ไลฟ์สไตล์

นั่งรถม้าเรียนรู้ความเป็นมาถิ่นล้านนา

นั่งรถม้าเรียนรู้ความเป็นมาถิ่นล้านนา

27 พ.ย. 2557

ศิลปวัฒนธรรม : นั่งรถม้าเรียนรู้ความเป็นมาถิ่นล้านนา

 
                หากพูดถึงเมืองลำปาง เปรียบเสมือนเส้นทางผ่านที่ใช้เดินทางสู่เมืองเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวยอดฮิต นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แวะลำปางเพื่อไปวัดพระธาตุลำปางหลวงวัดคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัด แล้วมุ่งหน้าเดินทางไปเชียงใหม่ต่อ น้อยคนนักที่ตั้งใจเข้าไปสัมผัสเมืองนี้อย่างจริงจัง สำหรับฉันเองรู้จักลำปางแค่เพียงผิวเผินจนเมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวของลำปางมากขึ้นกับการได้ร่วมทริป "บินนก นั่งรถม้า หลั่นล้าลำปาง" เปิดตัวเที่ยวบินกรุงเทพ-ลำปาง กับสายการบิน "นกแอร์" ที่เปิดเที่ยวบินทุกวันในช่วงเช้าจากดอนเมืองและกลับจากลำปางเข้าดอนเมืองในช่วงเย็น จึงได้รู้ว่าที่นี่มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะวัดที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดลำปางบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของถิ่นล้านนาได้อย่างชัดเจน
 
                หลังเหินฟ้ามากับเครื่องบินใบพัดรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาบินจากดอนเมืองถึงลำปางเพียงชั่วโมงนิดๆ จุดมุ่งหมายแรกคือ "วัดพระธาตุลำปางหลวง" โดยทริปนี้ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังอย่างเป็นกันเอง โดยวัดนี้มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ผนวกกับมีโบราณสถานที่หาชมได้ยาก (ซึ่งถ้าเล่าทั้งหมดหน้านี้คงไม่พอ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจึงเล่าให้ฟังคราวๆ ว่า วัดนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และเป็นวัดที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ มีสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม รวมไปถึงประติมากรรม และจิตรกรรม อย่างโขงหรือประตูทางเข้าวัดนั้นก็มีการประติมากรรมลายปูนปั้นเฉพาะ ไล่เรียงไปถึงตำนานรอยกระสุนลูกปืนมีให้เห็นอยู่ที่องค์พระธาตุเจดีย์ ที่สำคัญวัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป
 
                "อย่าง ประตูโขง ที่เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณที่สวยงามก่ออิฐถือปูนทำเป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้น ๆ มีสี่ทิศ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น รูปดอกไม้ และสัตว์ในหิมพานต์และประตูโขงแห่งนี้ก็ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง และยังมี วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารบริวารตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์ เป็นวิหารเครื่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างและสัดส่วนงดงาม ภายในมีภาพเขียนสีโบราณที่เก่าแก่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 45 นิ้ว" ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีให้ความรู้
 
                จากนั้นไปต่อกันที่ "วัดไหล่หินหลวง"  หรือวัดเสลารัตนปัพพตาราม ซึ่งเป็นวัดที่ลดรูปแบบของวัดพระธาตุลำปางหลวงมาไว้ที่วัดนี้ มีการบูรณะเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยรัชกาลที่ 1 มีศิลปะปูนปั้น ตลอดจนการประดับลวดลายไม้ฉลุและแก้วสีต่างๆ มีซุ้มประตูโขงเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นงานประติมากรรมของช่างฝีมือเชียงตุง ที่มีการก่อสร้างพร้อมกับวิหารโบราณของวัด ลวดลายประติมากรรมที่ประดับอยู่บนซุ้มประตูโขงเป็นรูปสัตว์ต่างๆ อาทิ หงส์ นก มังกร นาค ตัวมอม เป็นต้น
 
                นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปเยือน "วัดศรีชุม"  ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปะแบบพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยในอดีตเมืองลำปางถือเป็นเมืองการค้าที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะการค้าไม้ เมื่อคนอังกฤษเข้ามาทำสัมปทานค้าไม้ได้จ้างคนพม่ามาเป็นแรงงานและคอยดูแลกิจการค้าไม้ นั่นเองจึงเป็นเหตุให้ชาวพม่าหลั่งไหลเข้ามาเมืองลำปางอย่างมาก พร้อมกับสร้างเนื้อสร้างเนื้อตัวจนร่ำรวยมีกิจการค้าไม้เป็นของตัวเอง จนสร้างวัดรวมทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในแบบพม่า  แม้กระทั่ง "บ้านเสานัก" ซึ่งเป็นบ้านของคหบดีชาวพม่าที่มีลูกหลานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันและเป็นต้นตระกูลของเศรษฐีในภาคเหนือ
 
                รุ่งของอีกวันเราเริ่มด้วยการเดินเล่นที่ย่านเมืองเก่าของลำปาง "ชุมชนกาดกองต้า" บริเวณนี้ในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าด้วยเป็นชุมชนที่ติดกับแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำวัง จึงมีทั้งคนจีนที่มาทำธุรกิจค้าขาย รวมถึงคนพม่าที่มาทำธุรกิจค้าไม้ บ้านเรือนจึงเป็นการผสมผสานแบบห้องแถว และบ้านหลังใหญ่ที่มีฉลุลายแบบพม่า รวมไปถึงแบบไทยภาคกลาง และเรือนล้านนา ยิ่งเดินเรื่อยๆ ไปจะเห็นสะพานเก่าแก่ของเมือง สะพานรัษฎาภิเษก และเมื่อไปลำปางแล้วหนึ่งสถานที่ไม่ควรพลาด คือ "วัดพระแก้วดอนเต้า" หรือวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม โดยมีตำนานเล่าขานมาว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) และนำมาถวาย พระเถระจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ พอๆ กับการสร้างวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติล้านนา และวิหารพระเจ้าทองทิพย์
 
                เอาเป็นว่าจบทริปนี้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เพิ่มมาอีกมากโข...และเชื่อว่านับจากนี้จังหวัดลำปางจะไม่เป็นเพียงทางผ่านอีกต่อไป