้พ้นนกปากห่าง (Asian Openbill) เพราะมันสามารถกินสัตว์ต่างถิ่นรุกรานอย่างหอยเชอรี่ (golden apple snails) ซึ่งระบาดหนักไปทั่วตามแหล่งน้ำทุกหนแห่ง อาหารของนกปากห่างจึงมีเหลือเฟือ นกน้ำขนาดใหญ่อีกชนิดที่เพิ่มจำนวนขึ้น คือ นกช้อนหอยดำเหลือบ (Glossy Ibis) ซึ่งส่วนหนึ่งของการเพิ่มจำนวนขึ้นน่าจะมาจากหอยเชอรี่เช่นเดียวกัน เพราะมันกินหอยวัยอ่อนตัวเล็กๆเป็นอาหารได้ด้วย อย่างไรก็ตามมันล่าเหยื่อได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง กบ งู หรือแม้กระทั่งลูกนก
 
                             ในอดีตนกช้อนหอยดำเหลือบมีสถานภาพเป็นเพียงนกอพยพพลัดหลง แต่เมื่อราวๆ สิบปีที่ผ่านมานี้เอง ที่เริ่มมีประชากรมาตั้งรกรากทำรังวางไข่ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นนกที่พบได้ประจำตลอดทั้งปี แถมยังดูจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถพบได้เป็นฝูงใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ ทางภาคกลาง เช่น อยุธยา นอกจากนี้ยังมีรายงานฝูงเล็กๆ ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ไกลถึงพัทลุงหรือเชียงใหม่เลยทีเดียว
 
                             การเพิ่มขึ้นของนกช้อนหอยดำเหลือบไม่ใช่“การฟื้นตัวของประชากร”ดังที่เกิดขึ้นกับนกน้ำขนาดใหญ่อย่าง นกกาบบัว นกกระทุง และนกอ้ายงั่ว ที่ในอดีตเคยเป็นนกที่เจอได้ทั่วไป แต่ต่อมามีจำนวนลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ก่อนที่จะมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะมีการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการล่ามากขึ้น
 
                             นกช้อนหอยดำเหลือบในชุดขนฤดูผสมพันธุ์มีลำตัวสีน้ำตาลแดงเข้ม ปีก หลัง และหางมีสีเขียวหรือม่วงเข้มเหลือบสะท้อนแสง ส่วนในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์มันจะมีลำตัวสีเทาเข้ม หัวและคอมีลายขีดสีขาว นับเป็นนกที่มีการกระจายพันธุ์กว้างชนิดหนึ่ง พบได้ทางชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และกระจายเป็นหย่อมๆไปจนถึงออสเตรเลีย โดยประชากรที่ทำรังทางตอนเหนืออพยพลงใต้ในฤดูหนาว
 
 
-----------------------
 
 
นกช้อนหอยดำเหลือบ
 
 
ชื่ออังกฤษ Glossy Ibis
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plegadis falcinellus (Linnaeus, 1766)
 
วงศ์ (Family) Threskiornithidae (วงศ์นกช้อนหอยและนกปากช้อน)
 
อันดับ (Order) Plataleiformes (อันดับนกช้อนหอยและนกปากช้อน)
 
 
-----------------------