ไลฟ์สไตล์

ดันโครงการ4ประสานผุด‘เลยโมเดล’จุดปฐมฤกษ์แก้วิกฤติราคายางพารา

ดันโครงการ4ประสานผุด‘เลยโมเดล’จุดปฐมฤกษ์แก้วิกฤติราคายางพารา

13 ต.ค. 2557

ดันโครงการ4ประสานผุด‘เลยโมเดล’ จุดปฐมฤกษ์แก้วิกฤติราคายางพารา : ดลมนัส กาเจรายงาน

             จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำหลุดเพดาน กก.ละ 100 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา และตกอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางพาราราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ที่ 46.27 บาท ขณะที่การซื้อในท้องถิ่นยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา ราคา กก.ละ 44.20 บาท น้ำยางข้น กก.ละ 44.50 บาท เกษตรกรที่ขายในพื้นที่อยู่ที่ กก.ละ 42-43 บาท เท่านั้น ส่วนต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 65 บาท สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและคนงานกรีดยางพาราในเกือบทุกพื้นที่ ทำให้หลายภาคส่วนต่างหาแนวทางในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในหลายรูปแบบ


             ที่น่าสนใจ ล่าสุดสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.เลย จำกัด (สกต.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ภายใต้กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร จับมือผลักดัน “โครงการ 4 ประสาน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรใน จ.เลย อย่างยั่งยืน” กำหนดให้เป็นเลยโมเดล (Loei Model) เพื่อยกระดับคุณภาพยาง ยกระดับราคายางให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเลยพาเลซ อ.เมือง จ.เลย

             ว่ากันว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราไทย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการได้เรียนรู้เทคโนโลยี และความรู้ตามหลักวิชาการเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับยางพารา (Good Agricultural Practice : GAP) ทั้งในเรื่องการผลิตน้ำยางคุณภาพ และการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่ายางพาราจากเจ้าหน้าที่ สกย. และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ขณะเดียวกันยังจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมจาก สกต. ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถพัฒนาและยกระดับการผลิตยางก้อนถ้วยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล 

             นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สกย. กล่าวว่า โครงการครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวงการยางพารา ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง 4 หน่วยงานที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องเรื่องยางพารา เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาสำคัญของเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะเรื่องการตลาด ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ในการที่จะดำเนินการขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตยางพารา โดยนำร่องที่ จ.เลย และจะกำหนดให้เป็น "เลยโมเดล" ต่อไป

             "เดิมที่เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิตยางพาราไปขายต่างจังหวัด เนื่องจากที่เลยไม่มีโรงงานแปรรูปยางพารา แต่ภายใต้โครงการนี้ ทาง ซีพี มาสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จึงถือเป็นโรงงานแปรรูปแห่งแรกในพื้นที่ จ.เลย ทำให้นโยบายของ สกย.ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มผลต่อไร่มากขึ้น และสามารถผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเมื่อยางมีคุณภาพที่ดี ราคาขายย่อมสูงขึ้น เกษตรกรสามารถขายผลผลิตยางพาราตรงให้แก่โรงงาน ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และไม่ต้องเสียค่าขนส่งไปขายในต่างจังหวัดด้วย ทาง สกย.จะมีการติดตามประเมินผลทุก 3-6 เดือน หากประสบผลสำเร็จคาดว่าจะนำโมเดลนี้กระจายไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ" นายเชาว์ กล่าว

             ด้าน นายสุรวิช ทวีผล ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.เลย กล่าวว่า เป้าหมายของ ธ.ก.ส.คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.เลย ทาง ธ.ก.ส.จึงไม่ได้มีหน้าที่ให้เงินกู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น การผลิต การตลาด ตลอดจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะต้องดูแลเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ธ.ก.ส.มีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือในครั้งนี้ และโครงการนี้จึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร จ.เลย คิดว่าการทำงานของทั้ง 4 ส่วนงาน คงจะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จไปได้ และจะได้เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ด้วย

             ส่วน นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารามากกว่า 6 แสนล้านบาท และแนวโน้มความต้องการยางพาราในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ในระยะนี้ราคายางอาจจะต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าต้นปีหน้าราคายางพาราจะขยับขึ้นตามราคาตลาดโลก

             "โครงการ 4 ประสาน ที่ จ.เลย ถือเป็นการเสริมจุดแข็งของแต่ละส่วนงานที่มาร่วมกันพัฒนาศักยภาพของชาวสวนยางให้สามารถผลิตยางได้มีคุณภาพที่ดี และขายได้ราคาที่สูงขึ้น ในเบื้องต้น ซีพี ได้ตั้งโรงงานแปรรูปยางแท่งแห่งแรกขึ้นที่ ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรกรีดยางในระบบปิดและรับซื้อยางคุณภาพจากเกษตรกรในพื้นที่ 30 กม.รอบโรงงาน โดยโรงงานแปรรูปยางแห่งนี้เป็นโรงงานที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การแปรรูปยาง ที่มีกระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัยมาก มีการควบคุมระบบการทดสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบคุณภาพ สามารถรองรับผลผลิตยางพาราใน จ.เลย และใกล้เคียงได้ถึง 1.5-2 แสนไร่ ที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ด้วย นอกจากนี้ภายในโรงงานยังจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก และยังร่วมกับ สกย. กำหนดคุณภาพยางก้อนถ้วยมาตรฐานให้สอดคล้องกับราคารับซื้อที่เป็นธรรมด้วย" นายขุนศรี กล่าว

             ขณะที่ นายอภิรัตน์ วงศ์สง่า ประธานกลุ่มเกษตรกรยางพาราบ้านภูทับฟ้า อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้ถ้วยระบบปิด เมื่อ ซีพีเข้ามาตั้งโรงงาน ได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตยางให้สะอาด โดยใช้ถ้วยแบบมีฝาปิด เมื่อนำไปขายโรงงานก็จะรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น

             นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มองว่า มีแนวทางที่จะสามารถสร้างความยั่งยืน และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร ตลอดจนสามารถยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบยางก้อนถ้วยอีกด้วย