
วษท.ราชบุรีจับมือจุฬาฯเปิดหลักสูตรผู้ช่วยสัตวแพทย์
วษท.ราชบุรีจับมือจุฬาฯเปิดหลักสูตรผู้ช่วยสัตวแพทย์ : รติพร บุญศรเรื่อง ประชาสัมพันธ์ สอศ.ภาพ
"ที่นี่เปิดสอนสาขาสัตวรักษ์มาเกือบ 20 ปีแล้ว เป็นการบูรณาการ 3 ศาสตร์ด้วยกันคือ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ สัตวบาล เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตร ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ได้ลงนามความร่วมมือกับจุฬาฯ และภาคเอกชนอีก 6 แห่ง จัดอาชีวศึกษาเกษตรระบบทวิภาคี ในระดับชั้นประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาสัตวรักษ์ เพื่อเปิดสอนในปี 2558 นักศึกษาที่จะเรียนวิชาการที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี จะไปฝึกงานที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ และอีก 6 หน่วยงานที่ร่วมมือกัน" นสพ.พิเชษฐ ประจงทัศน์ อาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาสัตวรักษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี กล่าว
มีสถานประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ตกลงร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษาเกษตร ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท รุ่งเรืองกิจ จำกัด, หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ รบ.3 (พุยาง) กรมป่าไม้, สมาคมศิษย์เก่าเกษตรเขาเขียวและวีระชัยฟาร์ม, บริษัท สยามบีฟ จำกัด, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก, บริษัท สุริยะจันทร์ จำกัด ซึ่งจะให้ความร่วมมือจัดอาชีวศึกษาเกษตร กับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี (วษท.ราชบุรี) ในหลายสาขาวิชา
นสพ.พิเชษฐ อธิบายว่า นักศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 2 ที่ไปฝึกงานกับทางโรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาฯ ในภาคการศึกษาที่ 3 และภาคการศึกษาที่ 4 จุฬาฯ จะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาที่พัก และค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทุนการศึกษา ค่าใช้จ่ายการประกันอุบัติเหตุ และค่ารักษาพยาบาล ให้แก่นักศึกษาระหว่างเข้าฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาจะมีบทบาทของผู้ช่วยสัตวแพทย์ มีการเรียนรู้งานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะสาขาสัตวรักษ์ได้รับการออกแบบให้มีวิชาทางด้านการดูแลสุขภาพสัตว์เบื้องต้นหลายวิชา เช่น วิชาอายุรศาสตร์เบื้องต้น, วิชาการใช้เวชภัณฑ์พื้นฐาน, วิชาศัลยศาสตร์เบื้องต้น, วิชาคลินิก และวิชาการเลี้ยงสุนัข รายวิชาเหล่านี้นักศึกษาจะสามารถทำงานเป็นทีมเดียวกับสายงานทางสัตวแพทย์ได้อย่างดี ในส่วนของการตรวจเนื้อจะมีการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน ที่สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
"นักศึกษาที่จบจากสาขาสัตวรักษ์เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาด ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลด้านสัตวแพทย์ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่กำลังขาดแคลนบุคลากร ในส่วนของผู้ช่วยสัตวแพทย์ อีกหลายอัตรา รวมทั้งนักส่งเสริมสุขภาพปศุสัตว์ในฟาร์มโคนม โคเนื้อ สุกร และสัตว์ปีก, เจ้าหน้าที่ผสมเทียมของกรมปศุสัตว์, เจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อในโรงฆ่าสัตว์, ผู้แทนอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ในกรมปศุสัตว์, ผู้ช่วยสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ทั้งภาครัฐและเอกชน, เจ้าหน้าที่บริการงานแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ใหญ่, ฝ่ายส่งเสริมการเกษตรของสหกรณ์โคนม, ธุรกิจขายอาหารสัตว์และตัดแต่งขนสุนัข, เจ้าหน้าที่ฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น" นสพ.พิเชษฐ กล่าว
นสพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หลังจากที่เรียนทฤษฎีแล้วต้องไปฝึกงานกับโรงพยาบาลสัตว์เล็ก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทางจุฬาฯ จะต้องปรึกษาหาแนวทางร่วมกับ วษท.ราชบุรี เพื่อเตรียมหลักสูตรการฝึกงานร่วมกัน เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นที่ต้องการจากสถานประกอบการทางด้านสัตวแพทย์แหล่งอื่นๆ อีกด้วย ในอนาคตอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมกับสาขาสัตวรักษ์ของ วษท.ราชบุรี เปิดสอนในระดับปริญญาตรีสาขาสัตวแพทย์การพยาบาลด้วย
ด้าน ศิริลักษณ์ แสงสว่าง เป็นคนในพื้นที่ จ.ราชบุรี นักศึกษา ปวส.2 สาขาวิชาสัตวรักษ์ บอกถึงเหตุผลในการเลือกเรียนสัตวรักษ์ว่า เป็นสายงานที่มีความต้องการของอัตราการจ้างงานสูง แต่มีคนสนใจเรียนสาขานี้น้อยมาก และสถานศึกษาเปิดสอนน้อย จึงเลือกเรียนสาขาดังกล่าว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วอยากทำงานเกี่ยวกับการพยาบาลสัตว์เล็ก
"คิดว่าเรียนสาขานี้แล้วมีงานทำแน่นอน เพราะเป็นสาขาที่มีการเปิดสอนน้อย คนก็เรียนน้อย แต่มีความต้องการกำลังคนสูง เมื่อเรียนจบแล้วอยากทำงานเกี่ยวกับการพยาบาลสัตว์เล็ก จึงเลือกเรียนที่นี่เพราะอยู่ในพื้นที่และใกล้บ้านด้วย ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องเดินทางไปไกล" ศิริลักษณ์ กล่าว
สนใจเยี่ยมชมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ตั้งอยู่ที่ 63/1 หมู่ 7 ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 70120 โทร.0-3274-0039 เว็บไซต์ www.rbcat.ac.th.