
เตือนภัย ! ขนมพิษ..ฉลองปิดเทอม
28 ก.ย. 2557
เตือนภัย ! ขนมพิษ..ฉลองปิดเทอม : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ
"ปิดเทอม" คือช่วงมีความสุขของเด็กๆ ได้วิ่งเล่นและกินขนม ไม่ต้องเรียนหนังสือ ส่วนผู้ปกครองต้องควักเงินจ่ายมากขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะ "ค่าขนม" โดยไม่รู้ว่าขนมที่ลูกหลานกินนั้น แฝงไปด้วยพิษร้าย...
"คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนว่า ตลาดนัดหลายแห่งขายขนมไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะต่างจังหวัดและเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ทีมผู้สื่อข่าวออกสำรวจตลาดนัดย่านบางนา ใกล้โรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง พบว่ามีพ่อค้าตั้งแผงขายขนมไม่มีเลขทะเบียนรับรองของ "อย." หรือคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนใหญ่เป็น ลูกอม เยลลี่ อมยิ้ม ช็อกโกแลตเทียม ฯลฯ นำเข้าจากจีน หรือมาเลเซีย รวมถึงขนมเบเกอรี่ ขนมปังเวเฟอร์ และขนมขบเคี้ยวจากโรงงานไทยที่ไม่ได้บอกส่วนผสมหรือวันหมดอายุ
จากการสอบถามเด็กเล็กส่วนใหญ่นิยมซื้อลูกอมที่มีสีสันสดใส เช่น "น้องปินปิน" วัย 4 ขวบ ซื้ออมยิ้ม 1 แท่ง แม้คุณแม่จะไม่ค่อยพอใจนัก เพราะกลัวลูกฟันผุ เด็กประถมส่วนใหญ่ตอบคำถามคล้ายๆ กันว่า ได้เงินช่วงเปิดเทอมวันละ 20-50 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมจะได้ประมาณ 10-20 บาทต่อวัน เพราะไม่ต้องซื้อข้าว เงินทั้งหมดใช้เพื่อซื้อขนมหวานหรือขนมที่มีของเล่นแจกแถม
"น้องบอย" นักเรียนชั้น ม.4 ให้สัมภาษณ์ว่า ชอบกินเวเฟอร์ช็อกโกแลต แต่ไม่เคยอ่านซองว่ามี "อย." หรือไม่ เพราะถ้าวางขายในร้านหรือโรงเรียนคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนที่เป็นเด็กเล็กนั้นชอบกินลูกอมมากกว่า ส่วน "ด.ช.กิตติพงษ์" นักเรียนชั้นประถม 4 เล่าว่า ช่วงปิดเทอมผู้ปกครองให้เงินไม่แน่นอน บางครั้งก็ 20-30 บาท ชอบซื้อพวกขนมมันฝรั่งทอดกรอบๆ บางครั้งซื้อของเล่นแล้วมีขนมแถมมาด้วย
ทั้งนี้ เด็กส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่เคยอ่านหรือสนใจว่าฉลากข้างถุงหรือข้างกล่องเขียนไว้ว่าอะไร ขอให้สีสันหน้าดูหน้ากินก็ตัดสินใจซื้อทันที มูลค่าตลาดส่วนนี้ไม่น้อยเพราะเด็กไทยซื้อขนมคนละเกือบ 1 หมื่นบาทต่อปี รวมมูลค่าสูงถึงปีละ 1 แสนล้านบาท
ภก.ณรงค์ชัย จันทร์พร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เล่าว่า ขนมแถวภาคอีสานนำเข้าจากจีน ผ่านทางลาวมาไทยที่ชายแดน จ.หนองคาย ขนมเหล่านี้พ่อค้าซื้อไปขายตลาดนัดหรือร้านค้าในหมู่บ้าน
"ช่วงนี้ต้องยอมรับว่า ทางกระทรวงไม่ค่อยเน้นนโยบายจัดการพวกอาหาร หรือขนมเสี่ยงภัยที่ใส่สารพิษ ส่วนใหญ่ไปเน้นเรื่องปัญหายาและพวกเครื่องสำอางผิดกฎหมายมากกว่า ที่นครพนมผมให้เจ้าหน้าที่คอยตรวจเป็นระยะๆ แต่ยังพบบ่อยๆ ถ้าเป็นจังหวัดอื่นที่เขาไม่สนใจจะยิ่งวางขายมากกว่านี้" ภก.ณรงค์ชัย กล่าว
ปัญหาเรื่องขนมพิษขายเกลื่อนประเทศไทยนั้น หลายฝ่ายยอมรับว่า ต้องเน้นให้ความรู้เด็กๆ ดังเช่น "โครงการ อย.น้อย" ที่ให้ความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยและผลิตภัณฑ์อันตรายต่างๆ แก่นักเรียนในโรงเรียนกว่า 6,000 แห่ง
"จันทร์เพ็ญ ศิริแก้ว" ครูโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม ให้ข้อมูลในฐานะประธานภาคเหนือของโครงการครูแกนนำ อย.น้อยระดับประเทศ ว่า ช่วงปิดเทอมจะเป็นห่วงเรื่องอาหารและขนมของเด็กๆ มากเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่ซื้อกินโดยไม่สนใจเรื่องประโยชน์ทางโภชนาการ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่พ่อแม่ให้เงินไปเลือกซื้อขนมเอง
"เด็กเล็กไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสีอันตราย สารกันบูด ผงชูรส ฯลฯ เราต้องทำโครงการพี่สอนน้อง คอยอบรมให้พวกเขาบ่อยๆ คุณครูต้องลงมือช่วยกัน เพราะเด็กเล็กเชื่อครูพูด เด็กหลายคนไม่กล้าซื้อขนมเหล่านี้เพราะครูสั่ง ถ้าเป็นไปได้อยากให้ช่วยจัดการร้านค้าด้วย เพราะหลายร้านเอาขนมจากจีนมาขาย พวกเขาไปซื้อกันในตลาดแม่สาย พอไปตรวจดูร้านค้าก็ไม่พอใจ เราไม่อยากไปยุ่งมาก ต้องให้เจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจแทน" ครูจันทร์เพ็ญ กล่าวด้วยความเป็นห่วง
"ด.ญ.ปวิชญา เป็งแดง" และ "ด.ญ.วริศรา ใจแก้ว" นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ร.ร.สันป่าตอง เล่าว่า แต่ก่อนไม่เคยมีความรู้เรื่องสารพิษในขนมหรือในอาหาร แต่พอมาเข้าโครงการ อย.น้อย ทำให้รู้เรื่องมากขึ้น เวลาซื้อขนมจะพลิกอ่านฉลากว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แม้จะเขียนเป็นศัพท์วิทยาศาสตร์ยากๆ ก็เข้าใจได้ว่าคืออะไร เช่น "โมโนโซเดียมกลูตาเมต" หมายถึง ผงชูรส
"ตอนเป็นเด็กชอบกินเยลลี่ ลูกอม แต่ตอนนี้ชอบกินขนมปัง เบเกอรี่ พวกนี้ใส่สารกันบูดเยอะ เราต้องคอยดู บางครั้งมีเชื้อราข้างในแต่เรามองไม่เห็น เด็กๆ ไม่รู้หรอกว่ามีสารพิษอะไรข้างในบ้าง" น้องปวิชญา เล่า
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาขนมอันตรายที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปนั้น นักเรียนข้างต้นเสนอความเห็นทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า "อยากให้ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านมานั่งคุยพร้อมๆ กัน คุณครูมาช่วยอธิบายว่า ขนมแบบไหนมีสารอันตรายข้างใน ถ้าชาวบ้านเข้าใจพวกเขาและผู้ใหญ่บ้านก็จะสั่งให้ร้านค้าช่วยกันไม่เอามาขายได้ เมื่อไม่มีขาย เด็กๆ ก็ไม่ซื้อกิน"
-------------------
'สารกันบูดในลูกชิ้น' ตับ-ไตเด็กพัง !
"มี 4 อย่าง คือ ลูกชิ้น ขนมปังสังขยา น้ำหวานอัดลม และก๋วยเตี๋ยว ใส่สารกันบูดเยอะมาก"
ผศ.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาทางอาหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงงานวิจัยเก็บตัวอย่างอาหารภายในและภายนอกโรงเรียนปี 2555 พบว่า "สารกันบูด" นิยมใช้กันมากคือ "กรดเบนโซอิก" ใส่ในลูกชิ้น ไส้กรอก ปูอัด และไส้ขนมต่างๆ รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว จากการสุ่มตรวจก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม พบกรดเบโซอิกเฉลี่ย 200 มก. เคยพบสูงสุดถึง 400 มก. ถ้าเทียบกับน้ำหนักตัวเด็กประถมแล้ว ไม่ควรกินเกิน 175 มก./วัน ส่วนเด็กโตไม่เกิน 250 มก./วัน
ผศ.เวณิกา ชี้ว่า ลูกชิ้นมีกรดเบนโซอิกเฉลี่ย 13 มก./ลูก เคยพบมากสูดถึง 34 มก./ลูก หมายความว่า เด็กๆ ไม่ควรกินเกิน 3-4 ลูก/วัน ขนมปังสังขยาเฉลี่ย 8 มก./ชิ้น สูงสุดพบ 27 มก./ชิ้น สำหรับน้ำหวาน น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมนั้น พบ 36 มก./แก้ว สูงสุดพบมากถึง 130 มก./แก้ว
"น่าตกใจนะ ที่พบตัวเลขสารกันบูดเยอะขนาดนี้ ลองคิดง่ายๆ ว่า แค่ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวมีกรดเบนโซอิกผสม 200-300 มก. แล้วถ้าเด็กกินน้ำหวาน ลูกชิ้น ขนมปังเข้าไปด้วย หมายถึงสารกันบูดที่ผสมในอาหารทุกชนิดเหล่านี้ รวมกันแล้วทำให้ร่างกายเด็กขับออกไปไม่หมด เมื่อสะสมมากๆ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย สารกันบูดพวกนี้ไม่ค่อยมีพิษเฉียบพลัน เด็กๆ หรือผู้ปกครองไม่รู้ตัว แต่ระยะยาวถ้ากินมากๆ ติดต่อกันประจำ จะทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับและไตลดลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ในอนาคต"
เนื่องจากการผลิตขนมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งขายทั่วประเทศหรือทั่วจังหวัด จึงจำเป็นต้องใส่สารกันบูดจำนวนมากไม่ให้อาหารเน่าเสียง่าย โดยเฉพาะขนมหรืออาหารที่ไม่มีฉลากกำกับหรือวันหมดอายุ ยิ่งเสี่ยงอันตราย แตกต่างจากในอดีตที่ขนมหรืออาหารจะขายหมดวันต่อวัน ขายในท้องถิ่น ทำขายใหม่ๆ ทุกวัน
"ต้องให้เด็กๆ รู้ภัยร้ายสารกันบูด หรือสารพิษในอาหาร รู้ว่า ถ้ากินบ่อยๆ ร่างกายของเขาสะสมสารพิษตกค้างพวกนี้มากๆ จะมีอันตรายในอนาคตอย่างไร พวกเขาจะเลือกกินมากขึ้น รวมกันเป็นพลังในการต่อรองให้โรงเรียนและร้านขนมเปลี่ยนมาขายเฉพาะสินค้าดีๆ ไม่ใส่วัตถุเจือปนอันตราย" ผศ.เวณิกา เสนอทางออก
-------------------
(เตือนภัย ! ขนมพิษ..ฉลองปิดเทอม : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)