ไลฟ์สไตล์

จากเด็กช่างสู่ธุรกิจปลาสวยงาม ผสมเทียม 'แฟนซีคาร์พ' ทำเงิน

จากเด็กช่างสู่ธุรกิจปลาสวยงาม ผสมเทียม 'แฟนซีคาร์พ' ทำเงิน

20 พ.ย. 2557

ทำมาหากิน : จากเด็กช่างสู่ธุรกิจปลาสวยงาม ผสมเทียม 'แฟนซีคาร์พ' ทำเงิน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                              ใครจะไปคิดว่าอดีตพนักงานช่างเครื่องโรงงานผลิตนม สหกรณ์โคนมหนองโพ จำกัด ที่พลิกผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ด้วยการทำฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงาม (ปลาคาร์พ) เริ่มจากการเพาะเลี้ยง (ขุน) ปลาตัวใหญ่และก้าวมาสู่การผสมเทียมปลาเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรในเครือข่ายเพื่อนำไปขุนต่อ ก่อนจะส่งจำหน่ายให้ลูกค้าที่าสนใจเลี้ยงปลาสวยงามต่อไป
 
                              สำหรับ ศักรินทร์ สินทะสุทธิ์ หรือที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่รู้จักในนาม "ครูต้อม" เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ประจำปี 2557 และเจ้าของฟาร์มปลาสวยงาม "เจอาร์ฟาร์ม" อยู่ที่ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม แต่หลังจากแต่งงานกับมณี ชื่นชมวรรณ์ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งที่บ้านมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดสวยงามอยู่ก่อนแล้ว โดยการรับซื้อลูกปลามาขุนต่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการก่อนที่จะส่งขายกลับคืนให้พ่อค้า
 
                              "ผมจบทางด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์ แล้วมาทำงานที่โรงงานโคนมหนองโพ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาหรือผสมเทียมปลามาก่อน แต่หลังจากแต่งงานฝ่ายภรรยาเขาเลี้ยงปลาอยู่แล้ว ก็เลยมาลองทำดู ตอนนั้นทำงานประจำด้วยแล้วก็ดูแลกิจการบ่อปลาของฝ่ายภรรยาไปด้วย ก่อนจะลาออกมาทำฟาร์มปลาอย่างเต็มตัว"
 
                              ศักรินทร์ย้อนอดีตที่มาหลังเห็นว่าการเลี้ยงปลาสวยงามมีรายได้ดี เริ่มจากทดลองเลี้ยงเพียง 1 บ่อ โดยซื้อลูกปลาทรงเครื่องมาเลี้ยง หลังจากขายปลาหมดแล้วทำให้ได้กำไร 125,000 บาท จึงเกิดกำลังใจและตั้งความหวังว่าจะต้องมีฟาร์มปลาสวยงามเป็นของตัวเองและหัดเพาะลูกปลาเองให้ได้ จากนั้นได้นำผลกำไรที่ได้มาลงทุนเช่าที่ดินพร้อมทั้งขุดบ่อปลาเพิ่มขึ้นอีก 10 ไร่ โดยแต่ละบ่อมีขนาด 1 ไร่และสั่งซื้อลูกปลามาลงเลี้ยง โดยเพิ่มปลาฉลามหางไหม้ และปลากาแดง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก 
 
                              ศักรินทร์ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นได้ไปเรียนรู้วิธีการเพาะปลาจากญาติที่เลี้ยงปลาสวยงาม เมื่อเพาะลูกปลาเป็นแล้ว ก็มาทดลองปฏิบัติด้วยตัวเองจนเกิดความชำนาญ ไม่ต้องสั่งซื้อลูกปลาจากคนอื่น ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ ได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนเช่าที่ดินเพิ่มอีก 10 ไร่ เพื่อขยายกิจการ จากนั้นได้ลงทุนเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ โดยสั่งซื้อลูกปลามาจากญี่ปุ่น เพราะเห็นลู่ทางของปลาแฟนซีคาร์พ น่าจะไปได้ดีกว่าปลาชนิดอื่นๆ 
 
                              "ผมได้ทดลองเพาะแฟนซีคาร์พ โดยดูจากวีดิทัศน์ ศึกษาจากหนังสือของกรมประมง พร้อมทั้งขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ประมงของศูนย์วิจัยพันธู์ปลาน้ำจืดราชบุรี จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมและสามารถผลิตลูกปลาที่มีสีสันสวยงามตามที่ตลาดต้องการได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งแบ่งบ่อที่เคยเลี้ยงปลาน้ำจืดสวยงาม มาทำการขุนปลาแฟนซีคาร์พแทน" 
 
                              ศักรินทร์เผยต่อว่า หลังจากผลิตลูกปลาแฟนซีคาร์พก็จะเพาะฟักจนมีอายุ 45 วัน จากนั้นก็จะจำหน่ายให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายขนาดความยาวตัวละ 1 นิ้ว ในราคาตัวละ 1 บาทเพื่อจะนำไปเลี้ยงต่ออีกประมาณ 90 วัน ก็จะได้ปลาแฟนซีคาร์พขนาดความยาว 3-4 นิ้ว จากนั้นจะพ่อค้าจะมารับซื้อตัวละ 4-10 บาทเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดต่อไป 
 
                              เจ้าของเจอาร์ฟาร์ม เผยอีกว่า ปัจจุบันเครือข่ายผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามมีการแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เพาะ กลุ่มผู้เลี้ยง กลุ่มผู้ขาย นอกจากนั้นแล้ว ยังได้รวมผู้เลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกของเครือข่ายด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายที่รับปลาไปเลี้ยงต่อ จำนวน 25 คน มีที่ดินรวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และยังมีสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเข้าร่วมฝึกอบรมและทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์วิจัยประมบน้ำจืดราชบุรีอยู่เป็นประจำ
 
                              นับเป็นอีกก้าวของเจอาร์ฟาร์มในการยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามให้ได้มาตรฐาน จนได้การรับรองมาตรฐานฟาร์ม ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมประมงกำหนด สนใจเยี่ยมชมเจอาร์ฟาร์มและเรียนรู้เทคนิคการเพาะเลี้ยง ผสมเทียมแฟนซีคาร์พ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2338-3356-7
 
 
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ทำมาหากิน : จากเด็กช่างสู่ธุรกิจปลาสวยงาม ผสมเทียม 'แฟนซีคาร์พ' ทำเงิน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)