
เส้นเลือดหัวใจตีบโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
26 พ.ย. 2557
ดูแลสุขภาพ : เส้นเลือดหัวใจตีบโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ถ้ากล่าวถึงโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย ก็คือ “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” ที่นับวันจะพบโรคนี้ในคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการรีบเร่งในการทำงาน อาหารการกิน ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด การสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเกิน ตลอดจนการมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมันสูง ล้วนนำไปสู่การเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ตลอดจนการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน หรือ “หัวใจวาย” ได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้น มาจาก 2 ปัจจัยด้วยกันคือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งมักเกิดจากพฤติกรรมหรือนิสัยเฉพาะบุคคลจนทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด ความอ้วน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพและการเกิดโรคหัวใจ และ 2. ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น กรรมพันธุ์ หรือประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
“ปัจจุบันคนไทยเริ่มเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอายุน้อยลงเรื่อยๆ เฉลี่ย 30-40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และคนที่สูบบุหรี่จัด ทำให้เป็นปัญหาเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรงมากสุด”
อาการของโรคที่มักพบในคนไข้ได้บ่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วคนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ น้ำท่วมปอด เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะไม่มีสัญญาณเตือนว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจมาก่อน
หลังจากนั้นพบแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการ ตั้งแต่การซักถามประวัติสุขภาพของคนไข้ และการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยระบุได้ว่า คนไข้เป็นโรคหัวใจ หรือกำลังจะเริ่มเป็นโรคหัวใจเบื้องต้นได้
นอกจากนั้น ยังมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาหลอดเลือดและโรคหัวใจ เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป เช่น การเดินสายพาน การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงการตรวจโดยใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือดและไหลเข้าสู่หัวใจ ตลอดจนการตรวจสวนหัวใจ โดยการใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าทางเส้นเลือดที่ขาหนีบ ผ่านไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจและหลอดเลือด
ส่วนในการรักษาผู้ป่วยที่เส้นเลือดหัวใจตีบนั้น การรักษาโรคหัวใจมีอยู่หลายวิธี แต่แพทย์จะใช้ปัจจัยหลายๆ ข้อมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าควรใช้วิธีใดในการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด โดยกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบตันไม่มากนัก ก็จะใช้วิธีการรักษาโดยการใช้ยา
แต่สำหรับคนไข้ที่กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันแพทย์อาจจะให้การรักษาทั้งสองวิธี คือ วิธีการแรก เป็นการให้ยาฉีดละลายลิ่มเข้าทางหลอดเลือดดำ และวิธีการที่สอง คือ การใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งวิธีการรักษานี้จะมีความปลอดภัยสูงและอัตราเสี่ยงน้อย นับเป็นเทคโนโลยีการรักษาใหม่ล่าสุดในยุคนี้
“แต่ถึงอย่างไรโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน ก็เป็นโรคอันตรายถึงแก่ความตายได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือ ทุกคนควรป้องกันตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ให้เป็นโรคประจำตัวบางโรคที่มีผลให้มีหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน แต่ควรออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่
แม้โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ จะเป็นร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ทุกคนสามารถป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของตัวเองได้ไม่ยาก
นพ.ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์
สาขาอายุรกรรมทั่วไป สาขาอายุรกรรมโรคหัวใจ
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์