ไลฟ์สไตล์

ต่อมลูกหมากโตคืออะไร

ต่อมลูกหมากโตคืออะไร

05 พ.ย. 2557

ดูแลสุขภาพ : ต่อมลูกหมากโตคืออะไร

 
                            ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในผู้ชาย โดยอยู่คู่กับผู้ชายทุกคนมาตั้งแต่เกิด ต่อมลูกหมากอยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ และสารพีเอสเอ (PSA ; prostate specific antigen) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำอสุจิไม่เกาะกันเป็นก้อนเหนียวข้น เนื้องอกของต่อมลูกหมากจะโตเริ่มพบได้หลังอายุ 40 ปี แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัง 50 ปีไปแล้ว อุบัติการณ์การพบเนื้องอกของต่อมลูกหมากจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น และเป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ ในชายที่มีอายุ 60-69 ปี พบได้มากกว่าร้อยละ 50 และในผู้ที่มีอายุระหว่าง 70-89 ปี จะพบประมาณร้อยละ 90 ชายที่มีเนื้องอกต่อมลูกหมากเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ประสบปัญหาเดือดร้อนจากอาการของต่อมลูกหมากโต
 
                            เนื้องอกของต่อมลูกหมากโตมาจากต่อมลูกหมากบริเวณที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะ (transition zone และ periurethralglandular tissue) กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ในขณะที่มะเร็งของต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะมาจากต่อมลูกหมากทางด้านหลังที่อยู่ติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (peripheral zone)
 
 
 
สาเหตุที่แน่ชัดไม่มีใครทราบ แต่คิดว่าเกิดจาก
 
                            - อายุมากขึ้น พบว่าชายที่อายุ 51-60 ปี มีอุบัติการณ์ของต่อมลูกหมากโต 50% หากอายุถึง 80 ปี อุบัติการณ์เกือบถึง 100%
 
                            - ฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ส่วนใหญ่จากลูกอัณฑะ ส่วนน้อยจากต่อมหมวกไต ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมน  Dihydrotestosterone (DHT) โดยเอ็นไซม์ 5-Alpha Reductase (5-อัลฟ่ารีดักเตส) ในต่อมลูกหมาก สารเหล่านี้จะกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น
 
 
 
อาการของต่อมลูกหมากโต
 
                            1. ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ปวดปัสสาวะบ่อย จนบางครั้งก็ราดก่อนถึงห้องน้ำ
 
                            2. ปัสสาวะไม่ค่อยออกต้องรอนาน
 
                            3. ปัสสาวะนานกว่าจะหมด
 
                            4. ปัสสาวะไม่พุ่งปัสสาวะอ่อนลง
 
                            5. กะปริบกะปรอยถ่ายๆ หยุดๆ หลายครั้ง
 
                            6. ปัสสาวะไม่สุดยังเหลือตกค้าง
 
                            7. บางครั้งมีอาการอักเสบร่วมด้วย ทำให้มีปัสสาวะปวดแสบ
 
 
 
ผลแทรกซ้อน
 
                            1. ปัสสาวะมีเลือดออก เพราะเส้นเลือดแตก เนื่องจากแรงเบ่ง
 
                            2. ปัสสาวะไม่ออก
 
                            3. มีการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะ
 
                            4. เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
 
                            5. มีนิ่วเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ
 
                            6. มีถุง (หรือกระพุ้ง) ยื่นออกจากกระเพาะปัสสาวะ
 
                            7. ไตเสื่อม
 
                            8. เกิดไส้เลื่อนหรือริดสีดวงทวารได้ เนื่องจากออกแรงเบ่งปัสสาวะบ่อยๆ
 
 
 
การวินิจฉัยโรค
 
                            1. ซักประวัติและถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มเป็น
 
                            2. แพทย์จะทำการตรวจทวารหนัก เพื่อคลำดูว่าต่อมลูกหมากโตมากน้อยเพียงใด
 
                            3. การใช้แบบสอบถามอาการ โดยคิดออกมาเป็นคะแนน
 
                            4.ปัสสาวะใส่เครื่องดูความแรงและปริมาตรของน้ำปัสสาวะ และตรวจดูน้ำปัสสาวะว่ามีเหลือในกระเพาะปัสสาวะเท่าใด
 
                            5. การส่องกล้องดูทางท่อปัสสาวะเพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตจริงหรือไม่ และดูว่ามีผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะด้วยหรือไม่ เช่น นิ่ว
 
                            6. การตรวจโดยใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อวัดขนาด และดูลักษณะของต่อมลูกหมาก
 
                            7. การเจาะเลือดดูพีเอสเอ เพื่อช่วยแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
 
 
 
การรักษา 
 
                            จุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้เหมือนปกติ วิธีการรักษา 4 วิธี คือ
 
                            1.การรักษาแบบประคับประคอง ใช้ในกรณีมีอาการไม่มาก และไม่มีอาการแทรกซ้อน
 
                            2.การใช้ยา ยารักษาต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมี 2 ชนิด
 
                            ก.ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก ทำให้อาการดีขึ้น ได้แก่ กลุ่มยาต้าน อัลฟ่า
 
                            ข.ยาที่ลดขนาดต่อมลูกหมาก ได้แก่ กลุ่มยาต้านเอ็นไซม์ 5 - อัลฟ่า รีดักเตส โดยยาจะไปยับยั้งที่สาเหตุ คือ เอ็นไซม์ 5 - อัลฟ่า ทำให้ DHT ลดลง จะมีผลทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลง อาการปัสสาวะขัดดีขึ้น
 
                            3.การผ่าตัด ใช้ในรายที่มีอาการมาก เดือดร้อนมาก หรือมีผลแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาข้างต้น การผ่าตัดมีหลายชนิด แต่วิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การใส่เครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะ และตัดต่อมลูกหมากออกทางท่อปัสสาวะด้วยไฟฟ้า วิธีนี้เรียกว่า Transurethral Resection of the Prostate (TURP) วิธีการนี้มีการสูญเสียเลือดบ้างอาจจะต้องให้เลือดในบางราย หากต่อมลูกหมากใหญ่มากก็ต้องใช้วิธีการผ่าตัดป่านหน้าท้องเหนือหัวเหน่า จากนั้นแพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก
 
                            4.การรักษาวิธีอื่น หลักการเพื่อให้เกิดความร้อนต่อเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก เช่น การใช้ความร้อนที่ได้จากไมโครเวฟ (MICROWAVE) คลื่นวิทยุ (RADIO-FREQUENCY) คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ (ULTRASOUND) หรือเลเซอร์ (LASER) เป็นผลให้ต่อมลูกหมากเหี่ยวเล็กลง ทำให้ท่อทางเดินปัสสาวะกว้างขึ้น การรักษาวิธีนี้ มีข้อดีและข้อเสีย จึงควรให้ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเป็นผู้พิจารณา
 
 
 
 
 
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยา