ไลฟ์สไตล์

วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ใช้ 'ไอ้โง่' จับปลาเลี้ยงครอบครัว

วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ใช้ 'ไอ้โง่' จับปลาเลี้ยงครอบครัว

26 ต.ค. 2557

ท่องโลกเกษตร : สัมผัสวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ใช้ 'ไอ้โง่' จับปลาเลี้ยงครอบครัว : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล

 
                              หากเดินทางผ่านตามชายหาดตั้งแต่พื้นที่ ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จรดหาดเจ้าสำราญ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อมองไปยังท้องทะเลกว้างเบื้องไกลนั้นจะเห็นชาวประมงพื้นบ้านนับสิบๆ ราย ต่างกุลีกุจออยู่กับการกู้ "ไอ้โง่" หรือ "คอนโดจับปลา" เป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำค่อนข้างใหม่สำหรับชาวประมงใน อ.บ้านแหลม และ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่เพิ่งแพร่หลายเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ในห้วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา เครื่องมือชนิดนี้กลายเป็นปมแห่งความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่มประมงพื้นบ้านใน อ.บ้านแหลม และ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เนื่องเพราะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือมหันตภัยที่ล้างเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลได้ "ท่องโลกเกษตร คม ชัด ลึก" ตะลุยเมืองเพชร สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ อ.บ้านแหลม และ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่ใช้ไอ้โง่ในการจับสัตว์น้ำว่า แท้จริงเป็นอย่างไร 
 
                              "ไอ้โง่" หรือ "คอนโดดักปลา" เป็นอุปกรณ์ดักปลา ใช้วางดักปลาในน้ำ มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หุ้มด้วยตาข่ายไนลอนคล้ายๆ ลอบดักปลา แต่เอาหลายๆ อันมาวางเรียงกลับหัวกลับหาง ความยาวของ "ไอ้โง" หรือ "คอนโดดักปลา" อยู่ที่ขนาดและจำนวนลอบที่ใช้ทำ "ไอ้โง่" หรือ "คอนโดดักปลา" วิธีใช้จะใช้วางตามร่องน้ำ สามารถดักสัตว์น้ำได้ทุกชนิด ปัจจุบันการใช้ไอ้โง่กำลังได้รับความนิยม เพราะลงทุนและแรงงานน้อย เพียงเอาไปวางไว้ตามร่องน้ำ ถึงเวลาก็ไปเก็บกู้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนการทำประมงชนิดอื่น ทั้งเรืออวนลาก เรืออวนรุน ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์
 
                              ว่ากันว่า "ไอ้โง่" เดิมทีผู้ที่คิดและประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นอุปกรณ์หากินด้วยการจับปลาน้ำจืด การใช้ไอ้โง่มาดักปลา ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ต่อมาชาวประมงแถวภาคใต้นำไปใช้จับสัตว์น้ำทะเล และขยายพื้นที่มาทำประมงในทะเลในเขตน่านน้ำของ จ.เพชรบุรี ราว 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรกที่ชาวประมงนำไอ้โง่มาทำการประมง ปรากฏว่ามีรายได้ดี บางรายมีรายได้สูงถึงวันละ 1 หมื่นบาท  
 
                              ไกรวงศ์ ดังก้อง ชาวประมงพื้นบ้าน จากหมู่ 2 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม วัย 48 ปี อีกคนหนึ่งที่นำไอ้โง่มาดักปลา บอกว่า นำไอ้โง่ มาจาก จ.ปัตตานี มาจับปลาในพื้นที่ จ.เพชรบุรี มากว่า  2 ปีแล้ว ตอนแรกมีรายได้ดีมาก สามารถหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้สบาย แต่ระยะหลังจับปลาได้น้อยลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีรายได้จากการขายปลาที่จับได้วันละ 200-300 บาทเท่านั้น จึงคิดว่าการทำประมงแบบนี้ก็จะทำให้สัตว์ทะเลสูญพันธุ์ได้
 
                              จากการที่ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.เพชรบุรี ใช้ไอ้โง่ดักสัตว์น้ำทะเล และพบว่าระยะหลังทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งลดน้อยถอยลง จากที่เคยมีรายได้วันละหมื่นบาท เหลือวันละ 400-1,000 บาท  ทำให้ไอ้โง่กลายเป็นจำเลยในสายตาของชาวประมงกลุ่มอื่น มองว่า เป็นเครื่องมือมหันตภัยที่ล้างเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลอย่างเห็นได้ได้ชัด 
 
                              สุชาติ หอมสนิท กรรมการธนาคารปู ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ระบุว่า การที่ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนได้นำไอ้โง่มาทำการประมงในน่านน้ำทะเลเขตพื้นที่ จ.เพชรบุรี สามารถจับสัตว์น้ำได้ตั้งแต่สัตว์ใหญ่และสัตว์เล็ก รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วย ถือว่าเป็นเครื่องมือที่อันตราย ที่อาจตัดวงจรการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ โดยที่กฎหมายยังไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สัตว์น้ำในทะเลเกิดการสูญพันธุ์ จึงต้องการให้ทางราชการออกกฎหมายห้ามใช้ไอ้โง่หรือคอนโดดักปลา เพราะหากขืนปล่อยให้มีอุปกรณ์ชนิดนี้ทำการประมง อนาคตสัตว์ทะเลสูญพันธุ์แน่นอน เช่นเดียวกับ ชัยศักดิ์ ฤทัยเดช ชาวประมงพื้นบ้านวัย 58 ปี จาก ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ยืนยันว่า ไอ้โง่ เป็นอุปกรณ์การประมงที่ทำลายเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำจริง ที่เห็นชัดปูม้าลดน้อยลง 
 
                              ขณะที่ "ไอ้โง่ "หรือ"คอนโดดักปลา" กลายเป็นจำเลยของสังคมบางกลุ่มที่มองว่า เป็นอุปกรณ์จับปลาที่ทำให้ปลาสูญพันธุ์ แต่ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ไอ้โง่ในการทำมาหากิน กลับมองว่า อวนลาก อวนรุน ที่ชาวประมงพื้นบ้านอีกกลุ่มใช้อยู่ เป็นอุปกรณ์ที่ล้างเผ่าพันธุ์สัตว์ทะเลเหมือนกัน เหตุไฉนจึงไม่ตกเป็นจำเลย และทางราชการก็ยังอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงชนิดนี้ได้ 
 
                              วินัย ดังก้อง ชาวประมงวัย 50 ปี จากหมู่ 2 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม สะท้อนให้เห็นว่า การที่ใครๆ บอกว่า ไอ้โง่ หรือคอนโดดักปลาทำลายล้างเผ่าพันธุ์ปลา เขากลับมองว่า ไอ้โง่ทำลายเผ่าพันธุ์ปลาน้อยกว่าเครื่องมือประมงชนิดอื่น การร้องเรียนว่าไอ้โง่ ทำลายเผ่าพันธุ์เป็นเพียงข้ออ้าง ข้อเท็จจริงคือการใช้ไอ้โง่จับปลาไปขัดกับการประมงด้วยเครื่องมือชนิดอื่น เพราะการใช้ไอ้โง่จับปลานั้นต้องปล่อยแช่ทิ้งไว้ ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดอื่นไม่สามารถเข้ามาจับปลาได้ โดยเฉพาะอวนลาก หากลากอวนก็จะติดไอ้โง่ เลยโทษไอ้โง่ว่า เป็นตัวทำลายเผ่าพันธุ์ปลา 
 
                              "ผมอยากให้นึกถึงการจับปลาด้วยไอ้โง่ เราจะใช้วิธีวางไว้กับที่ ซึ่งอยู่สูงจากผืนดิน 1 คืบ ไม่ได้กวาดลากไปตามพื้น สัตว์น้ำที่เข้าไปแล้วมีบางส่วนหนีรอดออกมาได้ ผมจึงมองว่าการใช้อวนลาก และอวนรุน และการคราดหอยมีผลกระทบและล้างเผ่าพันธุ์สัตว์ทะเลมากกว่า" วินัย  ยืนยัน
 
                              ขณะที่ สีนาค พิมพ์พา วัย 40 ปี ชาวประมงพื้นบ้านจากหมู่ 2 ต.บางขุนไทร เช่นกัน บอกว่า เดิมทีประกอบอาชีพเก็บหอยแครงด้วยมือในพื้นที่อนุรักษ์หอยแครงธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ ต.บางขุนไทร -ปากทะเล อ.บ้านแหลม ที่ห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยแครง แต่อนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหอยแครงด้วยมือ ต่อมาได้มีเรือคราดหอยเข้ามาคราดหอยแครงในพื้นที่ จนหอยแทบสูญพันธุ์ ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมาได้ไปซื้อไอ้โง่มาจับปลา พอมีรายได้วันละ 400-500 บาท อยากให้กรมประมงผ่อนผันยืดระยะเวลาให้ใช้ไอ้โง่ออกไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเขาทำเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆ เท่านั้น
 
                              สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริง ไอ้โง่ ที่วางดักอยู่กับที่ จะมีปู ปลาเข้าไปเอง ขณะที่อวนลาก อวนรุน ใช้ความเร็วเคลื่อนที่ในการลากและช้อนสัตว์น้ำสารพัดชนิด และกินพื้นในระยะไกล รัศมีหลายกิโลเมตรในการปฏิบัติการ อะไรคือตัวทำลายล้างเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำที่มากกว่ากัน? เป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
 
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : สัมผัสวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน ใช้ 'ไอ้โง่' จับปลาเลี้ยงครอบครัว : โดย...กัมปนาท ขันตระกูล)