
อยากได้บำเหน็จดำรงชีพใช้ก่อนตาย
25 พ.ย. 2557
เปิดซองส่องไทย : อยากได้บำเหน็จดำรงชีพใช้ก่อนตาย : โดย...ลุงแจ่ม
ผมมีเรื่องขอรบกวนลุงแจ่มช่วยเป็นสื่อกลางด้วย เรื่องเป็นดังนี้ต่อไปนี้ คือว่าผมเป็นข้าราชการบำนาญ อายุ 73 ปีแล้ว สังกัดกระทรวงคมนาคม ผมอยากจะใช้สิทธิรับบำเหน็จดำรงชีพที่ทางการจ่ายให้ 15 เท่าของเงินบำนาญมาใช้จ่ายก่อนตาย
ผมจึงโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงคมนามคม ทางปลายสายแจ้งว่า ต้องนำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับครอบครัวของผม รวมทั้งสำเนาใบมรณบัตรของบิดา-มารดา ของผู้รับบำนาญมาด้วย และต้องไปติดต่อที่กระทรวงคมนาคมด้วยตัวเอง หรือไม่ก็ให้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางว่าเงินที่ต้องการขอนั้นจะได้เป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำแบบไหน กรมบัญชีกลางอยู่ไหน เบอร์โทรอะไรผมก็ไม่รู้จัก ผมจะติดต่อกับกรมบัญชีกลางได้อย่างไร
และปัญหาของผมมันอยู่ที่ว่า บิดา-มารดา ของผมเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้ว จะไปหาเอกสารที่ไหนได้ และคนสมัยก่อนก็ไม่ค่อยได้ทำบัตรประชาชน และต้องไปติดต่อด้วยตนเองนั้นยิ่งหนักใหญ่เลย ผมเป็นแค่ข้าราชการบ้านนอกอยู่ต่างจังหวัดทั้งชีวิต รู้จักแต่คำว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ สถานที่อยู่ถนน ตรอก ซอยไหน ผมก็ไม่รู้จักเพราะไม่เคยไป
ถ้าผมหาเอกสารดังกล่าวไม่ได้ ผมคงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินหรือ รวมทั้งจะจ่ายให้อีก 15 เท่าหลังผมตายซึ่งจะจ่ายให้ทายาท ก็คงจะไม่ได้เช่นกัน นี่ขนาดผมยังมีชีวิตอยู่ ยังยุ่งยากเพียงนี้ ถ้าผมตายไป ทายาทจะไปใช้สิทธิเรียกร้องจากที่ไหน และที่ใด
จึงอยากขอความกรุณาลุงแจ่มช่วยเป็นสื่อไปถึงผู้มีอำนาจ ให้ลดเงื่อนไขลงบ้าง เช่น ยกเลิกใบมรณบัตร ของบิดา-มารดา ของผู้รับบำนาญ และต้องมาติดต่อขอรับที่กระทรวงคมนาคม เปลี่ยนเป็นให้ส่งเอกสารต่างๆ ทางไปรษณีย์ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องลงมาติดต่องานที่กรุงเทพฯ และให้ผู้มีอำนาจช่วยเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของผู้รับบำนาญที่จะต้องใช้สิทธิ เช่น ถ้ารับบำนาญเสียชีวิต ทายาทจะใช้สิทธิ์รับเงินจากที่ไหน เพราะผู้รับบำนาญทราบแต่ว่าเมื่อเสียชีวิตทางการจะจ่ายเงินงวดสุดท้าย 30 เท่าของเงินบำนาญ ทราบเท่านี้จริงๆ ถ้าท่านเผยแพร่เอกสารเหล่านี้ทางสื่อได้จะเป็นประโยชน์กับข้าราชการบำนาญทุกคน
นักบำนาญ 73
ตอบ
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงว่า กรณีของผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นผู้รับบำนาญในสังกัดกระทรวงคมนาคม หากประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพให้ไปยื่นแบบแสดงความประสงค์ขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ ต่อส่วนราชการผู้ขอด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
และกรอกรายการในหนังสือรับรองและขอเบิกบำเหน็จดำรงชีพ (แบบ สรจ.3) พร้อมแนบสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งผู้รับบำนาญได้รับรองสำเนาถูกต้องแล้ว
กรณีนี้ผู้ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานเกี่ยวกับใบมรณบัตรของบิดา-มารดาแต่อย่างใด สำหรับกรณีผู้รับบำนาญเสียชีวิต ทายาทผู้มีสิทธิรับเงินต้องใช้เอกสารอะไรบ้างในการยื่นเพื่อขอรับบำเหน็จตกทอด
ผู้ร้องเรียนสามารถติดต่อสอบถามไปยังกระทรวงคมนาคมได้โดยตรง หรือสอบถามกรมบัญชีกลาง สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ หมายเลขโทรศัพท์ 02-127-7000 ซึ่งยินดีที่จะให้รายละเอียดแก่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่สนใจได้ตลอดเวลา
ลุงแจ่ม
ทำผิวถนนลดช่องทางจราจร
ผมขอร้องเรียนกรมทางหลวง เนื่องจากผมเป็นผู้ใช้บริการทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) เป็นประจำทุกวัน ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง คือ ช่วงขาออกระหว่าง สุขสวัสดิ์ ถึงด่านพระรามสอง มีการทำผิวถนนใหม่
และมีการลดช่องจราจรจาก 4 เลนลดเหลือเพียง 3 เลนเท่านั้น ทำให้รถที่วิ่งไม่คล่องตัวเหมือนแต่ก่อน จึงอยากให้กรมทางหลวงพิจารณาว่าการทำถนนนั้น มีแต่เขาจะเพิ่มช่องการจราจรเพื่อให้รถวิ่งได้มากขึ้น และมีความสะดวกเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีใครเขาทำถนนเพื่อลดช่องการจราจรเพื่อให้รถวิ่งได้น้อยลงกัน
ทุกวันนี้หน้าด่านพระรามสองก็ติดกันยาวอยู่แล้ว ยังมาลดช่องการจราจรบนถนนอีก เป็นนโยบายที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่เลย ผมจึงอยากฝากให้กรมทางหลวงช่วยนำไปพิจารณาใหม่ด้วยว่าสมควรลดช่องการจราจรหรือไม่ และเพราะอะไรถึงได้ลดช่องการจราจรลง เพราะช่องทางเดินรถลดลงจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจราจรติดขัดหนาแน่นเป็นอย่างมาก ยิ่งเวลาเร่งด่วนต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะผ่านเส้นทางสายนี้ วอนกรมทางหลวงช่วยเร่งแก้ไขให้ด่วนด้วย
ประพจน์
ตอบ
สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง ชี้แจงว่า เนื่องจากเดิมถนนบางพลี-สุขสวัสดิ์ ดังกล่าว มี 4 ช่องจราจร แต่ไม่มีไหล่ทาง เวลารถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ จึงไม่มีที่พักรถอย่างปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อการจราจรและอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
เพราะที่ผ่านมาในบริเวณดังกล่าวมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง เนื่องจากมีรถเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการทำผิวจราจรขึ้นใหม่ โดยเพิ่มไหล่ทางมา 2.5 เมตร เพื่อเป็นที่พักรถเวลารถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้การดำเนินการดังกล่าวจะสอดคล้องกับถนนที่มาจากด้านบางนาอีกด้วย
ลุงแจ่ม
ฟ้องหย่าเมีย
ผมมีเรื่องร้อนใจอยากทราบครับ คือว่า แต่งงานอยู่กินกับภรรยามาได้ 12 ปี มีลูกด้วยกัน 2 คน ภรรยาของผมรับราชการ ส่วนผมทำงานเอกชนครับ เรามีบ้าน มีรถยนต์ และที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีร่วมกัน และเป็นชื่อของเราทั้งสองคน ปัญหาของผมอยู่ที่ว่า ผมเพิ่งรู้ว่า ภรรยาของผมมีความสัมพันธ์กับเพื่อชายที่ทำงาน และคงเป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่ผมไม่ทราบเรื่องมาก่อน
เมื่อผมทราบเรื่องเลยทำให้เรามีปากเสียงกัน และภรรยาบอกว่า ต้องการจะหย่าจากผม ผมยังทำใจกับเรื่องนี้ไม่ได้ จึงออกจากบ้านมาอยู่บ้านแม่ของผมเอง ขณะนี้เราแยกกันอยู่มาได้ประมาณ 6 เดือนแล้วครับ โดยที่ผมยังไปหาลูกทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ แต่ผมไม่ได้ค้างที่บ้านนั้น พาลูกออกไปข้างนอก หรืออยู่ด้วยกันแล้วผมก็กลับในช่วงค่ำ
อยากทราบว่า ถ้าผมไม่หย่าให้ ภรรยาจะฟ้องหย่าผมได้ไหมครับ ผมมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรจากชายชู้บ้างไหมครับ แล้วถ้าต้องหย่ากันจริงๆ เรื่องทรัพย์สินจะทำอย่างไร
เอกภพ
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ชลธิชา สมสอาด คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำว่า ในกรณีนี้ตามกฎหมายแล้วภรรยาไม่มีสิทธิที่จะฟ้องหย่าคุณ เพราะเธอเป็นฝ่ายที่ไปมีชายอื่น แต่คุณก็ไม่ควรออกไปอยู่นอกบ้าน เนื่องจากว่า หากคุณออกไปอยู่นอกบ้านนานเกิน 1 ปี เธออาจฟ้องหย่าคุณ โดยอ้างเหตุของการทิ้งร้าง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อถึงเวลานั้น และมีการพิสูจน์พบว่า เหตุที่คุณต้องออกจากบ้านไปนั้น เป็นเพราะภรรยาไปมีชายอื่น ก็จะทำให้เธอไม่มีสิทธิในการฟ้อง ซึ่งทางที่ดีคุณกลับเข้าไปอยู่ที่บ้านจะดีกว่า
แต่ถ้าต้องหย่ากันจริงๆ คุณก็มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ชายคนนั้น ฐานเป็นชู้กับภรรยาของคุณ และการที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากชายชู้ได้ หมายความว่า คุณจะต้องฟ้องหย่าต่อภรรยาของคุณ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะดำเนินการหรือไม่ ส่วนเรื่องทรัพย์สินนั้น ถ้าจดทะเบียนสมรสกันกัน ทรัพย์สินที่หามาได้หลังจากแต่งงานก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง หรือ ถ้าให้สะดวกคือ ยกให้ลูกไปทั้งหมด ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะเอาอย่างไร และตกลงกับภรรยาได้หรือไม่
ลุงแจ่ม