
เปิดใจรองอธิการบดีอุเทนถวาย 'ผมก็เป็นศิษย์เก่าปทุมวัน'
28 ก.ย. 2557
เปิดใจรองอธิการบดีอุเทนถวาย 'ผมก็เป็นศิษย์เก่าปทุมวัน' : โดย...วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ - ปกรณ์ พึ่งเนตร
"วิธีการเดียวที่จะช่วยครู ช่วยโรงเรียน คือ ต้องไม่ก่อการร้ายทุกประเภท ต้องอดทน อดกลั้นต่อการยั่วยุทุกชนิด"
เปรี้ยง! เสียงคำรามจากปืนพกแผดก้องในความจอแจและสายฝนโปรยปราย ปลิดชีพ กันต์กนิษฐ์ พรมแก้ว หรือ "มะเฟือง" นักศึกษาหญิงอุเทนวัยเพียง 20 ปีที่ยืนรอรถประจำทางอยู่กลางผองเพื่อนและฝูงคน
แม้ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงค่ำ แต่ก็เป็นป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้าชื่อดังกลางเมืองหลวง!
หลังจากนั้นศึกระหว่างสถาบันอาชีวะคู่อริที่ยืดเยื้อยาวนานก็เปิดฉากอย่างร้อนระอุ หลังจากเงียบหายไปนานนับปี
ข่าวนักศึกษาช่างกลถูกยิงปรากฏต่อเนื่อง ทั้งสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน คู่รักคู่แค้นของอุเทน หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวมทั้งสถาบันอื่นๆ กระทั่งสุดท้ายตำรวจตามจับผู้ต้องหาได้ เป็นกลุ่มนักศึกษาอุเทน 6 คน ที่รับสารภาพว่าก่อเหตุยิงนักศึกษาสถาบันคู่อริเพื่อแก้แค้นให้ "มะเฟือง" เพื่อนร่วมสถาบันของตนเอง
ส่วนนักศึกษาสถาบันอื่นที่ถูกยิงเสียชีวิต พวกเขารับว่าเป็นเพราะเข้าใจผิด และยิงผิดตัว!
หลังมีข่าวครึกโครมในทางโหดร้าย ใช้ความรุนแรง กระแสสังคมก็โหมกระหน่ำวงการอาชีวะ ช่างกล กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับประกาศใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดสถาบันทันทีหากมีนักศึกษาของสถาบันนั้นๆ ก่อเรื่องอีก
แต่คนที่มีสายเลือดช่างกลมาค่อนชีวิตอย่าง สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีอุเทน มองสวนทางว่า นั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เพราะการใช้กำลังตัดสินปัญหา จะว่าไปก็เป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่น การจัดหากิจกรรมและชักนำพวกเขาไปสู่สิ่งที่ถูกที่ควร น่าจะเป็นแนวทางแก้ไขที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่าการปิดสถาบัน
"อาชีวะ ช่างกล ยามสงบก็ตีกันเอง แต่ถ้ามีภัยเมื่อไร ก็จะรวมตัวกัน" เป็นคำอธิบายแบบสั้นๆ ง่ายๆ ของ สืบพงษ์ ที่สะท้อนความเข้าถึงหัวจิตหัวใจของนักเรียนอาชีวะเป็นอย่างยิ่ง
"ฉะนั้นถ้าผู้มีอำนาจสนับสนุนการรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นของอาชีวะ ก็จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะจริงๆ แล้วพวกนี้มีความพร้อม แต่โอกาสไม่มี ก็เลยเอาพลังไปทำอย่างอื่น พวกนี้ถ้าไม่มีกิจกรรมอะไร ก็พร้อมรบกันเองตลอดเวลา"
คนนอกวงการมักไม่ทราบว่า อ.สืบพงษ์ รองอธิการบดีอุเทน 1 ใน 4 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันคู่อริของอุเทนนั่นเอง
และเขาก็ผ่านเรื่องราวที่คนทั่วไปสรุปรวบยอดง่ายๆ ว่า "นักเรียน นักเลง" มาอย่างโชกโชน
"สมัยก่อนผมเรียนช่างกลปทุมวัน บอกตรงๆ กับอุเทนนี่รักกันเลย แน่นอนว่าการกระทบกระทั่งกัน วิวาทกันก็มีเป็นปกติ แต่สมัยก่อนเรามีระบบที่อาจจะเรียกว่า 'ขาใหญ่' พอมีเรื่องกันที ขาใหญ่ 2 ฝ่ายก็เจรจากันเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย ฝ่ายไหนผิด เริ่มก่อน ก็ต้องยอมรับผิด และพาตัวคนผิดมาขอโทษ เรื่องก็จบ"
"ช่วงที่ผมเรียนก็เคยมีเด็กอุเทนถูกตีมา เราก็นัดเพื่อนๆ ชักแถวเดินกันไปอุเทน ฝ่ายอุเทนก็ตั้งแถวรับ พาเข้าไปในโรงอาหาร ขาใหญ่ของเขาก็ถามผมว่า 'มีอะไร' ผมก็บอกว่า 'มาเจรจา มีคนถูกตี' ก็คุยกัน สุดท้ายเขาก็เรียกคนตีมาขอโทษ ทุกอย่างก็จบ ก็จับมือกัน นี่คือระบบของสมัยก่อน แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ไม่มีใครขาใหญ่พอ"
อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่สองสถาบันมีปัญหากันในระยะหลัง แต่ละสถาบันก็มีมาตรการเข้มดูแลนักศึกษาของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวไปแล้ว เช่น เลิกเรียนไม่เกิน 15.30 น. บังคับนักศึกษาออกจากสถาบันเพื่อกลับบ้านไม่เกิน 17.00 น. ติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและตรวจโลหะที่หน้าประตูทางเข้าโรงเรียน ฯลฯ ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ถึงขนาดเปลี่ยนนโยบายการรับนักศึกษา ไม่เน้นรับเด็กจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลย แต่มุ่งรับเด็กต่างจังหวัดแทน
กระทั่ง "มะเฟือง" ถูกยิงเสียชีวิต...
"ผมก็บอกเด็กๆ แล้ว ปลอบเขาแล้ว ทำทุกอย่างจนไม่รู้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะพยายามทำความเข้าใจว่าอย่าไปคิดเองว่าเกิดจากสถาบันโน้นสถาบันนี้ เพราะปัญหาของเรามันมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน หรืออาจจะมีคนต้องการก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพราะทุกวันนี้มีเพียงหน่วยเดียวที่ทำได้ คือ นักศึกษา ส่วนหน่วยอื่นมิบังอาจ ฉะนั้นอาจจะเป็นการยั่วยุก็ได้ ก็ต้องให้ตำรวจดำเนินการ"
สืบพงษ์ เล่าถึงสถานการณ์หลังจากที่นักศึกษาหญิงของเขาถูกยิง ก่อนจะเปรยว่าปัญหาคือตำรวจจับคนร้ายไม่ได้ แต่ถึงจะจับไม่ได้ ก็ควรมีความคืบหน้า ทว่าคดีนี้ไม่มีเลย แล้วเพื่อนฝูงของมะเฟืองจะคิดอย่างไร ยืนรอรถเมล์อยู่ดีๆ ในที่ที่เจริญที่สุดในประเทศไทย ยังโดนแบบนี้
"ผมก็ปลอบ แต่ปลอบไม่อยู่จริงๆ ผมไปงานศพมะเฟืองที่บ้านเขา ที่ชัยนาท พ่อของเด็กก็บอกผมว่า..อาจารย์ช่วยติดตามคดีด้วย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ผมก็สังหรณ์ใจอยู่แล้ว และท้ายที่สุดเด็กก็คิดทำกันเอง"
สืบพงษ์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า ปัญหาเรื่องที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอุเทนในขณะนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขานำมาอธิบายให้นักศึกษาได้เข้าใจว่ากำลังเผชิญปัญหาอะไรร่วมกันอยู่ และต้องหยุดการทะเลาะวิวาทหรือใช้ความรุนแรง มิฉะนั้นจะยิ่งซ้ำเติมสถาบัน และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ชื่ออุเทนเงียบหายไปจากวงการ "นักเรียน นักเลง" นานพอควร
"เราชี้แจงให้นักเรียนทราบว่าวิกฤติของอุเทนอยู่ที่เรื่องที่ดิน และเหตุรุนแรงระหว่างสถาบันจะส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องที่ดินด้วย จึงได้บอกนักเรียนว่าให้ระมัดระวัง เพราะในทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย เรามีโอกาสชนะ และศาลปกครองก็รับเรื่องไว้แล้ว แต่ที่กลัวคือ "กระแสสังคม" ที่อาจมองว่าสถานศึกษาแห่งนี้เป็นแหล่งซ่องสุม เลี้ยงลูกเป็นโจร มีแต่อันตราย จึงสมควรต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น"
"วิธีการเดียวที่จะช่วยครู ช่วยโรงเรียน คือ ต้องไม่ก่อการร้ายทุกประเภท ต้องอดทน อดกลั้นต่อการยั่วยุทุกชนิด และต้องเป็นคนดี ส่วนด้านการบริหาร ก็ได้ตัดสินใจขยายการศึกษา ช่วงที่เราต่อสู้เรื่องที่ดินนั้นเรามีนักเรียนอยู่ประมาณ 180 คน ก็ตัดสินใจเปิดภาคสมทบ ให้ผู้ใหญ่เข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มยอด"
"ต่อมาเราได้ตัดสินใจเปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารการก่อสร้าง ถ้าเราไม่ตัดสินใจยกระดับด้วยการขยายการศึกษา สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะฉะนั้นต้องเปิด สาเหตุที่กล้าเปิดเพราะสถานศึกษาเราอยู่ในทำเลที่ดี เดินทางไปมาสะดวก ชื่อเสียงเก่าแก่ ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีนักศึกษาเข้ามาเรียนมากขึ้นจริงๆ ขณะนี้กำลังเตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาเอก ด้านพลังงานทดแทน เตรียมอาจารย์ไว้พร้อมแล้ว"
สืบพงษ์ เล่าต่ออีกว่า เมื่อพัฒนางานด้านวิชาการแล้วแต่ยังไม่พอ ต้องเพิ่มกิจกรรมเข้าไปด้วย เรามีงานวิจัยเรื่อง "โบสถ์ดิน" ของ อ.วิทวัส สิทธิกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้นำงานวิจัยนี้ไปสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
"เราจับมือกับกรมราชทัณฑ์ สร้างโบสถ์ดิน 9 แห่งทั่วประเทศ อุเทนรับดำเนินการทั้งหมด 4 แห่ง ทำเสร็จทั้งหมดแล้ว ใช้เงินไม่เกิน 2 ล้านบาท อ.วิทวัส ผู้ดำเนินการกำลังได้รับรางวัลผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาดีเด่นในเดือนหน้า ทั้งหมดนี้ให้นักเรียนไปร่วมทำ เพื่อให้พวกเขามีจิตสาธารณะ มีเรื่องดีๆ ทำ"
สืบพงษ์ สรุปว่า เมื่อมีกิจกรรมที่ดี และนำระเบียบวินัยเข้าไปจับ เด็กไม่ดีก็คัดออกไป ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนแนวคิดการปิดสถาบันนั้น ต้องถามว่าปิดเพราะอะไร
"เรามีคนเป็นพันคน แต่คนก่อเหตุแค่สิบหรือยี่สิบคน ไปปิดเขาทำไม ถ้าสถานศึกษาปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการก็ว่าไปอย่าง ถือว่าครูบาอาจารย์ไม่เอาไหน แต่ถ้าครูบาอาจารย์ทำเต็มที่ แต่เหตุเกิดจากปัจจัยภายนอก ควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ยุติธรรมที่จะปิดเรา"
เมื่อซักว่าปัจจัยภายนอกคืออะไร อ.สืบพงษ์ บอกว่า อย่างคนถูกยิงตายที่ป้ายรถเมล์ ใครก็ไม่รู้ก่อเหตุ ถามว่าใครจะควบคุม หรือเด็กอุเทนไปก่อเหตุข้างนอก ใครเป็นคนควบคุม ก็ย้อนกลับมาว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้
"ภายในสถานศึกษาได้แก้ปัญหาแล้ว ถ้าไม่ทำก็ลงโทษผู้บริหาร แต่ข้างนอก ตำรวจต้องทำหน้าที่ ที่ผมเล่าถึง 'ขาใหญ่' ในตอนต้นว่าสมัยก่อนมี สมัยนี้ไม่มีนั้น จริงๆ แล้วสมัยนี้ก็มีขาใหญ่ คือ ตำรวจ ซึ่งง่ายมาก ถ้าตำรวจพบเด็กจับกลุ่มกันก็ตรวจค้นทันที พบสิ่งผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี ไม่พบก็ปล่อยไป ทำอย่างนี้ได้ก็จะไม่เกิดการยกพวกตีกัน เพราะถูกจับหมดแล้ว"
"แต่ตรงนี้จะไปต่อว่าตำรวจก็ไม่ได้ เพราะกำลังตำรวจมีน้อย และมีภารกิจอื่นด้วย แต่ช่วงนี้ถือเป็นนาทีทองแล้ว น่าจะทำได้ เพราะเป็นช่วงประกาศกฎอัยการศึก เอาทหารออกมาได้ ก็เอาทหารกับตำรวจมาช่วยกัน" อ.สืบพงษ์ ทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอ
--------------------------
(เปิดใจรองอธิการบดีอุเทนถวาย 'ผมก็เป็นศิษย์เก่าปทุมวัน' : โดย...วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ - ปกรณ์ พึ่งเนตร)