ไลฟ์สไตล์

ตระการตานวัตศิลป์ชั้นสูง

ตระการตานวัตศิลป์ชั้นสูง

21 ม.ค. 2558

โซไซตี้ : ตระการตา นวัตศิลป์ชั้นสูง

 
             จะให้จัดสักกี่ครั้งก็อลังการทำให้ตาลุกวาวได้เสมอเชียวละสำหรับงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ซึ่งปีนี้เดินทางมาเป็นครั้งที่ 6 แล้วที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดขึ้นด้วยตั้งใจร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสืบสานอนุรักษ์นวัตศิลป์ไทยอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศ และภายใต้แนวคิด “สืบสานมรดกไทย ความภูมิใจของแผ่นดิน” ที่นอกจากจะรวมสุดยอดผลงานนวัตศิลป์ไว้อย่างมากมายแล้ว ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแสดงผลงานนวัตศิลป์ชั้นสูงจาก “ทอง” ที่มีความล้ำเลิศเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "LUX by SACICT" หัตถกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมผนวกเทคนิคชั้นยอด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ในวงกว้าง พร้อมผลักดันสู่ตลาดโลก โดยเปิดให้ชื่นชมกันฟรีๆ ไปแล้วบริเวณแฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 และไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันก่อน
 
             “ครูช่างชั้นสูง” ที่นำผลงานออกมาให้ยลพร้อมถ่ายทอดเทคนิคของการผลิตชิ้นงานชั้นสูงจาก “ทอง” จำนวน 7 ท่าน นำโดย ครูวีรธรรม ตระกูลเงิน ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าไหมยกทอง จ.สุรินทร์ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า ผ้าแต่ละผืนมีลวดลายเฉพาะตัว ซึ่งในสมัยโบราณลายผ้าบ่งบอกถึงยศ ตำแหน่งของผู้สวมใส่ เช่น ผ้าไหมยกทองที่นำมาแสดงในวันนี้คือ ผ้าสังเวียนลายครุฑยุดนาค ใช้กันเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงจนถึงพระมหากษัตริย์ มีกระบวนการทอที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน โดยผ้าหนึ่งผืนต้องใช้คนทอถึง 4 คน และใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีจึงจะเสร็จ เช่นเดียวกับ ครูนิคม นกอักษร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถม จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้นำกระเป๋าถือ “ถมตะทอง” ลายใบเทศ มาอวด สร้างสรรค์โดยกรรมวิธีถมตะทองซึ่งเป็นการถมแบบโบราณ ยากกว่าการถมเงิน และถมทอง จุดเด่นอยู่ที่มีลักษณะ 3 สีสลับกัน คือ สีดำ สีเงิน และสีทอง นับเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติที่หาชมยากยิ่ง
 
             ผู้ใดสวมใส่แล้วจะเป็นศิริมงคลเสริมสร้างบารมีแก่ตัวเองต้องยกให้ผลงานชุด “มณีนพรัตน์” ของ ครูปราโมทย์ เขาเหิน ผู้เชี่ยวชาญเครื่องทองสุโขทัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ ทั้งทับทิม และมรกต ที่มีความหมายในกลุ่มนพรัตน์ หรือนพเก้า ใช้เทคนิคลวดตัดลายทำให้เครื่องทองมีลวดลายสวยงาม แปลกตา และแตกต่างกัน เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะผลงาน และที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันคือหัวโขน “พระวิษณุกรรม (โล้น) ” ผลงานของ ครูวัฒนา แก้วดวงใหญ่ เป็นหัวโขนหน้าสี ที่ใช้ทองคำเปลวในการรังสรรค์ทั้งหมด โครงหน้าของหัวโขนนั้นมีการปั้นให้ออกมาหรูหรา และสง่างาม ประกอบกับการตกแต่งและวาดลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตระกูลช่างแก้วดวงใหญ่ ยังมีผลงานของ ครูเมตตา เสลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเครื่องลงหิน และ ครูธานินทร์ ชื่นใจ ผู้รังสรรค์ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทอง
 
             งานจะเสร็จสิ้นไปแล้วท่ามกลางผู้สนใจเข้าชมอย่างคับคั่ง เอาเป็นว่าสำหรับใครที่พลาดนับวันรอได้เลย ปีหน้าฟ้าใหม่งานแห่งความภาคภูมิใจนี้เวียนกลับมาให้ยลกันอีกแน่นอน...