ไลฟ์สไตล์

เครื่องเงินทำมือ 'ชมพูภูคา' ชูอัตลักษณ์ชนเผ่าม้ง-เมี่ยน

เครื่องเงินทำมือ 'ชมพูภูคา' ชูอัตลักษณ์ชนเผ่าม้ง-เมี่ยน

29 ต.ค. 2557

ทำมาหากิน : เครื่องเงินทำมือ 'ชมพูภูคา' ชูอัตลักษณ์ชนเผ่าม้ง-เมี่ยน : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์

 
                          "เครื่องเงิน" เป็นเครื่องประดับที่มีมาแต่โบราณของชนเผ่าม้งและเมี่ยน ที่ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว และของฝากเลื่องชื่อเมืองน่าน โดยเฉพาะงานตอกลายด้วยมือที่ประณีตมีส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่ามาตรฐานของค่าย "ชมพูภูคา" ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้กำลังการผลิตมีไม่เพียงพอ จึงเร่งพัฒนาช่างฝีมือรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพของชาวเขาน่านสืบไป
 
                          โสภา วรรณวิภูษิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทชมพูภูคา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับเงินรายใหญ่ จ.น่าน กล่าวถึงที่มาธุรกิจเครื่องประดับเงินว่า เริ่มจากคนเผ่าม้งและเมี่ยนใน จ.น่าน ได้ผลิตเครื่องประดับเงินจำหน่าย แต่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางอยู่เสมอ ทำให้ปี 2536 กลุ่มผู้ประกอบการเครื่องเงินและช่างทำเงินชาวเขา ได้รวมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มชื่อ “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา” เพื่อเป็นศูนย์กลางรับซื้อ ผลิต จำหน่ายสินค้าเครื่องประดับเงินฝีมือของชาวเขาใน จ.น่าน
 
                          "ศูนย์ตั้งมา 21 ปี นอกจากเป็นแหล่งรับซื้อ ผลิต จำหน่ายเครื่องเงินแล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเครื่องเงินเพื่อเผยแพร่ศิลปะเครื่องเงินให้ผู้ที่สนใจด้วย และมีพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินขนาดย่อมให้นักท่องเที่ยวได้ชม ภายใต้แนวคิดของศูนย์ที่ว่า จะร่วมกันสืบสานศิลปะการทำเครื่องเงินชาวเขาให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน"
 
                          สำหรับสินค้าของศูนย์มีความหลากหลาย ทั้งกำไล สร้อยคอ เข็มขัด นาฬิก สร้อยข้อมือ แหวน ฯลฯ และของโชว์ต่างๆ ราคาตั้งแต่ 50 บาท ถึงกว่า 3 แสนบาท โดยเครื่องเงินที่มีราคาสูงจะเป็นประเภทของโชว์ เช่น บ้านทรงไทยโบราณ ช้าง และเรือสำเภา เป็นต้น
 
                          ด้านการตลาด โสภา กล่าวว่า มี 2 ส่วน คือ 1.รับจ้างผลิต โดยมีลูกค้ารายใหญ่จากกรุงเทพฯ จะส่งวัตถุดิบเงินมาให้และศูนย์จะรับเหมาค่าจ้างในการผลิต และ2.เปิดหน้าร้านที่ จ.น่าน และเปิดร้านที่เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า กทม.รวมถึงมีลูกค้ารายย่อยจากเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ มาซื้อนำไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่งด้วย
 
                          "ทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด การตอกลายจะไม่เหมือนที่อื่น ลวดลายมีความประณีตสวยงามเลียนแบบได้ยาก อีกทั้ง สินค้าของศูนย์ได้รับการตรวจวัดคุณภาพแล้วพบว่า มีธาตุเงินผสมอยู่ในแต่ละชิ้นงานสูงถึง 94-98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าที่สากลกำหนดไว้ที่ 92.5 เปอร์เซ็นต์ ถือได้ว่าเป็นเครื่องเงินที่มีคุณภาพมากกว่ามาตรฐานในระดับโลก" โสภา กล่าวถึงจุดเด่นเครื่องเงินชมพูภูคา 
 
                          พร้อมยอมรับถึงสิ่งที่สร้างความกังวลในการทำธุรกิจเครื่องเงินขณะนี้ว่า เรื่องขาดแคลนช่างฝีมือที่ปัจจุบันศูนย์จะมีช่างกว่า 50 คน ทว่า ก็ไม่สามารถผลิตเครื่องเงินได้ทันกับความต้องการของลูกค้า เพราะทุกชิ้นงานเป็นงานแฮนด์เมดที่ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ก็ได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นมา แต่การพัฒนาช่างรุ่นใหม่ก็ค่อนข้างยาก เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อนใช้ความชำนาญสูง ซึ่งตอนนี้ก็มีการสนับสนุนให้ชาวเขาและคนพื้นเมืองน่านมาทดลองงานคงต้องพัฒนาและหาช่างรุ่นใหม่เตรียมขึ้นมาทดแทนช่างรุ่นปัจจุบันต่อไป
 
                          เครื่องประดับเงินของบริษัทชมพูภูคา นับเป็นสินค้าขึ้นชื่อระดับจังหวัดที่คงเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นของชาวเขาได้เป็นอย่างดี หากใครสนใจและเดินทางไปเที่ยวยังจังหวัดน่านสามารถแวะชมได้ที่ “ศูนย์ชมพูภูคา” โทร.0-5471-0177 หรือทางเฟซบุ๊ก “PHUKHA SILVER & ศูนย์เครื่องเงินชุมพูภูคา”
 
 
 
 
 
 
--------------------------
 
(ทำมาหากิน : เครื่องเงินทำมือ 'ชมพูภูคา' ชูอัตลักษณ์ชนเผ่าม้ง-เมี่ยน : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์)