ไลฟ์สไตล์

ปวดไหล่…บ่งบอกโรคเอ็นหุ้มไหล่อักเสบ?

ปวดไหล่…บ่งบอกโรคเอ็นหุ้มไหล่อักเสบ?

29 ต.ค. 2557

ดูแลสุขภาพ : ปวดไหล่…บ่งบอกโรคเอ็นหุ้มไหล่อักเสบ?

 
ท่านมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ?
 
 
                          - ปวดไหล่เป็นๆ หายๆ 
 
                          - ยกแขนทำงานเมื่อไหร่ปวดทุกครั้ง
 
                          - ปวดมากตอนกลางคืน นอนตะแคงหรือทับไหล่ข้างนั้นไม่ได้
 
                          - ยกแขน / ไหล่ได้ไม่สุด
 
                          - ยกแขนได้ แต่พอแขนลงแล้วเจ็บมาก ไม่สามารถปล่อยแขนลงช้าๆ ได้
 
                          - อาการเหล่านี้เป็นอาการแสดงของโรคเอ็นหุ้มไหล่อักเสบ  (Rotator cuff) ซึ่งพบได้ทั้งวัยทำงานและผู้สูงอายุ
 
 
วัยทำงาน (30-50ปี):
 
 
                          มักเกิดจากการทำงานที่ต้องใช้แขนทำงานเหนือศีรษะ ยกของขึ้นลงในที่สูง เล่นกีฬาเป็นประจำ เช่น  แบดมินตัน เล่นกล้าม การนอนยกแขนเอามือหนุนท้ายทอย หรือการทำงานบ้านที่มีการยกแขนสูงๆ กวาดแขนไปมา เช่น การกวาดหยากไย่ การเช็ดถูกระจก เป็นต้น
 
 
 
วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป):
 
 
                          เนื่องจากอายุที่มากขึ้น คุณภาพของเอ็นหุ้มไหล่ ไม่ได้มีความเหนียวและยืดหยุ่นง่ายเหมือนแต่ก่อน เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น การล้มเอาไหล่กระแทกพื้นเบาๆ เพียงครั้งเดียว  ก็อาจทำให้เอ็นหุ้มไหล่ขาดได้หรือจากการทำงานที่สะสมมาตั้งแต่วัยทำงาน เอ็นหุ้มไหล่ก็มาหมดสภาพเอาตอนสูงวัยได้
 
 
 
สิ่งที่ควรทำ : 
 
 
                          ไม่ควรปล่อยให้ปัญหานี้เป็นเรื้อรัง ถ้าเอ็นหุ้มไหล่อักเสบนานๆ ก็จะมีปัญหาไหล่ติด (Secondary frozen shoulder) ซึ่งใช้เวลาในการรักษานาน 1-2 ปี  ถ้าปล่อยไว้นานจนเอ็นหุ้มไหล่ขาด แล้วไม่รักษา กล้ามเนื้อที่ต่อกับเอ็นหุ้มไหล่นั้นก็จะฝ่อลีบไป ทำให้การรักษาเพื่อให้ไหล่นั้นกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมเป็นไปได้ยาก
 
 
 
การรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการ และสภาพของเอ็นหุ้มไหล่ ได้แก่ 
 
 
                          1.รับประทานยาแก้อักเสบ 
 
                          2.การทำกายภาพบำบัด
 
                          3.การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเอ็นหุ้มไหล่ฉีกขาด
 
                          4.ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม กรณีที่เอ็นหุ้มไหล่ขาดเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อฝ่อลีบหรือมีการเสื่อมของข้อไหล่ไปมาก
 
 
                          หากท่านมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในโรงพยาบาล เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี หากปล่อยไว้จนเป็นปัญหาเรื้อรัง อาจจะทำให้ไหล่ของท่านไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
 
 
 
 
 
พญ.อุรารัตน์ อาภรณ์ชยานนท์
 
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา การผ่าตัดส่องกล้อง
 
โรงพยาบาล WMC (เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์) แจ้งวัฒนะ