ไลฟ์สไตล์

เพื่อการค้า'หอยมุกน้ำจืด'ต่อยอด สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกร

เพื่อการค้า'หอยมุกน้ำจืด'ต่อยอด สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกร

25 ธ.ค. 2557

ทำมาหากิน : เพื่อการค้า 'หอยมุกน้ำจืด' ต่อยอด สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกร : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                                กว่า 30 ปี ที่กรมประมงได้รวบรวมหอยมุกน้ำจืดที่พบในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี มาทำการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์ในเชิงอนุรักษ์ เวลาผ่านไปเพียง 6  ปี พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์ลูกหอยมุกน้ำจืดได้ปีละ 3 หมื่นตัว ล่าสุดทีมคณะวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี นำโดย "อ้อมเดือน มีจุ้ย" ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ทำให้อัตราการรอดของหอยมุกน้ำจืดมีสูงถึง 50% หรือ 3 หมื่นตัวต่อ 1 ระบบเลี้ยง (4 เดือน) สามารถต่อยอดให้เกษตรกรเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ 
 
                                อ้อมเดือน ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ บอกว่า หอยมุกน้ำจืด เป็นหอยกาบน้ำจืด หรือหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา และภายในมีความแวววาวของชั้นมุก ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวทำให้มีผู้รวบรวมนำเปลือกหอยมุกน้ำจืดไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก อีกทั้งยังนำมาใช้ในการผลิตไข่มุกน้ำจืด เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องสำอาง และยา ขณะที่เนื้อนำไปใช้เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงเกิดงานวิจัยเพื่อต่อยอดในการพัฒนาหอยมุกน้ำจืด เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือ การเลี้ยงหอยมุกเพื่ออาชีพ สร้างธุรกิจใหม่ ก้าวเข้าสู่ในเชิงพาณิชย์ต่อไป 
 
                                สำหรับงานวิจัยหอยมุกน้ำจืด กรมประมงได้รวบรวมหอยมุกน้ำจืดที่พบในเมืองกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2528 มาทำการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์ในเชิงอนุรักษ์ จากนั้นจึงมีการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในปี 2534 โดยลูกหอยมีอัตราการรอดตายที่สูงขึ้นในอัตรา 3 หมื่นตัวต่อปี แต่ปริมาณนี้จะประสบปัญหาหากจะทำเชิงพาณิชย์แน่นอน คณะวิจัยจึงขอทุนสนับสนุนจาก สวก. เพื่อทำการวิจัยเพิ่มปริมาณลูกหอย โดยเน้นอัตราการรอดเป็นหลัก เพื่อดำเนินการศึกษาลูกหอยขนาด 200 ไมครอน  1 ซม. และขนาด 1-3 ซม. เพื่อร่วมให้ลูกหอยโตเร็วพอและนำมาปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ เพื่อกระตุ้นให้ขับสารออกมาเคลือบเป็นไข่มุก พร้อมกับศึกษาปัจจัยเรื่องคุณภาพน้ำ อาหาร พันธุกรรม ฯลฯ ล่าสุดมีการเพาะเลี้ยง ทำให้อัตราการรอดของหอยมุกน้ำจืดมีสูงถึง 50% หรือ 3 หมื่นตัวต่อ 1 ระบบเลี้ยง (4 เดือน) แตกต่างจากอดีตที่อัตรารอดอยู่ที่ 4-6% หรือ 3 หมื่นตัวต่อปีเท่านั้น 
 
                                ด้าน รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก. บอกว่า การเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์ และการพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์นั้น สกว.ได้สนับสนุนเงินการวิจัยให้กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีเป็นผู้วิจัย เพื่อการเพาะเลี้ยงปลาและหอยมุกน้ำจืด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเปรียบเสมือนนักวิจัยนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเพื่อให้เป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งเรื่องที่ยากคือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หอยกินอาหารที่เราอยากให้กิน จึงต้องมีการศึกษาวิจัย เพื่อหาวิธีจัดการให้หอยรับกินอาหารตามที่ต้องการ อย่างอาหารเม็ด ขณะนี้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของนักวิจัยที่สามารถเพาะหอยมุกน้ำจืดให้มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบการหมุนเวียนของน้ำในการดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วย
 
                                ความสำเร็จของงานวิจัยเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยสร้างอาชีพใหม่ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจให้แก่เกษตรกรไทยไม่น้อย และก่อให้เกิดธุรกิจไข่มุกน้ำจืดแบบครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพใหม่แล้ว อนาคตอันใกล้นี้ ธุรกิจการเพาะหอย การฝังไข่มุก การเลี้ยงมุก อุตสาหกรรมเครื่องประดับ จะมีที่เป็นแบรนด์ของไทยได้อีกด้วย
 
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ทำมาหากิน : เพื่อการค้า 'หอยมุกน้ำจืด' ต่อยอด สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกร : โดย...ดลมนัส กาเจ)