
ไปเมืองลุงเข้าชมสวนอินทผลัม เจ้าแรกแปลงหนูทดลองที่ปักษ์ใต้
25 ม.ค. 2558
ท่องโลกเกษตร : ไปเมืองลุงเข้าชมสวนอินทผลัม เจ้าแรกแปลงหนูทดลองที่ปักษ์ใต้ : โดย...ดลมนัส กาเจ
พื้นที่กว่า 50 ไร่ของ "นัน ชูเอียด" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลุงนัน" ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านในกอย หมู่ 9 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นสวนผสมผสานที่เขายึดแนวทางในการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากว่าทศวรรษ
ภายในสวนแบ่งเป็นการเพาะปลูก 48 ไร่ เป็นสละพันธุ์เนินวงและสุมาลี จำนวน 700 กอ ใช้พื้นที่ 21 ไร่ สวนยาง 12 ไร่ สวนปาล์มน้ำมัน 10 ไร่ มังคุด 5 ไร่ ที่เหลือปลูกมะละกอ กล้วยน้ำว้า หมาก และอีก 5 ไร่ เขาทดลองปลูกอินทผลัม พันธุ์เคแอล 1 หรือ "แม่โจ้ 36" เพื่อทดลองดูว่าจะปลูกในพื้นที่ภาคใต้ได้หรือไม่
สวนอินทผลัมของ ลุงนัน อยู่ด้านหน้าของสวนพอดี เดิมทีเป็นสวนยางพารา หลังจากที่เขาโค่นสวนยางพาราจำนวนหนึ่งเพื่อปลูกสละพันธุ์เนินวง และมะละกอจนประสบผลสำเร็จ ทำให้เขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ในทุกวันนี้ และทำให้สวนลุงนัน ถือเป็นสวนอินทผลัมเจ้าแรกในพื้นที่ภาคใต้
ลุงนัน ย้อนอดีตในการใช้ชีวิตเกษตรกรว่า พื้นที่ทั้งหมดเน้นการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ประสบปัญหาทั้งในเรื่องคนงานและต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเน้นทำการเกษตรแบบผสมผสานจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นปลูกสละพันธุ์เนินวงมากที่สุด 21 ไร่ ส่วนยางพารายังกับปาล์มน้ำมัน ก็ยังมีอยู่ แต่คาดว่าจะโค่นต่อไปในเร็วๆ นี้ เนื่องราคาไม่แน่นอน
"ตอนที่ผมทดลองปลูกอินทผลัมใหม่ๆ มีเกษตรกรหลายรายก็สนใจเหมือนกัน ผมบอกว่าอย่าเพิ่งตัดสินใจ เพราะไม่ทราบจะเป็นอย่างไร กว่าอินทผลัมจะให้ผลผลิตต้องใช้เวลานาน 4-5 ปี นานกว่าปาล์มน้ำมันอีก หากไม่มีผลผลิตเกษตรกรจะเสียเวลา ผมขอเป็นหนูทดลองเป็นเจ้าแรก หากได้ผลเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน ผมเลยตัดสินใจซื้อต้นกล้ามาจาก อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ มาปลูกทั้งหมด 175 ต้น พันธุ์เคแอล 1 หรือแม่โจ้ 36 ตั้งแต่ปี 2552 ปีที่ผ่านมาพบว่าเป็นตัวเมียเพียง 23 ต้นเท่านั้น เพื่อนผมอีกคนหนึ่งปลูกหลังผมอีก 1,000 ต้น จ.สงขลา พบว่าเป็นตัวเมีย 100 ต้นเท่านั้น" ลุงนัน กล่าว
กระนั้น ลุงนัน บอกว่า ไม่ย่อท้อ เพราะเห็นว่า อินทผลัมรับประทานผลสดตลาดยังต้องการอีกมาก ที่สำคัญพิสูจน์ได้ว่าในพื้นที่ภาคใต้สามารถปลูกได้ และศึกษาหาข้อมูลจนทราบว่าที่ จ.พิจิตร มีคนปลูกอินทผลัมโดยการเพาะเนื้อเยื่อ เป็นต้นกล้าที่มาจากประเทศอังกฤษ จึงค่อนข้างมั่นใจว่าการเพาะเนื้อเยื่อน่าจะได้ผลกว่า จึงลองนำมาปลูกที่สวนจำนวน 60 ต้น ซื้อมาในราคาต้นละ 1,400 บาท หากประสบผลสำเร็จเขาตั้งใจจะโค่นสวนยางพาราเพื่อปลูกอินทผลัมต่อไป
อย่างก็ตาม ลุงนัน ยอมรับว่า ทุกวันนี้รายได้หลักมาจากสละ ซึ่งคำนวณแล้วสละ 1 กอ จะให้ผลผลิตกอละ 200-300 กก.ต่อปี ปัจจุบันราคา กก.ละ 100 บาท หากออกผลผลิตทั้งหมด 700 กอ คูณกับ 200-300 จะมีรายได้มากพอสมควร ส่วนที่ตามมาก็มีมะละกอพันธุ์เรดเลดี้ ซึ่งให้ผลผลิตเร็ว ปัจจุบันเฉพาะมะละกอเพียงอย่างเดียวให้ผลผลิตเดือนละ 4 ตัน ปลูกในช่วง 15 เดือนแรกมีรายได้จากมะละกอราว 6 แสนบาท เมื่อรวมกับรายได้อย่างอื่น ทำให้มีรายได้ปีละหลายล้านบาท ทำให้ครอบครัวอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน และลูกทั้ง 3 คนสามารถเรียนหนังสือจบระดับปริญญาตรีทุกคน และทั้ง 3 คนที่จบปริญญากลับมาแทนที่จะทำงานตามที่เล่าเรียนมา หรือทำงานในเมือง แต่ลูกของ ลุงนันตัดสินใจกลับมาทำการเกษตร หันมาปลูกมะละกอเพราะมองว่ามีรายได้ที่ดีกว่า
จากความสำเร็จของ ลุงนัน ทำให้วันนี้พื้นที่สวนของเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ต.หนองธง อ.ป่าบอน ส่วนตัวลุงนัน ยังได้รับการแต่งตั้งจากสภาเกษตรจังหวัดพัทลุงให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และชลประทานอีกด้วย ผลงานสำคัญของลุงนัน คือ การนำเสนอแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อคณะทำงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และชลประทาน ทำอย่างไรให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมี เพื่อจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
ด้าน สมคิด สงค์เนียม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง บอกว่า ลุงนันถือเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีอีกคนหนึ่ง ที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตรในพื้นที่ว่าควรจะไปในทิศทางใด เน้นการเกษตรที่ผ่านการศึกษาด้านการตลาดเป็นตัวนำทาง กล้าตัดสินใจที่จะทำการเกษตรแนวใหม่ จนประสบผลสำเร็จ อย่างอินทผลัมก็อีกตัวหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ ลุงนันพยายามศึกษาเพื่อหาแนวทางว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากมองว่าอินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดยังไปได้สวยนั่นเอง
-----------------------
(ท่องโลกเกษตร : ไปเมืองลุงเข้าชมสวนอินทผลัม เจ้าแรกแปลงหนูทดลองที่ปักษ์ใต้ : โดย...ดลมนัส กาเจ)