Lifestyle

'นิติวิทยาศาสตร์อาเซียน' เครือข่ายเออีซีไขคดีอาชญากรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'นิติวิทยาศาสตร์อาเซียน' เครือข่ายเออีซีไขคดีอาชญากรรม : คลี่ปมปริศนา CSI THAILAND : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม

 
                          ในการประชุม "ASEANAPOL" ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่เมืองพัทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมัย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร. เสนอให้มีการจัดตั้ง “สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน” (ASEAN Forensic Institute) เพื่อยกระดับงานนิติวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีด้วยกัน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และ ไทย จึงเป็นที่มาของมติที่ประชุม ASEANAPOL ครั้งที่ 33 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมระดับคณะทำงาน (เวิร์กกรุ๊ป) พิจารณาเตรียมความพร้อมจัดทำทีโออาร์ (Term of Reference) เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน” (ASEAN Forensic Institute) สำหรับเป็นแหล่งฝึกอบรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานนิติวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่พลเมืองในกลุ่มของประเทศอาเซียน และสังคมนานาชาติ
 
                          ต่อมาวันที่ 26-27 มีนาคม 2557 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจของไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุม "คณะทำงานนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 1” (1st ASEANAPOL Working Group meeting on the Need) ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร โดยตำรวจแต่ละประเทศในอาเซียนได้ร่วมแลกเปลี่ยนศักยภาพด้านนิติวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาสรุปหาแนวทางความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน กระทั่งได้มติว่า ในก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาครูปแบบที่น่าจะเหมาะสมคือ “เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน” (ASEAN Police Forensic Science Network : APFSN) ตามที่ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) เสนอต่อที่ประชุม
 
                          หลังจากนั้น ระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม 2557 ฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEANAPOL ครั้งที่ 34 ที่กรุงมะนิลา ซึ่งได้มีมติเห็นด้วยและให้ดำเนินการจัดตั้ง “เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน” พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้มีการกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจ (ทีโออาร์) ของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม กระทั่งมีการระดมความคิดกันในการประชุม คณะทำงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน ครั้งที่ 2 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2557 ที่เมืองตะไกไต ซึ่งตัวแทนจากไทยได้นำร่างทีโออาร์เสนอในที่ประชุม และได้ข้อสรุปเป็นฉันทามติ เพื่อนำไปเสนอกับที่ประชุม ASEANAPOL ครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ในปี 2558
 
                          "ปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะนำมาซึ่งความเจริญและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแนวโน้มอาชญากรรมต่างๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อาชญากรก็สามารถข้ามแดนไปมาได้อย่างสะดวก ทำให้งานนิติวิทยาศาสตร์จะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทางด้านฐานข้อมูลจากทุกประเทศ การทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคมีศักยภาพในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ใกล้เคียงกัน หรือสามารถที่จะสร้างเครือข่ายในการร่วมมือช่วยเหลือกัน นับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ตำรวจไทยในฐานะผู้ริเริ่มแนวความคิดต้องเร่งสร้างและทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อพลเมืองของทุกประเทศจะมีหลักประกันว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของทุกประเทศที่มีมาตรฐานและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าในฐานะ “ผู้เสียหาย” ที่พึงจะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม หรือในฐานะ “ผู้ถูกกล่าวหา” ก็จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการจับแพะ หรือยัดเยียดข้อกล่าวหา หรือปั้นแต่งพยานหลักฐานปรักปรำ" พล.ต.อ.จรัมพร ให้ข้อมูล
 
                          ความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศสมาชิกมีความสำคัญ เพราะหากทุกประเทศร่วมมือกันจะทำให้การคลี่คลายคดีต่างๆ ทำได้รวดเร็วขึ้น แต่เนื่องจากขณะนี้ศักยภาพในด้านนี้ของแต่ละประเทศยังไม่ทัดเทียมกัน จำเป็นต้องเริ่มก้าวแรกกันก่อน คือการร่วมมือกันถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กัน ตำรวจไทยในฐานะผู้เสนอจัดตั้ง “เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน" จึงต้องผลักดันให้ทุกประเทศเห็นเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับเออีซี
 
                          ตำรวจไทยจึงได้จัดทำโครงการ “นิติวิทยาศาสตร์ตำรวจไทยสู่อาเซียน” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) จัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น 3 วัน ให้แก่บุคลากรจากประเทศไทยที่จะไปบรรยายให้ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานนิติวิทยาศาสตร์กับกลุ่มประเทศสมาชิก
 
                          นอกจากนี้ยังให้งบประมาณตำรวจเวียดนามเพื่อจัดอบรมตำรวจ โดยให้ตำรวจไทยเป็นวิทยากรให้ความรู้เป็นประเทศแรก ใน 3 หัวข้อ คือ 1.การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (Disaster Victim Identification : DVI) 2.การตรวจสถานที่เกิดเหตุ และ 3.การตรวจพิสูจน์อาวุธปืน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม โดยคณะวิทยากรจากไทยที่ไปให้ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์แก่ตำรวจเวียดนามครั้งนี้ ได้แก่ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (ด้านนิติวิทยาศาสตร์) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะ, พ.ต.อ.นิธิ บัณฑุวงศ์ รองผู้บังคับการสำนักงานฝึกอบรมและวิจัยพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, พ.ต.อ.หญิง สุเจตนา โสตถิพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอ, พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ บุญมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน, พ.ต.ท.เชิดพงษ์ ชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสถานที่เกิดเหตุ และพ.ต.ต.หญิง สรัลนุช ชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งได้รับความสนใจจากตำรวจเวียดนามอย่างดี จนมีการเสนอให้ไทยจัดหลักสูตรเน้นแต่ละด้านเฉพาะทาง เพื่อไปอบรมให้แก่ตำรวจเวียดนาม พร้อมทั้งนักเรียนนายร้อยตำรวจเวียดนามด้วย ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในความร่วมมือด้านนิติวิทยาศาสตร์ของอาเซียน
 
                          โครงการ “นิติวิทยาศาสตร์ไทยสู่อาเซียน” เป็นโครงการนำร่องเพื่อสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนาม ก่อนจะมีการขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จุดประกายให้เกิดการติดต่อเชื่อมโยง การมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับไว้วางใจซึ่งกันและกันในระหว่างตำรวจของประเทศอาเซียนด้วยกัน ภายใต้แนวคิดง่ายๆ ว่า “JUST ONE CALL” หรือ “ขอเพียงโทรหากัน”
 
 
 
 
 
 
-----------------------
 
('นิติวิทยาศาสตร์อาเซียน' เครือข่ายเออีซีไขคดีอาชญากรรม : คลี่ปมปริศนา CSI THAILAND : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม)
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ