ไลฟ์สไตล์

กลอย พญามันป่า ยาดีของผู้หญิง

กลอย พญามันป่า ยาดีของผู้หญิง

10 ต.ค. 2557

ดูแลสุขภาพ : กลอย พญามันป่า ยาดีของผู้หญิง

 
                            กลอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida Dennst. var. hispida อยู่ในวงศ์ DIOSCOREACEAE มีชื่ออื่นๆ คือ กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว กลอยนก กอย มันกลอย มีลักษณะเป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวใต้ดิน ใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อย เรียงสลับ ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้ เมล็ด หัว
 
                            ดังนั้น การทำให้กลอยกินได้ จึงเป็นภูมิปัญญาล้ำค่าอย่างหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งคงมีคนจำนวนไม่น้อยต้องสละชีวิตกว่าจะได้มา ในอดีต ความรู้นี้คงช่วยให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ในสภาวะแห้งแล้ง หรือในยามสงคราม แม้จะไม่มีข้าวกิน แต่ถ้าเข้าป่าไปก็มีกลอย ซึ่งกินแทนข้าวประทังชีวิตไปได้ นอกจากหัวใหญ่แล้วกลอยยังเป็นมันป่าที่อยู่ตื้นๆ ขุดง่ายเหมือนฟ้าเตรียมไว้ให้มนุษย์ในยามขัดสน
 
                            นอกจากนี้ ในกลอยยังพบสารไดออสเจนิน (diosgenin) ซึ่งก็มีอยู่ในมันป่า (wild yam) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea villosa พบในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนอินเดียนแดงใช้เป็นยาลดอาการปวด ปวดประจำเดือน ลดอาการไม่สบายตัวในผู้หญิงวัยทอง ลดการอักเสบ เป็นต้น สารนี้มีคุณสมบัติเป็นไฟโตเอสโตรเจน คือ ออกฤทธิ์คล้ายๆ กับเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง จึงมีศักยภาพที่จะนำมาใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนจากธรรมชาติ สารไดออสเจนินนี้ สามารถเปลี่ยนเป็นโปรเจสเตอโรน โดยกระบวนการทางเคมีในห้องทดลอง แต่ในร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น การวิจัยสนับสนุนการใช้ wild yam เพื่อเป็นฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยทองยังคงต้องมีการศึกษากันต่อไป
 
                            กลอย เป็นสมุนไพรที่ใช้แก้ฝ้า ทำให้หน้าขาว เป็นสรรพคุณที่รู้จักกันดีทุกภาค ทั้งกลาง ใต้ อีสาน เหนือ อาจใช้เดี่ยวๆ หรือผสมกับสมุนไพรตัวอื่นก็ได้ ซึ่งปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์หน้าขาวที่อ้างว่ามีสารสกัด wild yam เป็นสารสำคัญออกมาสู่ตลาด ดังนั้น ที่ว่ากลอยช่วยให้หน้าขาวจึงน่าจะเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม กลอยมีฤทธิ์ระคายเคือง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ กลอยยังใช้รักษาโรคทางผิวหนังอีกหลายอย่าง เช่น แมลงสัตว์กัดต่อย แผล ฝี เป็นต้น
 
 
                            ตำรับยา
 
 
                            ยาแก้ฝ้าทาให้หน้าขาว จังหวัดยะลา
 
                            นำเนื้อกลอยดิบฝนผสมกับน้ำมะนาว พอกหน้าตอนกลางคืน ล้างตอนเช้า
 
                            ยากำจัดฝ้าหน้าขาว หมอยาเมืองเลย
 
                            ใช้หัวกลอย หัวเหล็กซีดิน (ตาลเดี่ยว พระยาหน้าขาว ซ้าค้อ) โดยนำหัวกลอย และหัวเหล็กซีดิน มาฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วตากแห้ง หลังจากนั้น นำทั้งสองอย่างมาบดให้ละเอียดเหมือนแป้ง ใช้ในปริมาณที่เท่าๆ กันมาผสมกันเก็บไว้ ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำเปล่าหรือน้ำมะนาว คนให้เข้ากัน ทาใบหน้าบางๆ ไม่ต้องทาหนา ทาก่อนนอนทุกวัน ในครั้งแรกควรเริ่มโดยทาทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีก่อน จึงค่อยเพิ่มเวลาขึ้นในครั้งต่อไป เมื่อผิวหน้าปรับสภาพได้ค่อยทาทิ้งไว้ก่อนนอน สามารถใช้กลอยหรือเหล็กซีดินอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ทาทุกวันทำให้หน้าขาว สิว ฝ้าหาย
 
                            ยาแก้ฝี
 
                            ให้เอาหัวที่แห้งแล้ว ฝนบนหินกับน้ำซาวข้าว ทาฝี ให้ฝีสุกเร็ว
 
                            ยาแก้แผลสด
 
                            นำหัวสด ตำผสมน้ำมะนาว หรือขมิ้น สำหรับปิดแผลต่างๆ
 
                            ยาแก้แผลมีหนอง
 
                            ให้นำหัวคั่วผสมน้ำมันพืช ปิดแผลมีหนอง
 
                            ยาแก้โรคผู้หญิง ผอมแห้ง
 
                            ให้นำหัวอุตพิด หัวบุกลอ หัวกลอย หัวกระดาษทั้ง 2 เปลือกมะรุม ผิวมะกรูด ผิวมะนาว ผิวส้มซ่า ผิวมะงั่ว ส้มมะขามเปียก เกลือ พริกไทย กระเทียม ดีปลี ขิง ไพล ยาทั้งนี้เสมอภาค แต่งเปรี้ยวเค็มนั้นให้เหมาะๆ กัน ตำหมักไว้กินวันละ 3 เวลา ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย
 
                            ยางูตอด
 
                            ใช้หัวกลอย ฝนทา
 
                            ยาดองทำให้ผิวงาม
 
                            ใช้มะกรูด 33 ลูก สะค้าน 2 บาท ชะพลู 2 บาท เจตพังคี 2 บาท หัวแห้วหมู 2 บาท หัวกลอย 2 บาท หัวดองดึง 2 บาท ลูกกระดอม 2 บาท หัวกระดาษแดง 2 บาท เกสรทั้ง 5 สิ่งละ 2 บาท สารส้ม 4 บาท นำใส่โอ่ง เอาน้ำต้มก่อนจึงดองยา ปิดฝาตากแดดไว้ 2 อาทิตย์ รับประทานวันละ 2 เวลา เป็นยาแต่งผิว รับประทานได้ทั้งชายและหญิง ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
 
                            ยาแก้นานาชนิด หนาวร้อน
 
                            ใช้จันทน์เทศ โกฐบัว หัวกระดาษขาว หัวกระดาษแดง หัวบุก หัวกลอย หัวอุตพิด ใบพิมเสน ใบเฉียงพร้ามอญ เกสรบัวหลวง กฤษณา กะลาพัก ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกพิกุล ให้เอาเสมอภาค ทำเป็นยาผง ละลายน้ำดอกมะลิ ดอกไม้เทศ ใช้ทั้งรับประทานและทั้งชโลม (ยาตำรับสามารถใช้ได้กับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน)
 
                            น่ารู้
 
                            ชาวบ้านแบ่งกลอยเป็น 2 ชนิด คือ กลอยข้าวเจ้า กับกลอยข้าวเหนียว กลอยข้าวเจ้ามีเนื้อสีขาวนวลและเนื้อหยาบร่วนซุยกว่ากลอยข้าวเหนียว ซึ่งมีสีเหลือง เนื้อเหนียว และรสชาติดีกว่า ชาวบ้านจึงนิยมกินกลอยข้าวเหนียว และเชื่อว่ากลอยข้าวเหนียวมีสรรพคุณดีกว่ากลอยข้าวเจ้า
 
                            เวลาได้พิษจากกลอย ชาวบ้านจะดูดน้ำจากขาปู เชื่อกันว่าน้ำจากตัวปูจะทำลายฤทธิ์เบื่อเมาของกลอย เพราะเวลาเอากลอยไปแช่ในน้ำ จะมีปูมารุมดูดน้ำเบื่อจากกลอย
 
 
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
 
โทร.0-3721-1289