ไลฟ์สไตล์

"ตุ้มโฮม" ร่วมสืบสานศิลป์ถิ่นอีสาน

"ตุ้มโฮม" ร่วมสืบสานศิลป์ถิ่นอีสาน

09 ก.ค. 2552

หากจะกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ เชื่อว่าหนึ่งในหลายตัวเลือกของทุกคนคงต้องมีศิลปะทางภาคอีสานรวมอยู่ด้วย เพราะดินแดนแห่งนี้ถือได้ว่ามีศิลปวัฒนธรรมที่เด่นและหาชมได้ยากไม่แพ้ภาคอื่นๆ เลย โดยเฉพาะการร้องและการฟ้อนรำ ที่มีสำเนียงภาษาและ

 โดยเฉพาะบรรยากาศริมแม่น้ำมูล ภายในหมู่บ้านค้อใต้ จังหวัดอุบลราชธานี เต็มไปด้วยแสง สี เสียงดังกระหึ่ม และเหล่าผู้ที่แสดงตัวน้อยๆ  แต่มากไปด้วยความสามารถในการแสดง ซึ่งสามารถเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ได้อย่างสบายๆ และไม่ใช่เฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น ยังมีการแสดงที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดนครพนม จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นที่มาของชื่อโครงการ "อีสานตุ้มโฮม มาระมาโรม สื่อพื้นบ้านสานสุข" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิญชวนให้เยาวชนหันมาทำกิจกรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และเพื่อหากิจกรรมให้น้องๆ ได้ฝึกทักษะ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบไปนั่นเอง

 ก่อนการแสดงของน้องๆ จะเริ่มขึ้น ฉันถือโอกาสเยี่ยมชมตลาด "สาวตะเกียงน้อย" ซึ่งมักจะจัดขึ้นในงานบุญประเพณีของอีสาน หรือ งานหมอลำ ประดับประดาไปด้วยโคมไฟหลากสีสันเต็ม 2 ข้างทาง โดยจะมีแม่ค้าหน้าตาจิ้มลิ้ม ยกขบวนปูเสื่อตั้งแผงขายของ อาทิ กล้วยปิ้ง ไข่ต้ม ข้าวโป่ง ฯลฯ อีกทั้งภายในงานยังมีซุ้มที่น้องๆ จากจังหวัดใกล้เคียงมาสาธิตการสานปลา การแสดงผลงานทางด้านศิลปะมากมาย รวมไปถึงยังมีบริการนวด เพื่อคลายความเมื่อยล้าจากการเดินชมงานอีกด้วย

 บรรยากาศน่ารักๆ และน่าอบอุ่น ยังคงลอยอวลอยู่ทั่วบริเวณงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาอาหารข้าวเย็น เนื่องจากทั้งชาวบ้านและเหล่าอาคันตุกะล้อมวงนั่งเปิบข้าวเหนียว ท่ามกลางการแสดงเริ่มต้นด้วย ร้องเพลงโคราช ซึ่งเป็นการร้องโดยไม่มีเครื่องดนตรี แต่มีจังหวะในการร่ายรำประกอบแทน โดยจะมีหมอเพลง ชาย-หญิง อย่างละ 2 คน ร้องโต้ตอบกันไปมา เป็นที่สนุกสนานของทั้งผู้ร้องและผู้ฟังกันเลยทีเดียว

 ตามติดมาด้วย กันตรึมวัยใส ซึ่งเดินทางมาร่วมกว่า 200 กิโลเมตรจากจังหวัดสุรินทร์ เพื่อมาโชว์ความสามารถที่หาชมไม่ได้ง่ายๆ ต้องยอมรับว่าฉันนึกภาพของการแสดงนี้ไม่ออกเลยจริงๆ คิดไม่ออกว่าจะออกมาเป็นแบบไหน แต่เมื่อได้ดูแล้วต้องทึ่งในความสามารถ ซึ่งเริ่มเรียกสารหลั่งความสุขในช่วงแรกด้วยการร้องในจังหวะช้าๆ แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนจังหวะเป็นเร็วขึ้น เรียกว่า ผู้ที่ฟังที่ชมโชว์ชุดนี้ไม่มีใครแสดงท่าทีง่วงนอนกันเลยสักคนเดียว

 แล้วมาถึงคิวการแสดง "ฮูปแต้ม" ของนักศึกษาจากจังหวัดมหาสารคาม ที่ก็ทำให้หลายคนรวมถึงฉันออกอาการงง หลังจากสิ้นเสียงโฆษก เพราะน้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อนี้ จนเมื่อได้รับการอธิบายว่า "ฮูปแต้ม" แท้จริงเป็นภาษาที่ใช้เรียกจิตรกรรมฝาผนังประดับอยู่ตาม "สิม" หรือ "อุโบสถ" นั่นเอง สำหรับแสดงครั้งนี้ น้องๆ ได้นำเอามาผนวกกับ การแสดงละครหุ่นเงา ผ่านเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งมีแค่กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีเพียงชิ้นด้วย แต่อาศัยความสามัคคีเป็นหลัก จังหวะและน้ำเสียงที่ถ่ายทอดออกมา บอกได้คำเดียวว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องที่เร้าใจ ยิ่งช่วยเสริมให้การแสดงดูน่าติดตามยิ่งขึ้น

 ขณะที่การแสดง โปงลางอีสานโฮแซว หมอลำน้อยจากบ้านค้อใต้ ก็ทำหน้าที่ทั้งเจ้าภาพและเจ้าถิ่นได้น่ารักไม่ยิ่งหย่อนกว่าศิลปินบ้านอื่นๆ เพราะมีนางรำที่เป็นเด็กตัวน้อยๆ ที่มีท่วงท่าการร่ายรำที่พร้อมเพรียงกันมาก

 การแสดงที่สืบทอดกันมาแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งมีมาแต่โบราณ บวกกับการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ช่วยส่งให้การแสดงชุด รำของเก่าเผ่าโส้ และ โส้ทั่งบั้ง ประจำหมู่บ้านโพนจาน จังหวัดนครพนม  จากฝีมือการร่ายรำของนักเรียนจากโรงเรียนกุสุมาลวิทยาคม จังหวัดสกลนคร ดูน่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะมีจังหวะและการร่ายรำที่ดูมีจังหวะจะโคน จนได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านวัฒนธรรมเผ่าไทโส้" ซึ่งเดิมทีผู้แสดงมักจะเป็นกลุ่มแม่บ้านนั่นเอง

 ตบท้ายด้วยไฮไลท์ที่ผู้ร่วมงานทุกคนต่างเฝ้าคอยอย่างใจจดจ่อ นั่นคือ หนังบักตื้อ หรือตะลุงอีสาน เรื่อง สินไซ ตอน สินไซปราบมาร จากบ้านดงบัง จังหวัดมหาสารคาม น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ภาคอีสานของประเทศเราก็มีหนังตะลุงเช่นเดียวกับพื้นที่ทางภาคใต้ ถึงแม้สำเนียงภาษาที่ใช้จะแตกต่างกัน แต่ฉันคิดว่ายังไงก็เป็นสิ่งที่ควรจะอนุรักษ์ไว้คู่กับคนไทยเหมือนกัน

 มาถึงตอนนี้บอกได้เลยว่ารู้สึกภูมิใจยิ่งนัก ที่ประเทศไทยจะมีศิลปวัฒนธรรมสืบสานต่อไปคู่กับคนไทยอย่างไม่มีที่วันสูญหาย ผ่านทางเยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการส่งต่อให้แก่เยาวชนรุ่นหลังต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เรื่อง... "อรพินท์ ศรีธร"