
สมุนไพรไทย-ยาอาบแม่หญิง
16 ม.ค. 2558
ดูแลสุขภาพ : สมุนไพรไทย-ยาอาบแม่หญิง
ก่อนหน้านี้เราได้รู้จักยาประคบ และยาอบกันไปแล้ว ในครั้งนี้เรามารู้จักกับยาอาบกันบ้าง ซึ่งการเตรียมสมุนไพรสำหรับอาบนั้นมีอยู่หลายวิธี ส่วนใหญ่สมุนไพรที่ใช้กับยาอาบมักจะใช้สมุนไพรสด โดยมีวิธีการเตรียมและอาบสมุนไพรมีดังนี้
1.นำสมุนไพรมาล้างให้สะอาด แล้วมัดสมุนไพรแต่ละชนิด กะประมาณว่าใช้ต้มได้ประมาณ 3 ครั้ง จากนั้นนำมาต้มในน้ำ 1 ปี๊บ (ประมาณ 20 ลิตร) จนเดือด เมื่อน้ำต้มมีสีเข้ม ก็ยกลงทิ้งไว้ให้อุ่นพออาบได้ บางตำรับที่ใช้แก่นหรือรากของสมุนไพร อาจใช้วิธีต้มในน้ำปริมาณไม่มาก แล้วจึงนำน้ำต้มยาที่เข้มข้นนั้นมาผสมน้ำอาบอีกทีหนึ่ง ในขณะที่บางตำรับไม่ได้ใช้การต้ม แต่นำสมุนไพรมาแช่น้ำปริมาณ 1/2 ชั่วโมง ก่อนนำมาอาบ
2.ให้ผู้ป่วยอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดก่อน จากนั้นให้นุ่งกระโจมอกหรือผ้าขาวม้า เพื่ออาบสมุนไพรต่อ หากเป็นตำรับของไทยใหญ่ มักจะให้ผู้ป่วยกินยา 3 อึกก่อนอาบ และให้อาบสมุนไพรให้หมดในคราวเดียว
3.เมื่ออาบเสร็จแล้ว ไม่ต้องล้างน้ำออกหรือเช็ดตัว เพื่อให้ยาซึมเข้าผิวหนังจนยาแห้งไปเอง ยกเว้นบางตำรับนี้ให้ผู้ป่วยเช็ดตัวหลังอาบได้
ตำรับยาอาบหลังคลอด แม่อยู่กำ
ใช้สมุนไพรที่มี กลิ่นหอม เช่น ใบเตย ว่านหอม (เปราะหอม) พิมเสน เล็บครุฑ สมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น ใบข่า ใบยอ ใบเปล้า และสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม แต่บางครั้งก็ใส่สมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น เปลือกแดง เปลือกดู่ ต้มอาบเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว แก้อักเสบ รักษาแผล ทำให้แม่สบายเนื้อสบายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
ตำรับที่ 1 ใช้ใบข่า ใบย่อ ใบตะไคร้หอม ใบกล้วยแห้ง ต้มอาบ
ตำรับที่ 2 ใช้ใบข่า ใบเตย หัวเปราะ พิมเสนต้น ต้มอาบ
ตำรับที่ 3 ใช้ตองกล้วยตีบแห้ง ใบมะขาม ใบหนาด ใบเปล้า ต้มอาบ อาบได้ทั้งแม่ทั้งลูก คนทั่วไปก็อาบได้
ตำรับที่ 4 ใช้ใบหนาด ใบเปล้า ขมิ้นขึ้น ว่านไพล ใบเตย ว่านไพลใจดำ ยาหัว ว่านหอม แหน่งหอม ใบส้มป่อย ใบมะขามป้อม ใบส้มลม ใบส้มกบ เปลือกดู่ เปลืองแดง ต้มอาบ
ตำรับที่ 5 ใช้ใบมะขาม ต้มอาบ
ยาอาบแม่หญิง ไม่มีน้ำนม
ใช้ใบจะเริมหลำ (ปีกไก่ดำ) ใบกิ่งปาน (คนทีสอ) หญ้าหลั่งโหลง (หนาด) หัวหวานแก้ (พืชตระกูลขิง) ต้มอาบทุกวัน
ยาอาบแม่หญิงกินผิด (ลมผิดเดือน)
ใช้ใบและเปลือกไม้ตีนเป็ด ต้มอาบ และใช้เปลือกไม้ตีนเป็ด ใส่พริกไทย 7 เม็ด ต้มกิน 2-3 แก้วก็หาย สามารถหยุดกินได้
ยาอาบแม่ลูกอ่อนออกกรรม
ใช้ฮากเปล้า ฮากหนาด ไม้ส้มกบ ไม้คราม ซาตีบ้าน (คำไทย) ต้มอาบ
ยาอาบแก้วิงเวียน
สมุนไพรที่ใช้เป็นพืชที่มีกลิ่นหอม เช่น หนาด เขยตาย มะกรูด ใบมะตูม ตุมตัง ตะไคร้ สันพร้าหอม ลูกชัด ชะลูด นอกจากนี้ก็มี ยาหัวใหญ่ หญ้าแห้วหมู ฮากหมากใต้ใบ หัวส้มโลงโคง ส้มกบ ส้มลม ผักหนอกใหญ่ ผักหนอกเล็ก ส่วนใหญ่จะใช้ต้มเอาไอรมหน้าก่อน แต่ไม่ใช้การอบ ทำโดยเอาสมุนไพรใส่หม้อต้มน้ำ พอเดือดยกลง แล้วสูดดมไอของน้ำต้มสมุนไพรนั้นก่อน พอเย็นลงค่อยอาบ
ยาอาบแก้เวียนหน้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
ใช้ใบหนาด ใบตะไคร้ ใบมะกรูด ใบส้มป่อย ผักหนอก (บัวบก) หญ้าแห้วหมู ต้มรม ต้มอาบ
ยาอาบแก้ฟกช้ำ บวมแก้ปวดเมื่อย แก้เส้น แก้เอ็น
ยาอาบในกลุ่มนี้ใช้สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบส้มป่อย ใบมะขาม ใบส้มโม้ง สมุนไพรที่รสร้อน เช่น ไพล เปล้า หนาด สาบเสือ(ใบ) เจตมูลเพลิง สมุนไพรที่มีรสเมาเบื่อ เช่น เอ็นอ่อน และสมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น แก่นคูน เป็นต้น
ยาอาบแก้ปวดเมื่อย ฟกช้ำ
ใช้ต้นไม้ส้มกบ ต้นไม้ขามป้อม ต้นไม้ส้มมอ ใบ-ต้นไม้ส้มลม ใบ-ต้นไม้ส้มป่อย ใบ-ต้นไม้อีเลี่ยน ใบ-ต้นไม้เอื้อนกวาง ใบ-ต้นไม้แตงแซง ใบ-ต้นไม้เฟืองเปรี้ยว ใช้ต้มอาบ
ยาอาบแก้บวมทั้งตัว
ใช้ต้นหรือใบปิดปีเผือก (เจตมูลเพลิง) ต้มเอาไอรมพออุ่นแล้วให้อาบ ทำสามวันหยุดหนึ่งวัน
ยาอาบ อบ แก้เมื่อย หิว ไม่มีแรง เลือดลมดี
ใช้ใบมะขามผีหลวง(เหมือนมะขามแต่ใบขาว) รากและใบไม้น้ำน้อย รากและใบไม้แฮนกวาง เครือบักแตก ลำ เปลือก ใบไม้ผ่าสาม รากและเปลือกไม้ตูมกา เปลือกและใบบักขามส้ม(มะขามเปรี้ยว)
ยาอาบแก้ฝี ผดผื่นคัน
จะใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด เมาเบื่อ เพื่อฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ เช่น รากส้มมอ รากบูฮา รากขี้กา เปลือกปอหู เปลือกต้นหมาว้อ กกช้างน้าว เปลือกบักบ้า หญ้าดอกขาว เปลือกจิก ไม้ฮัง และสมุนไพรที่มีรสจืด ซึ่งช่วยลดความร้อน เช่น ไผ่ ใบตองกล้วยตีบ
ตำรับที่ 1 ใช้ใบและลำต้นเหงือกปลาหม้อ สับต้มน้ำอาบ แก้คัน แก้อักเสบตามผิว
ตำรับที่ 2 ใช้ใบตำลึงนำมาต้มอาบแก้ไข้อีสุกอีใสในเด็ก
ยาฝีหัวคว่ำ
ใช้รากส้มพอ(ข่อย) รากบูฮา(เสนียด) รากขี้กา ฝนกินและแช่อาบ ผิว่ามันฮากแตก ให้เอาต้นมะกูด ซาซู่(ชิงชี่) ต้นฝนกินและทา
ยาอาบแก้หัด แก้ตุ่มอีหัดตุ่มเล็กๆ ยิ่งเกา ยิ่งคัน
ใช้เปลือกจิก ไม้ฮัง(ไม้รัง) ใบตองกล้วยตีบแห้ง ต้มอาบ
ยาอาบปลายไข้
หลังใช้ยา 5 รากแล้ว ให้ใช้ยาอาบตาม คือใช้ 1 ขมิ้น 1 คนทีสอ 8 ใบ ประกอบด้วย ใบมะเฟือง ใบมะกรูด ใบมะนาว ใบมะดัน ใบมะแฟน ใบมะงั่ว ใบมะไฟ ใบมะปริง และ 2 หญ้า คือ หญ้าแพรก หญ้าปากควาย ต้มแล้วอาบเลย
ยาอาบเด็กอ่อนแก้ตานซาง มือมีอาการตัวเหลือง ไม่แข็งแรง
ใช้หนามหญ้าไห้ (ชะเลือด) เครือตดหมา สามปู๊ (ว่านน้ำ) หัวป่าน ผักลับมึน(ชุมเห็ดไทย) เปลือกไม้จี้ลี่ (ขี้เหล็ก) ตานคอม้า หญ้าขัดมอน ยาแก้ฮากโกด (เครือหมาน้อย) หญ้าซีกหวี (โด่ไม่รู้ล้ม) กระเช้าสีดา ฝรั่งขี้นก หญ้าหลั่ง(หนาด) ไม้ห้าเยือง (เปล้าใหญ่) หญ้าตีตุ๊ด (โกฐจุฬาลัมพา)