
ยาประคบอีกหนึ่งวิธีการรักษาควบคู่การนวดไทย
12 ธ.ค. 2557
ดูแลสุขภาพ : ยาประคบอีกหนึ่งวิธีการรักษาควบคู่การนวดไทย
การประคบสมุนไพรเป็นวัฒนธรรมการรักษาพยาบาลที่อิงอยู่กับชุมชน ซึ่งอาจเรียกแตกต่างกันไปในแต่พื้นที่ เช่น ยาตั้ง ยาตำ ยาจู้ ยาซอง เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนไทยการประคบเป็นวิธีการบำบัดรักษาที่สามารถนำไปใช้ควบคู่กับการนวดไทย โดยมักจะทำการประคบหลังจากทำการนวดเสร็จเรียบร้อย
ประสิทธิภาพของการรักษาด้วยการประคบสมุนไพรเกิดจากความร้อน และผลจากการที่ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านชั้นผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ความร้อนจากการประคบจะมีผลต่อการรักษา ช่วยลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อหลังจากผ่านไป 24-48 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ส่วนสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาลูกประคบ ส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณในการแก้เคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ ทำให้เส้นเอ็นหย่อน เมื่อผสานกับความร้อนจากลูกประคบแล้ว จึงเป็นการเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันในการรักษา
ลูกประคบมีทั้งชนิดสด และแห้ง โดยทั่วไปลูกประคบสดจะมีสรรพคุณดีกว่าลูกประคบแห้ง เพราะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่า ลูกประคบส่วนใหญ่จะมัดเป็นก้อนกลมๆ เพื่อประคบเป็นจุดๆ แต่ก็มีการทำลูกประคบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เพื่อใช้ประคบกล้ามเนื้อตามแผ่นหลังและบ่าด้วย
การให้ความร้อนแก่สมุนไพรในลูกประคบมีอยู่หลายวิธี เช่น การนึ่งด้วยไอน้ำแล้ว อาจใช้หินเป็นตัวให้ความร้อน โดยใส่หินเผาไฟในลูกประคบแล้วพรมน้ำแทนการนึ่ง หินที่เหมาะสมที่สุด คือ หินเขี้ยวม้า(หินควอตซ์) แต่จะใช้หินอย่างอื่นหรือแม้แต่ก้อนอิฐก็ได้ วัสดุอื่นๆ ที่สามารถใส่ในลูกประคบเพื่อช่วยเก็บความร้อนให้นานขึ้น เช่น ข้าวเหนียว ทราย ข้าวเปลือก
ในการประคบ บางครั้งจะมีการใช้น้ำกระสายยาเข้ามาช่วย เช่น มีการทาน้ำมันบนตัวก่อนการประคบ นิยมใช้กับอาการที่เอ็น หรืออัมพฤกษ์อัมพาต มีการนำลูกประคบไปจุ่มในน้ำข้าวหม่า (น้ำแช่ข้าวเหนียว) ส่วนที่นอนก้น แล้วจึงนำลูกประคบไปนึ่ง หรือนำลูกประคบไปนึ่งในน้ำต้มข้าวหม่าเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำลูกประคบไปจุ่มในน้ำส้มก่อนนำไปนึ่ง ซึ่งนิยมใช้กับอาการที่เอ็นตึงหรืออัมพฤกษ์อัมพาต หรือการพรมเหล้าบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง ซึ่งจะใช้กับคนที่มีอาการปวดบวม
วิธีประคบ
1.นำลูกประคบ 2 ลูก ไปนึ่ง ถ้าลูกประคบแห้งเกินไปอาจพรมด้วยน้ำหรือเหล้าโรงก่อนนำไปนึ่ง
2.จัดท่าของผู้ถูกประคบให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบ เมื่อลูกประคบอังไอน้ำจนร้อนดีแล้ว ผู้ประคบจับลูกประคบให้เต็มอุ้งมือ ยกขึ้นจากหม้อนึ่ง ลองใช้ลูกประคบแตะบริเวณท้องแขนของตนเอง ถ้าลูกประคบยังร้อนมาก ให้ใช้ฝ่ามืออีกข้างแตะลูกประคบแล้วไปนาบบริเวณที่ต้องการประคบแทน เป็นการถ่ายเทความร้อน ผู้ถูกประคบจะไม่รู้สึกร้อนเกินไป ให้ทำหลายๆ ครั้ง จนลูกประคบคลายความร้อนลงบ้างแล้ว จึงเอาลูกประคบลงประคบโดยตรงได้
3.การประคบด้วยลูกประคบโดยตรงในตอนแรก ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ไม่ว่างลูกประคบคาไว้บนผิวผู้ป่วย เพราะลูกประคบยังร้อนอยู่ และผู่ป่วยยังทนความร้อนได้ไม่มาก ผู้ประคบเพียงแต่แตะลูกประคบลงบนผิวหนัง แล้วยกขึ้น เลื่อนไปประคบตำแหน่งถัดไปตามแนวกล้ามเนื้อที่ทำการนวดได้
4.เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลง ผู้ประคบสามารถวางลูกประคบให้นานขึ้นได้ พร้อมกับกดคลึงจนลูกคลายความร้อนไปแล้ว จึงนำลูกประคบใส่กลับไปในหม้อ แล้วนำอีกลูกที่นึ่งรออยู่ ออกมาทำการประคบซ้ำตามขั้นตอนที่กล่าวมา
5.โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต่อการประคบ 1 ครั้ง ถ้ามีอาการเคล็ดขัดยอก อาจประคบได้วันละ 2 ครั้ง
ข้อควรระวัง
1.อย่าใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังที่อ่อน บริเวณที่มีกระดูกยื่น หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ควรใช้ผ้าขนหนูรองหรือใช้ลูกประคบอุ่นๆ
2.ต้องระมัดระวังในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน อัมพาต เด็กหรือผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีความรู้สึกตอบสนองช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่าย ควรใช้ลูกประคบที่ไม่ร้อนจัด นอกจากนี้ยังห้ามใช้การประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพราะจะทำให้บวมและเลือดออกมากขึ้นได้
3.หลังการประคบสมุนไพรไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน
ฉบับหน้าพบกับวิธีการทำลูกประคบและตำรับยาประคบต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น ยาประคบอัมพาต ยาประคบเส้นตึง เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดได้ที่
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โทร.0-3721-1289