ไลฟ์สไตล์

‘รมว.สธ.’ยันไทยพร้อมป้องกัน‘อีโบลา’ขั้นสูงสุด

‘รมว.สธ.’ยันไทยพร้อมป้องกัน‘อีโบลา’ขั้นสูงสุด

14 ต.ค. 2557

‘รมว.สธ.’ ยันไทยพร้อมป้องกันเชื้อไวรัส ‘อีโบลา’ ขั้นสูงสุด แม้ติดเชื้อยาก ยินดีทีมแพทย์ไทยผลิตวัคซีนรักษาได้แต่ต้องทดสอบอีกหลายครั้งก่อนใช้จริง

 
                 14 ต.ค.57 เมื่อเวลา 14.30 น. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคอีโบลา ว่าประเทศไทยมีโอกาสน้อยที่จะเผชิญกับการระบาดของโรคอีโบลา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่าง ๆ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด มีการออกประกาศให้โรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และในขณะนี้มีการคัดกรองผู้ที่เดินทางไปในประเทศที่มีโอกาสติดเชื้ออีโบลาแล้ว จำนวน 2,26 ราย ซึ่งทุกรายล้วนมีสุขภาพดี
 
                 รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ต่างๆ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เช่นองค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) โดยคณะกรรมการอำนวยการได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคระบาดไว้ 5 ด้าน คือ 1. การจัดระบบ เฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ 2. การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีการเตรียมห้องแยกผู้ป่วยดูแลรักษา รววมถึงควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด 3. มีการพัฒนาระบบการตรวจ ชันสูตรทางห้องปฏิบัติโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ และมหาวิทยาลัย เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการณ์ของประเทศ สามารถตรวจยืนยันเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง 4. ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนถึงวิธีการป้องกัน 5. บริหารจัดการแบบบูรณาการหลายภาคส่วน โดยมีศูนย์ประสานปฏิบัติการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ประสานสั่งการเชื่อมโยงการทำงานทั้งประเทศและเตรียมพร้อมระบบรับส่งต่อผู้ป่วย
 
                 “โอกาสที่โรคนี้แพร่มายังประเทศไทยไม่มาก แต่เราก็ไม่ประมาท ต้องเฝ้าระวังเพราะในขณะนี้การระบาดยังรุนแรงและไม่สงบลง ซึ่งทาง WHO และองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเพราะถือว่าการติดเชื้ออีโบลามีความสำคัญและมีผลกระทบในประเทศต่าง ๆ ดังนั้นการระงับการแพร่ระบาดจึงต้องร่วมมือกัน ไม่เฉพาะ 5 ประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เตรียมพร้อม ป้องกันและควบคุมการระบาด ของเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ เห็นว่าหลายฝ่ายควรจะร่วมมือกันระดมเงินบริจาค ของประชาชนชาวไทย เข้าไปช่วยเหลือประเทศที่ติดเชื้อดังกล่าวอย่างรุนแรง ซึ่งเราจะดูสถานการณ์อย่างไกล้ชิด และจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษาดูงาน มีระบบติดตามการแพร่ระบาด เพื่อเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนติดตาม เพื่อทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แม้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีการติดเชื้อในประเทศไทยก็ตาม แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีความจำเป็น ก็ขอให้ประชาชนเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยง และเมื่อกลับมาแล้ว ก็ควรมารายงานตัวและพบแพทย์ภายใน 21 วัน” นพ.รัชตะ กล่าว
 
                 ส่วนกรณีที่ทางทีมงานแพทย์ รพ.ศิริราชประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคอีโบลานั้น นพ.รัชตะ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับทีมแพทย์ของไทย แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่มีขีดความสามารถในการจะผลิตยาเพื่อใช้เป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นจึงได้มีการประสานกับ CDC และ WHO เพื่อช่วยเหลือหากมีความจำเป็นจะต้องผลิตยาออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตัวยาดังกล่าวยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้นตอน จึงจะสามารถมั่นใจว่าสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้
 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสห่วง ‘อีโบลา’ โผล่ไทย เตือนปชช.อย่าเชื่อข่าวลือ
 
 
                 วันเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาค่อนข้างน่าเป็นห่วง ควบคุมการระบาดได้ยากเนื่องจากประชาชนในประเทศที่มีการระบาดไม่ให้ความร่วมมือ จนขณะนี้เริ่มพบการระบาดออกนอกพื้นที่ 3 ประเทศคือเซียราลีโอน ไลบีเรีย และกินี จนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศพื้นที่การระบาดเพิ่มเติมที่เมืองอีเคลเตอร์ (Equateur) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเริ่มพบผู้ป่วยในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว
 
                 "ประเทศไทยก็น่าเป็นห่วง ส่วนตัวแล้วกลัวว่าจะพบผู้ติดเชื้อในประเทศเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังดีใจที่หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักของไทยตื่นตัวกับการควบคุมป้องกันโรคนี้อย่างจริงจัง และดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญ จะมีการหารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาและความเสี่ยงในประเทศ ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งสิ่งที่ยังกังวลอยู่คือขอให้ประชาชนอย่างตื่นตระหนก ต้องรู้ให้เท่าทันโรค อย่าเชื่อข่าวลือให้ยึดข้อมูลจากรัฐเท่านั้น ยืนยันว่ารัฐไม่ได้ปิดบัง และช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐหากพบสิ่งผิดปกติ คนแปลกหน้าที่มีอาการต้องสงสัยให้แจ้งต่อทางการ" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว