ไลฟ์สไตล์

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและวิธีป้องกัน

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและวิธีป้องกัน

22 ม.ค. 2558

ดูแลสุขภาพ : การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและวิธีป้องกัน

 
                            ขึ้นชื่อว่าการออกกำลัง และการเล่นกีฬา ย่อมเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรง มีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น นอกจากความรู้ความเข้าใจในทักษะของกีฬาแล้ว ผู้เล่นกีฬาก็ควรที่จะมีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ของการเล่นกีฬา ที่จะนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บ และวิธีป้องกันการบาดเจ็บเหล่านั้นด้วย  
 
                            การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นการบาดเจ็บที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬา ส่วนความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬาเหล่านั้นด้วย แต่หลักการใหญ่ๆ จะเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 
 
                            การใช้มากเกิน (overuse injury)  เนื่องจากในการเล่นกีฬาแต่ละประเภทก็จะมีการใช้โครงสร้างกล้ามเนื้อที่ใช้แตกต่างกัน การบาดเจ็บจึงขึ้นอยู่กับประเภทของกีฬาแต่ละชนิดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บที่ขา เพราะกีฬาส่วนใหญ่จำเป็นต้องเดิน ยืน วิ่ง เป็นหลัก
 
                            การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงปะทะที่ทำให้เกิดการแตก ฉีก หัก ซึ่งกีฬาแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแรงปะทะ ซึ่งกีฬาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ กีฬาที่มีการต่อสู้ (Martial Art) อาทิ มวย คาราเต้ ยูโด ซึ่งกีฬาเหล่านี้เป็นกีฬาที่มีการบาดเจ็บมากที่สุด 
 
                            แต่ทั้งนี้กีฬาแต่ละประเภทก็ใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะแตกต่างกัน มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน การบาดเจ็บจะมากน้อย ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อีกมากมาย อาทิ ตำแหน่งของผู้เล่น การฝึกซ้อม และทักษะของผู้เล่น และสำหรับกีฬาที่ไม่ได้ใช้การเคลื่อนไหวมากนัก ก็มีโอกาสในการบาดเจ็บเช่นเดียวกัน แต่อาจจะน้อยกว่ากีฬาที่ใช้แรงมากๆ อาทิ กีฬากอล์ฟ  ก็มีโอกาสปวดข้อมือ ปวดแขน หรือข้อเท้าพลิก แต่มีโอกาสเสี่ยงน้อยมาก เนื่องจากกีฬาเหล่านี้ เป็นกีฬาที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย ใช้ทักษะการตีที่ต่างกัน แม้ผู้เล่นจะมีอายุเท่ากันแต่อาจจะมีโอกาสบาดเจ็บที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับฝีมือและการฝึกฝนของแต่ละบุคคล  
 
                            และจะมีวิธีป้องกันอาการบาดเจ็บได้อย่างไร? เป็นคำถามที่คุณหมอได้อธิบายไว้ว่า นักกีฬาจำเป็นต้องฝึกฝนทั้งทักษะและความแข็งแรงของร่างกายควบคู่กัน เพราะถ้าหากนักกีฬาฝึกฝนเฉพาะร่างกาย แต่ขาดทักษะ ในการเล่นร่างกายจะเกิดความไม่สมดุล เพราะกีฬาแต่ละชนิดใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่ต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะที่แตกต่างกันในการพัฒนาร่างกายในส่วนต่างๆ ด้วย
 
                            ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่เล่นกีฬาควรจะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และทักษะของกีฬาชนิดนั้นๆ เช่น นักกีฬาทุกคนควรมีสภาพจิตใจที่ดีบวกกับสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้การฝึกซ้อมได้ประสิทธิภาพ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่สมดุล นั่นก็หมายถึงการบาดเจ็บของตัวนักกีฬานั่นเอง และนอกจากนั้นแล้ว คุณหมอ ยังมีเคล็ดลับดีๆ ป้องกันอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ซึ่งปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้     
 
                            - ผู้เล่นต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ คือไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ ประกอบกับการมีสมาธิและความตั้งใจที่จะเล่นกีฬา มีสภาพร่างกายที่เหมาะสมกับชนิดกีฬานั้นๆ
 
                            - รู้กฎ กติกา มารยาท ของกีฬาแต่ละชนิดและควรมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
 
                            - ดื่มน้ำให้เพียงพอ และมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆ
 
                            - การอบอุ่นร่างกาย หรือวอร์มอัพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการออกกำลังกาย เพราะการอบอุ่นร่างกาย คือ การยึดกล้ามเนื้อให้เต็มที่ในทุกๆ ส่วนที่จะต้องใช้ในการเล่นกีฬา จะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวอยู่นั้นอ่อนตัวลงบ้าง เพื่อเผชิญกับการถูกยืดหรือเหยียดอย่างกะทันหันในขณะเล่นกีฬาทำให้เกิดความคล่องตัวยืดหยุ่นและอดทนได้ดี เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้น้อยที่สุด
 
                            ทั้งนี้ หลังการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสร็จแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามการคูลดาวน์ (Cool down) หรือการคลายอุ่น เนื่องจากหลังการเล่นกีฬา หัวใจยังเต้นเร็วอยู่ จึงไม่ควรหยุดกิจกรรมโดยทันที อาจเป็นอันตรายได้ เช่น เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หรือขั้นสูงสุดคือเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆ สักครู่เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลงใกล้เคียงปกติเสียก่อน
 
 
วิวัฒนาการในการป้องกันและรักษา
 
                            ถึงแม้ว่าการออกกำลังจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาทำให้ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บมีน้อยลง อาทิ โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ทันสมัย  มีการนำเทคโนโลยีกล้องความเร็วสูง ที่สามารถจับภาพการเคลื่อนไหว ซึ่งนำมาใช้เพื่อดูความเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้การฝึกซ้อมมีประสิทธิภาพ ในบางประเทศต้องมีการเจาะเลือดนักกีฬาทุกครั้งหลังการเล่น เพื่อตรวจหากรดแลคติกแอซิด ซึ่งเป็นของเสียในเลือด อันเกิดจากการคูลดาวน์ที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอ ซึ่งหากมีการตรวจพบนักกีฬาก็จำเป็นที่จะต้องกลับไปคูลดาวน์ใหม่ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ซึ่งการรักษาอาการบาดเจ็บก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นในอดีต เอ็นไขว่หน้าข้อเข่าขาด หมายถึงการจบอนาคตของนักกีฬา แต่ในปัจจุบันมีการรักษา ที่ทำให้นักกีฬาสามารถกลับมาเล่นได้ด้วยการผ่าตัด โดยมีหลายวิธีที่จะรักษาให้หายทั้งการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่าแบบส่องกล้อง ซึ่งการรักษาจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองด้วย