ไลฟ์สไตล์

หลอดเลือดสมองตีบ รักษาได้ไม่ต้องผ่าเปิดสมอง

หลอดเลือดสมองตีบ รักษาได้ไม่ต้องผ่าเปิดสมอง

15 ต.ค. 2557

ดูแลสุขภาพ : หลอดเลือดสมองตีบ รักษาได้ไม่ต้องผ่าเปิดสมอง

 
                                   หลอดเลือดสมอง โรคทางสมองที่อันตรายมาก หากเกิดขึ้นกับใคร ร้อยละ 20 มีโอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 70-80 เสี่ยงพิการ อัมพฤกษ์-อัมพาต โดยบอกถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบ มีทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อย่าง อายุที่สูงวัยขึ้นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพศ โดยเฉพาะเพศชายมีโอกาสสูงกว่าหญิง และภาวะเลือดแข็งตัว ส่วนปัจจัยที่พอควบคุมได้ คือ ความดันโลหิต ไขมันในเลือด อาการเบาหวาน พฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 
 
                                   ส่วนอาการสำคัญที่สามารถสังเกตได้ หากปรากฏอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน!...แขน-ขาอ่อนแรง พูดไม่ได้ ตามองไม่เห็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เวียนศีรษะรุนแรงบางรายไม่สามารถทรงตัวได้ 
 
                                   กรณีตัวอย่างซึ่งเป็นคนไข้หลอดเลือดสมองตีบรายหนึ่งของ นพ.ฤกษ์ชัย ระหว่างนั้น คนไข้อยู่ในต่างประเทศ เริ่มมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง ภาพที่เห็นมืดมัว หมดสติไป ต่อมาอีก 2 วัน คนไข้เดินไม่ตรง ตาตกข้างหนึ่ง และปากเบี้ยว ญาตินำตัวส่งโรงพยาบาลในต่างแดน แต่ด้วยความไม่พร้อมทางการแพทย์จึงถูกปล่อยให้รอรับการตรวจนานหลายชั่วโมง ญาติตัดสินใจพาตัวกลับประเทศไทย ติดต่อรักษากับ นพ.ฤกษ์ชัย 
 
                                   ทันทีที่มาถึง ทีมแพทย์ตรวจดูหลอดเลือดสมองอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทราบว่า หลอดเลือดเส้นใดมีปัญหา ในที่สุดพบว่า คนไข้มีอาการหลอดเลือดสมองตีบตัน จึงใช้วิธีการรักษาแบบผ่าตัดเปิดหลอดเลือด (Endovascular Surgery) คนไข้ไม่ต้องดมยาสลบ แผลเล็กเพียง 2.6 มิลลิเมตร ทำได้ในเวลาอันสั้นราว 30-50 นาที เข้าถึงตำแหน่งที่เส้นเลือดตีบได้ตรงจุด โดยเหมาะกับคนไข้ที่หลอดเลือดสมองตีบมากกว่าร้อยละ 50 ของเส้นผ่านศูนย์กลาง 
 
                                   วิธีการรักษา แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่เพื่อสะดวกในการลำเลียงเครื่องมือ ส่วนใหญ่จะสอดเข้าไปที่บริเวณขา จากนั้นจึงวางบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด (Stent) ในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ โดยบอลลูนทำหน้าที่เช่นเดียวกับเครื่องมือขูดตะกรันในท่อน้ำ ส่วนขดลวดนั้นเปรียบเสมือนการใส่ตะแกรงเข้าไปกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำอีก ซึ่งระหว่าการวางบอลลูนกับขดลวดกินเวลาแค่ 2 นาที ที่คนไข้ต้องนอนนิ่งๆ 
 
                                   ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดเพื่อวางบอลลูนและขดลวด คนไข้ใช้เวลาพักฟื้นในห้องไอซียูเพียง 30 ชั่วโมงแล้วจึงกลับบ้านได้
 
                                   สำหรับคนไข้รายนี้ ปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีความพิการ หรืออัมพฤกษ์-อัมพาต เพียงแต่เพิ่มวินัยในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่ก่อให้เกิดไขมันอุดตันเส้นเลือด รวมทั้งต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม และระวังอาการเบาหวาน
 
 
 
นพ.ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ 
 
ผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยา 
 
ด้านหลอดเลือดสมอง 
 
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์