ไลฟ์สไตล์

อยากให้'ชานบ้าน ชานเรือน'ที่หายไปกลับมา

อยากให้'ชานบ้าน ชานเรือน'ที่หายไปกลับมา

27 ก.ย. 2557

อยากให้ 'ชานบ้าน ชานเรือน' ที่หายไปกลับมา : คอลัมน์ คลินิคคนรักบ้าน โดย... ดร.ภัทรพล

 
          จากการที่ผมได้คลุกคลีเกี่ยวกับการออกแบบอาคารบ้านเรือนมาตลอดเวลากว่า 30 ปี เห็นการแปรเปลี่ยนรูปแบบไปตาม “วิถีการกินอยู่” แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปที่ไม่เหมาะสมนักคือ การค่อยๆ ทยอยหายไปของ “ชานบ้าน ชานเรือน” ผมคิดว่าเด็กรุ่นหลังๆ คงไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งหนี้ที่น่าประทับใจอย่างที่ผมเคยประสบพบมาในช่วงเยาว์วัย
 
          จากการศึกษาค้นคว้าของผมพบว่า “ชานบ้าน ชานเรือน” ของ “เรือนไทย” ในอดีตมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เรือนนอน, เรือนครัว และ เรือนสำหรับพักผ่อน หรือ เรือนประธาน ซึ่งเป็น “เรือนอเนกประสงค์” จะว่าไปแล้ว “ชานบ้าน ชานเรือน” ก็เปรียบเสมือนพื้นที่ “ส่วนกลาง” ที่เรียงร้อยกลุ่มพื้นที่ใช้สอยต่างๆ  ของ “เรือนไทย” หลายหลังเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และที่น่าแปลกใจและตกใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับ “บ้านเรือนไทยสมัยใหม่” คือ “ชานบ้าน ชานเรือน” ได้ค่อยๆ สูญหายไป เรียกกันว่าแทบจะหายไปโดยสิ้นเชิง 
 
          ดังนั้น พื้นที่หนึ่งของบ้านที่ผมอยากเรียกร้องให้กลับมาคือ “ชานบ้าน ชานเรือน” เพราะแท้จริงแล้วพื้นที่นี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นพื้นที่ใช้สอยเอนกประสงค์ที่สามารถดัดแปลงได้อย่างหลากหลาย ตอนผมเด็กๆ ก็ใช้ชีวิตบางส่วนวิ่งเล่นที่นี่แหละครับ เวลายายหรือย่า จะเล่าหรือจะสอนเรื่องอะไร ก็อาศัยพื้นที่ตรง “ชานบ้าน ชานเรือน” อาจเป็นพื้นที่ที่ดูผิวเผินแล้วดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่แท้จริงมีอะไรมากมายซุกซ่อนอยู่ เป็นพื้นที่รองรับการใช้ชีวิต ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในการกินการอยู่แบบไทยๆ โดยแท้จริงครับ   
 
          ในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากจะอาศัยบริเวณ “ชานบ้าน ชานเรือน” เป็นที่ปลูกพืชผัก ผลไม้ ประเภทสวนครัวรั้วกินได้ ตลอดจนเป็นที่เตรียมอาหารคาวหวาน ทั้งยังใช้เป็นที่ตากปลาแห้ง ปลาเค็ม ฯลฯ ทั้งยังดัดแปลงประยุกต์ใช้พื้นที่เป็นที่จัดสวนประเภทไม้แคระ, ไม้กระถาง, ไม้บอนไซ เป็นต้น หนักข้อเข้าก็ตั้งวงมโหรีเล่นดนตรีไทยกัน หรือจัดปาร์ตี้แบบไทยๆ ในหน้าน้ำหลาก ใช้พื้นที่นี้รองรับกิจกรรมที่หลากหลายในบ้าน และสำคัญที่สุดเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดใช้อบรมบ่มนิสัย  ตลอดไปจนถึงการถ่ายทอดบรรดา “ของดีมีอยู่” ตลอดจนศิลปะการใช้ชีวิตแก่คนรุ่นลูกหลานครับ   
 
          ผมเชื่อว่าเราจะฟื้นฟูศิลปะการกินการอยู่แบบไทย ตลอดจนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบไทยอันเป็น “ของดี มีอยู่” ให้หวนกลับมาได้นั้น จำเป็นต้องอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา “ชานบ้าน ชานเรือน” ให้ฟื้นคืนชีพกลับมา เพราะเปรียบเสมือน “รากแก้ว” อีกแขนงหนึ่งที่สำคัญยิ่งของ “บ้านเรือนแบบไทย” หากทนุบำรุงดูแลรักษาไว้ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลยครับว่าจะฟื้นฟูวิถีการใช้ชีวิตแบบไทยให้กลับมาได้อีก ซึ่งปัจจุบันการใช้ชีวิตแบบ “แดกด่วน” ในสังคม “ทุนนิยม” ที่หลงใหลได้ปลื้มไปกับ “วัตถุนิยม” แบบสุดกู่นั้น เป็นกระแส “วังวน” ที่น่ากลัวมากครับ เพราะหากไม่รู้เท่าทันยิ่งนานวันก็ยิ่งจะถลำลึกลงไปตกเป็นทาสทางความคิดของ “บริโภคนิยม” ที่คืบคลานเข้ามาครอบทั้งคนไทยและสังคมไทย  
 
          เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว มาร่วมแรงร่วมใจกัน “ปฏิรูปการบ้าน” เอา “ชานบ้าน  ชานเรือน” ของเรากลับคืนมา ฟื้นคืนชีวิตใหม่ (Revitalization) เข้าใจ,เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา “ชานบ้าน ชานเรือน” รูปแบบใหม่ๆ ที่ “ร่วมสมัย” ซึ่งกระบวนการ “ต่อยอด” รูปแบบที่เคยเป็น “ของดี มีอยู่” นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาศิลปะและวัฒนธรรมการกินอยู่แบบไทยให้อยู่คู่สังคมไทยตราบนานเท่านานครับ 
 
.......................................
(หมายเหตุ อยากให้ 'ชานบ้าน ชานเรือน' ที่หายไปกลับมา : คอลัมน์ คลินิคคนรักบ้าน โดย... ดร.ภัทรพล)