
เจ้าหน้าที่ คอมพ์ น้อย ... ต่อใบอนุญาตต่างด้าวช้า
21 ต.ค. 2557
เปิดซองส่องไทย : เจ้าหน้าที่ คอมพ์ น้อย ... ต่อใบอนุญาตต่างด้าวช้า : โดย...ลุงแจ่ม
เนื่องจากข้าพเจ้าอดทนเห็นความไม่ถูกต้องไม่ไหว เรื่องมีอยู่ว่า ข้าพเจ้าเป็นนายจ้างต่างด้าวคนหนึ่งดีใจที่ คสช.เข้มงวดกับเรื่องนี้ เพราะมีนายจ้างจำนวนมากที่ไม่ขึ้นทะเบียน และขอใบอนุญาตทำงานต่างด้าวให้ถูกต้องยอมเสียส่วยตำรวจท้องที่เป็นอันจบ แต่มันเป็นการเอาเปรียบคนที่เสียถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถือเป็นต้นทุนทางการค้าด้วย และเป็นความมั่นคงของชาติ จะได้รู้ยอดคนต่างชาติว่าจริงๆ แล้วเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเป็นจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ใดบ้าง
อีกอย่างเท่าที่ถามๆ มา เหตุที่ไม่ทำให้ถูกต้องคงเพราะการขออนุญาตเอกสารมากหาลำบาก เจ้าหน้าที่อารมณ์ไม่ดีไม่อธิบายให้เข้าใจ เปลี่ยนกฎไปมา และต่างด้าวก็ย้ายไปมาเอกสารวุ่นวาย ข้าพเจ้าอยากให้แก้ไขการติดต่อขอใบอนุญาตใหม่ โดยใครมีหลักฐานไม่ครบมีบางชิ้นทางกรมการจัดหางานคีย์ข้อมูลดูว่ามีการขอไว้ครงไหมอยากเปลี่ยนนายจ้างได้ไหม
เพราะปัจจุบันท่านก็ลงคอมพิวเตอร์อยู่แล้วสามารถตรวจได้ ต่างด้าวที่มีปัญหากับนายจ้าง ก็ให้นายจ้างแจ้งเรื่องระงับการลาออกไว้กับทางกรมการจัดหางานลงบันทึกไว้เลยจนกว่าต่างด้าวจะมาเคลียร์ปัญหาที่มีกับนายจ้างเก่าให้หมดนายจ้างถอนเรื่องกับกรมการจัดหางานจึงจะได้เปลี่ยนนายจ้างใหม่ได้ แก้ปัญหาเรื่องนายจ้างเก็บหลักฐานต่างๆ เพราะต้องการกักตัวไว้ด้วย
ส่วนทางกรมการจัดหางานจะได้ทำงานน้อยลงเอกสารไม่ต้องตรวจดูมากมายทำเรื่องก็คีย์ลงประวัติต่างด้าวทันที ทุกวันนี้เวลาที่ข้าพเจ้าเข้าไปติดต่อจะบบปัญหาเอกสารไม่ครบ กรมการจัดหางานเปลี่ยนเอกสารการยื่นขอ วิธีการยื่น ฯลฯ เพราะข้าพเจ้าไม่ได้มีต่างด้าวมาก นานๆ ไปที ถ้าเสียเวลาไปติดต่อแล้วไม่ได้เรื่องก็เสียความรู้สึก
บางทีก็เห็นนายจ้างคนอื่นๆ ต่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าดูเป็นเหตุให้นายจ้างส่วนมากไม่ขอเลยดีกว่ายอมเสียใต้ดิน (ต้นเหตุคอร์รัปชั่น) เอาจบ อีกอย่างทางกรมการจัดหางานรับเรื่องต่างด้าวโดยเฉพาะพื้นที่ 7 มีการกำหนดรับทำเรื่องขออนุญาตทำงานวันแค่สองร้อยราย ไปทีไรคิวหมดรอคิวพรุ่งนี้ จากการสังเกตดูที่หมดเพราะนายหน้าเอกชนที่รับทำแทนนายจ้างมาแย่งคิวเจ้าหน้าที่ก็รู้กันยอมแจกคิวให้ที่ละหลายใบไม่หมดได้ไง ไม่ถูกต้องเพราะพวกนี้รับงานมาต่อใบอนุญานรายละ 500 บาท คนละไม่ต่ำว่า 30-40 ราย มาแย่งคิวนายจ้างที่ทำแค่ 1-2 คนหมด
นายจ้างมาเองเอกสารครบมีการเซ็นชื่อจากต่างด้าวถูกต้องกับให้รอคิวบ่ายๆ หรือรอพวกนายหน้าเถื่อนเพราะไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางานแบบว่าเป็นผู้จัดหางานที่เป็นบริษัทนำแรงงานเข้าแบบ เอ็มโอยู พวกนี้ทำกันเองไม่มีการเสียภาษีเงินได้แน่นอน ทำกันจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ รับจ้างมาก็ควรมารอคิวไม่ใช่มาตัดคิวนายจ้างตัวจริง
บางครั้งเอกสารก็เซ็นชื่อเองประทับลายนิ้วมือเองไม่ใช่ของต่างด้าวแน่นอน อันนี้เห็นกับตา คิวที่แจกก็มาจัดกันเองแต่เช้ามืดยิ่งช่วงนี้จับต่างด้าวยิ่งแย่งคิวกันวุ่นวาย เดินเข้าออกที่โต๊ะทำงานเจ้าหน้าที่เหมือนตลาดสดส่งเสียงเอะอะโวยวายเล่นกันไม่น่าดู เพราะอาศัยว่ามาทุกวันสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่มีให้นอกในกันบ้างแน่นอนดูเสียหายไม่น่านับถือว่าเป็นสถานที่ราชการ หัวหน้างานเคยลงมาดูแลบ้างไหม ควรดูแลให้สมเป็นสถานที่ราชการหน่อย ควรจัดการกับพวกเถื่อนพวกนี้ปลอมแปลงเอกสารเขียนเองลงลายมือชื่อต่างด้าวเองทั้งนั้นอันตรายมาก ข้าพเจ้าเองยังต้องเข้าคิดติดต่องานอยู่ไม่อยากร้องเรียนโดยตรง รบกวนลุงแจ่มช่วยแจ้งหัวหน้ากรมการจัดหางานทราบด้วยว่าช่วยดูแลจัดการให้ถูกต้องด้วยนายจ้างจะได้อยากไปติดต่อเรื่องใบอนุญาตทำงานเอง
นายจ้างนิภา
ตอบ
น.ส.สรัสวดี พุ่มสุวรรณ นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ กรมการจัดหางาน ชี้แจงว่า ในเรื่องของการยื่นขึ้นทะเบียนหรือว่าด้วยการต่ออายุของคนต่างด้าว คือว่า ในการต่อเอกสารแต่ละชาติ ชาตินั้นๆ จะเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง กรมการจัดหางานเพียงแต่อำนวยความสะดวกในการที่ว่าจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนให้เท่านั้น
ต้องดูว่าจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง กรณีมีการรับส่วนก็ต้องร้องเรียนไปยังเจ้าที่หน้าที่มหาดไทย ถ้ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถก็ต้องแจ้งไปยังหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ตำราจรายนั้นๆ ที่ศูนย์จะจดทะเบียนของแรงงานต่างด้าววัน 200-500 รายบ้าง ที่ศูนย์จะมีทั้งมหาดไทย สาธารณสุข กรมการจัดหางาน ส่วนกรมการจัดหางานจะไม่มีปัญหาในเรื่องการตรวจเอกสารเลย
บางครั้งนายจ้างมาเป็นพันๆ ราย ก็สามารถตราวจเอกสารได้เป็นพันๆ รายเช่นกัน แต่เครื่องการบันทึกประวัติเป็นของมหาดไทยมีจำนวนจำกัดในการตรวจขึ้นทะเบียน บางศูนย์ก็มีถึง 500 ราย บางศูนย์ก็เป็นพันๆ ราย มหาดไทยมีเครื่องที่ต้องพิมพ์ประวัติมีจำกัด แล้วหมอจากสาธารณสุขที่ต้องทำการตรวจก็มีจำนวนจำกัดเหมือนกัน
ในการตรวจเอกสารจะตรวจได้เยอะกว่านั้น ไม่ได้มีที่กรมการจัดหางานหน่วยงานเดียว มีหลายหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในศูนย์ฯ ไม่สามารถที่จะก้าวก่ายหน่วยงานนี้ได้ ถ้ามีการรับส่วยก็ต้องไปร้องเรียนกับผู้บัญชาของหน่วยงานนั้นๆ กรณีศูนย์นี้รับได้ 500 รายต่อวัน ซึ่งจะมีการแจกบัตรคิวก็จะมีการตรวจให้ครบ 500 ราย พอครบ 500 รายแล้ว กรณีของผู้ร้องเรียนถ้าเป็นคิวที่ 550 ก็ให้มาใหม่ในวันพรุ่งนี้ก็จะได้คิวที่ 50 เลย จะได้รับบัตรในวันต่อไป ยอมรับว่าต่างด้าวมีเป็นแสนๆ ราย เครื่องคอมพิวเตอร์ในการคีย์ข้อมูลก็มีจำกัด เจ้าหน้าที่ก็มีจำกัด ทุกคนก็ทำงานเต็มที่ทุกคน
ลุงแจ่ม
สามี(ตัวดี)ยกให้เป็นมรดก
มีเรื่องร้อนใจอยากทราบค่ะ คือดิฉันกับสามีแต่งงานกันมา 15 ปี ไม่มีลูกด้วยกัน แต่เราได้จดทะเบียนสมรสกันค่ะ ปรากฏว่าดิฉันเพิ่งจับได้ว่าสามีไปมีหญิงอื่น แล้วก็กำลังจะมีลูกด้วยกัน หลังจากทราบเรื่องก็มีปัญหากันมาตลอด ดิฉันบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็หย่าจากกันไปเลย แต่สามีไม่ยอม เลยไม่รู้จะทำอย่างไร
อยากทราบว่า เมื่อเด็กคนนั้นเกิดมาจะมีสิทธิในทรัพย์สมบัติของดิฉันกับสามีไหมคะ แล้วดิฉันควรจะจัดการกับเรื่องทรัพย์สินอย่างไร เพราะดูแล้วสามีไม่ยอมหย่า สำหรับดิฉันเองนั้นก็ยังรักสามีอยู่ ใจจริงก็ไม่อยากหย่า แต่ก็ไม่อยากอยู่ในสภาพอย่างนี้ จึงอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องในเรื่องของทรัพย์สินที่มีอยู่ ถ้าเกิดสามีหรือดิฉันเป็นอะไรไปจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
แพร
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ปราชญา อ่อนนาค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า ในทางกฎหมาย หลังจากสมรสแล้วทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังมีการสมรสเรียกว่า สินสมรส เมื่อมีการหย่าร้าง หรือ เลิกรากัน หรือสามีเสียชีวิต สินสมรสนี้จะต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยคุณได้รับหนึ่งส่วน และสามีได้รับอีกหนึ่งส่วน กรณีที่สามีเสียชีวิต ส่วนของสามีก็จะกลายเป็นมรดกที่จะมีทายาทเป็นผู้รับมรดก
ส่วนเด็กที่เกิดมานั้น หากพ่อไม่เซ็นรับรองเด็กจะกลายเป็นบุตรนอกสมรส ซึ่งไม่มีผลรองรับทางกฎหมาย จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย แต่ถ้าพ่อไปเซ็นรับรองบุตรเด็กจะกลายเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาทันที และมีสิทธิรับมรดกจากผู้เป็นพ่อเทียบเท่ากับลูกของคุณ ถ้าคุณมีลูก หรือจะกลายเป็นผู้รับมรดกถ้าสามีคุณเสียชีวิต
ดังนั้น เรื่องของทรัพย์สินที่คุณกังวล เบื้องต้นคงต้องคุยกับสามีดูว่า จะดำเนินการอย่างไร ถ้าคุณอยากทำให้ชัดเจน มีอยู่สองทางในขณะนี้ อย่างแรก ให้สามีเขียนพินัยกรรมขึ้นมา โดยยกทรัพย์สินที่มีให้คุณเป็นผู้รับมรดก อยู่ที่ว่าสามีจะยินยอมรับเงื่อนไขนี้หรือเปล่า แต่พินัยกรรมนี้จะมีผลหลังจากสามีเสียชีวิตไปแล้ว
ทางที่สอง สามีอาจจะทำเป็นสัญญาระหว่างสมรส ด้วยการยกทรัพย์สินที่มีให้แก่คุณ แต่ในสัญญาระหว่างสมรสนี้ หากเมื่อใดก็ตามที่สิ้นสุดการสมรส แล้วสามีเกิดอยากจะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เคยยกให้แก่คุณ สามีสามารถขอยกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากกฎหมายยินยอมให้ทำเช่นนี้ได้
ลุงแจ่ม