
สุดยอดแห่งบุญคือ...บุญที่ทำด้วยปัญญานำศรัทธา
ประเภทของบุญ กล่าวโดยย่อมี ๓ อย่าง คือ ๑.ทานกุศล หมายถึง บุญเกิดจากการบริจาคทาน เสียสละความสุขส่วนตัว ทรัพย์สินแม้ชีวิตเลือดเนื้อ ร่างกาย สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ให้ผู้อื่น ๒.ศีลกุศล หมายถึง
บุญจากการรักษาศีล รักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษแก่ผู้ใด ทั้งแก่ตนเองและทั้งผู้อื่น และ ๓.ภาวนากุศล หมายถึง บุญจากการพัฒนาจิตใจโดยการทำสมาธิ ให้จิตใจนั้นปลอดจากกิเลสนิวรณ์ แล้วก็เจริญปัญญาเพื่อกำจัดความไม่รู้ ทำใจให้สะอาด บริสุทธิ์ และเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของธรรมชาติและสัจธรรมตามที่เป็นจริงเรียกว่า การเจริญภาวนา
องค์ประกอบที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ ๑.ทำบุญด้วยความเต็มใจ เมื่อจิตเกิดเป็นกุศล มีความเต็มใจ จงทำบุญหรือปวารณาว่าจะทำบุญหรือปวารณาว่าจะทำบุญ ตามความพร้อมในขณะนั้น เมื่อถึงเวลาที่บุญจะให้ผล (กาลสมบัติ) บุญจะส่งผลให้ตามเจตนาที่เป็นกุศลเต็มที่โดยพลัน โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง แต่ถ้าทำบุญอย่างเสียมิได้ หรือด้วยความลังเล ผัดผ่อน เสียดาย ผลบุญที่ได้รับก็จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ฉับพลันเหมือนใจของเราที่ลังเลเช่นกัน
๒.ทำบุญด้วยความศรัทธา ศรัทธาที่ว่านี้ต้องตั้งอยู่บนความมีเหตุมีผล ที่เรียกว่าศรัทธาบริสุทธิ์จากกิเลส ผลบุญจากการที่ทำบุญอย่างศรัทธาที่มีเหตุผลนี้ จะเกิดปัญญาในการทำบุญปัญญาในการรู้รักษาตัวรอด ปัญญาในการหาบุญได้ ใช้บุญเป็น แม้ชาตินี้ยังฐานะไม่ดีนักก็สามารถอยู่อย่างสุขสบายในการทำมาหากินไปได้ ไม่ฝืดเคือง ตรงข้ามกับผู้มีทรัพย์มากแต่ถ้าไม่รู้จักใช้ทรัพย์ในการทำบุญ คือไม่มีปัญญาที่จะใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดบุญดังคำกล่าวที่ว่า “บุญมาปัญญาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” และ ๓.ทำบุญให้ถูกบุญ คือ การทำบุญให้ถูกสถานที่และบุคคลเพื่อเป็นเนื้อนาบุญ เช่น ทำบุญเพื่อทำนุบำรุงธรรมปฏิบัติ และผู้มาปฏิบัติขัดเกลากิเลส เพื่อการเผยแพร่ธรรมะที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงานที่จะเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัท
“โยมท่านใดที่จะทำบุญ ตักบาตรพระ ถ้าเห็นพระนั่งอยู่กับเก้าอี้ก็ดี อย่าไปใส่บาตรเลย พระเวลาบิณฑบาตจะต้องเดินตามลำดับ ไม่ยืนที่ใดที่หนึ่งประจำ หรือมีพระยืนรออยู่ มีโยมยืนอยู่การนั่งผิดแน่นอน ไม่ถูกหลักพระวินัย ปัจจุบันก็มีนั่งอยู่ พระพุทธองค์เคยสอนไว้ เวลาให้ทานต้องเลือกให้ เลือกให้แก่บุคคลที่ควรให้มันจึงจะได้บุญ อยากให้ประชาชนแจ้งมาแต่โยมบางคนกลัวทำบาป คนที่คิดแบบนั้นทำบาปแล้วต้องแจ้ง จึงถือว่าทำบุญ กำจัดสิ่งไม่ดีออกจากศาสนาจะบาปได้อย่างไร“ นี่คือคำแนะนำการทำบุญดวยปัญญานำศรัทธาของพระรัตนเมธี หัวหน้าพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) กทม./เจ้าคณะเขตบางซื่อ
พระรัตนเมธี หัวหน้าพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) กทม./เจ้าคณะเขตบางซื่อ บอกว่า ยุคเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งทำให้คนหันมาทำผิดกฎหมายกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วงการพระสงฆ์ที่มีกลุ่มคนที่ไม่มีความละอาย หรือที่เรียกว่า "อลัชชี" หันมายึดผ้าเหลืองสวมจีวรบังหน้าเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นการบิณฑบาตเวียนเทียน คือการที่ญาติโยมทำบุญแล้ว พระนำไปขายให้แก่ร้านค้า แล้วกลับมารับบาตรอีก ซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย ก็จะนิมนต์พระรูปนั้นไปสอบสวน แล้วถวายคำแนะนำ ถ้ากลับมาทำอีกก็จะภาคทัณฑ์จนถึงให้ลาสิกขา
ปัจจุบันพระวินยาธิการมีทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ ๒๐๙ รูป ทำให้การปกครองในด้านต่างๆ ดีขึ้น จากเมื่อก่อนนี้จะมีญาติโยมมาร้องเรียนว่า มีพระสงฆ์นำลูกนิมิตมาตั้งท้ายรถกระบะ แล้วก็ประกาศให้ญาติโยมมาทำบุญปิดทองลูกนิมิตเยอะมาก อีกกรณีหนึ่งคือ นำถังผ้าป่ามาตั้งไว้ตามห้างร้านต่างๆ เสร็จแล้วก็กลับมาเก็บ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี เรียกว่าการปฏิบัติงานของพระวินยาธิการได้ผล จนพระผู้ใหญ่หลายรูปก็กล่าวชม
พระวินยาธิการปฏิบัติงานคล้ายๆ กับตำรวจเหมือนกัน แต่ว่าบทลงโทษของเรานั้น ถ้าเป็นการผิดเล็กๆ น้อยๆ เราก็ว่ากล่าวถวายคำแนะนำให้ประพฤติตัวเสียใหม่ แต่ถ้าเป็นความผิดที่มากกว่านี้ เช่น มาปักกลดในสถานที่ที่ไม่ถูกต้องหรือมาบิณฑบาตยืนปักหลักอยู่กับที่ ประพฤติปฏิบัติติดต่อกันหลายๆ ครั้งก็จะภาคทัณฑ์ และถ้ากล่าวตักเตือนแล้วยังไม่เชื่อ ขั้นสุดท้ายก็ต้องให้สละสมณเพศ หรือลาสิกขาไป แต่บางกรณีมีผู้ไม่ยอมรับผิดก็จะมีการสอบสวน โดยดูใบสุทธิ สอบถามที่มาที่ไป แล้วบันทึกถ้อยคำไว้ ซึ่งจะทำให้เราวินิจฉัยได้ว่าภิกษุรูปนั้นเป็นพระจริงหรือพระปลอม
พระ ๗ แบบที่ไม่ควรใส่บาตร
พระครูศรีรัตนคุณ บอกว่า พระสงฆ์ที่ทำผิดวินัยด้วยการปักหลักบิณฑบาตมากที่สุดตามตลาด ใหญ่ๆ ทั่ว กทม. โดยแต่ละปีสามารถจับกุมพระที่ทำผิดหลักวินัยของสงฆ์หลักราย มีรูปแบบกระทำผิดพระวินัยสงฆ์ ทั้งการแจกซองผ้าป่า เดินเคาะตามประตูบ้าน และยืน-นั่งปักหลักบิณฑบาต เป็นต้น หลังจากนิมนต์พระที่กระทำผิดวินัยสงฆ์มาพบเจ้าคณะแขวง หรือเจ้าคณะเขต และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบแล้วพบพระปลอมกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์
“เท่าที่อาตมาปฏิบัติงานมา ๑๐ กว่าปี มีถึง ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เจอแล้วไม่ใช่พระ อาตมาเคยถามเขาว่า ทำไมจะต้องปลอมมาเป็นพระ เขาบอกว่ายากจน ไม่รู้จะไปทำอะไร และทางนี้เป็นทางที่หาเงินได้ง่าย เป็นงานเบา งานสบาย บางจังหวัดเขาจะยกกันมาเป็นหมู่บ้านเลยนะ แล้วก็มาโกนหัวห่มผ้าเหลือง มาเช่าบ้านอยู่ และออกเรี่ยไรเงินประชาชน”
ทั้งนี้พระครูศรีรัตนคุณได้ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับพระที่ไม่น่าเลื่อมใสและไม่ควรใส่บาตร ไว้ ๗ ประการ คือ ๑.ย่ามใหญ่ ซึ่งภายในย่ามอาจมีผ้าขนหนู เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน อย่างครบคันรวมอยู่ในย่าม ๒.จีวรไม่สะอาด เพราะต้องนอนตามสถานีรถไฟ ๓.มีบาตรและกลดพระติดตัวในย่านชุมชนเมือง ซึ่งกิจของพระธุดงค์ต้องเดินห่างจากชุมชนเมือง ๒๕ กม.เป็นการเดินในป่าไม่ใช่ในเมือง ๔.นอนมั่วทุกแห่ง ๕.แหล่งที่พักไม่แน่นอน ๖.สัญจรอยู่ตลอดเวลา และ ๗.อธิฐานพรรษาไม่ถูก ไม่มีใบสุทธิ
เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพศูนย์ภาพเนชั่น