
ทางสาธารณะยกให้แล้วขอคืนไม่ได้
18 ก.ย. 2557
เปิดซองส่องไทย : ทางสาธารณะยกให้แล้วขอคืนไม่ได้ : โดย...ลุงแจ่ม
ผมอยากถามว่า เจ้าของที่ดินยกที่ดินให้ กทม.เป็นทางสาธารณประโยชน์ แล้วขอคืนได้ไหม ผมส่งรูปมาให้ลุงแจ่มช่วยพิจารณาและประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผมด้วย
จากไฟล์แนบโฉนดที่ดินทาวน์เฮ้าส์ 28/10 ซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ข้างล่างนี้ เป็นที่ดินที่ติดกับเลขที่ดิน 2120 ในผังโครงการ ASHTON ASOKE ซึ่งยืนยันว่ามีทางสาธารณประโยชน์ผ่านไปทางทิศตะวันออก จรดเลขที่ดิน 2121 ของสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ.2525 ผมย้ายเข้ามาพักในทาวน์เฮ้าส์ ซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ก็ยังเห็นทางสาธารณประโยชน์ลึกเข้าไปทางทิศตะวันออก แต่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน เมื่อคราวที่ กทม.เริ่มโครงการยกระดับพื้นถนนซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ให้สูงขึ้น จึงปรากฏว่า มีรั้วเหล็กและบ้านเลขที่ 20 ป้ายบ้านเลขที่แขวนที่รั้วตามรูปที่ผมส่งให้ดู
และจากรูปผังโครงการ ASHTON ก็ยังมีเส้นขนาน 2 เส้น และหลักหมุดปรากฏให้เห็น เพียงแต่มีเส้นขีดฆ่ากำกับ ส่วนอีกภาพหนึ่ง ในภาพที่ได้มาจากเว็บไซต์ของกรมที่ดิน http://dolwms.dol.go.th/ ก็ยังคงมีทางสาธารณะอยู่ แต่น่าเสียดายที่ใช้อ้างอิงไม่ได้ และภาพสุดท้ายในหน้าโฉนดของเลขที่ดิน 2120 และ 2122 หมุดทางสาธารณะก็ถูกลบออกไป
อยากถามว่า ทางสาธารณประโยชน์ที่ยกให้ กทม. เจ้าของเดิมขอคืนได้ไหม ถ้าไม่ได้ ทำไมหัวหน้ารังวัดกรมที่ดิน จึงขีดฆ่าออกไป แล้ว กทม.ทำไมไม่ยกระดับถนนในส่วนที่เลยรั้วบ้านเลขที่ 20 เข้าไปจรดเลขที่ดิน 2121
ชาวบ้านซอยสุขุมวิท 19 แยก 2
ตอบ
ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตวัฒนา ชี้แจงว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 วรรคแรก ระบุว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืน หรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
กรณีเจ้าของที่ดินบริจาคอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย ถึงแม้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นตามประสงค์ของเจ้าของที่ดิน หรือไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของการบริจาคอุทิศให้ ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่ทำให้ที่ดินนั้นกลับเป็นเจ้าของเดิมผู้อุทิศ ทั้งนี้ กฎหมายห้ามจำหน่าย จ่าย โอน สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น เจ้าของเดิมจึงไม่มีสิทธิเรียกที่ดินกลับคืนมาเป็นของตนเองได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้สิทธิไว้
กรณีข้อสงสัยเรื่องการยกระดับถนนในส่วนที่เลยรั้วบ้านเลขที่ 20 อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลาที่ กทม.ทำการยกระดับถนนนั้น เจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าวยังไม่ได้ทำการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ที่ดินนั้นจึงเป็นที่ดินของเอกชนและมีบ้านตั้งอยู่ คือ บ้านเลขที่ 20 ที่ปรากฏป้ายบ้านเลขที่อยู่ดังกล่าว
ฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ชี้แจงว่า ต้องตรวจสอบก่อนว่าข้อเท็จจริงคืออะไร และที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นทางสาธารณะหรือไม่ หากเป็นทางสาธารณะ หลักหมุดทางสาธารณะหายไปได้อย่างไร ดังนั้น แนะนำให้ผู้ร้องเรียนติดต่อที่ฝ่ายรังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง โดยนำหลักฐานต่างๆ อาทิ บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดิน ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดต่อไป
ลุงแจ่ม
ชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร
ผมมีเรื่องอยากทราบรายละเอียด เกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์ทหารครับ คือ แม่ผมเป็นคนไทย พ่อเป็นคนญี่ปุ่น แต่ตัวของผมนั้นได้เกิดในประเทศไทย ถ้าดูจากใบสูติบัตรตรงที่เขียนสัญชาติ ไม่ได้สัญชาติไทย แต่ก็ไม่ได้เขียนว่า เป็นสัญชาติญี่ปุ่นนะครับ และเมื่อพลิกดูที่ด้านหลังของใบสูติบัตร ปรากฏว่า มีเขียนการแก้ ให้เป็นสัญชาติไทยแล้วครับ
ถ้าเป็นแบบนี้ ผมจะต้องไปเกณฑ์ทหารไหมครับ แล้วถ้าพ่อแม่จดทะเบียนกับไม่จดทะเบียน เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหมครับ
กัมพล
ตอบ
ผู้ช่วยสัสดี สำนักงานเขตบางนา ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ชายไทยทุกคน ที่เป็นสัญชาติไทย จะต้องเกณท์ทหาร นี่คือกฎหมายที่บังคับ และชายไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามนี้ ถ้าไม่เกณฑ์ทหารถือว่า เป็นการหนีทหาร ซึ่งมีความผิด
เมื่อายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ ชายไทยทุกคนที่มีสัญชาติไทย ต้องไปขึ้นทะเบียนเกณท์ทหาร โดยเอาทะเบียนบ้านภูมิลำเนาของมารดาเป็นหลักว่า ควรจะไปขึ้นทะเบียนที่ไหน ถ้าทะเบียนบ้านของมารดาอยู่จังหวัดไหนก็ไปขึ้นทะเบียนที่จังหวัดนั้น
กรณีของคุณ เมื่อมีการระบุว่า เป็นสัญชาติไทย อย่างไรเสียก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร เพราะถือว่า เป็นชายสัญชาติไทยต้องเกณฑ์ทหารกันทุกคน
หลังจากไปรายงานขึ้นทะบียนแล้ว ส่วนที่จะมีการขอผ่อนผัน การรับสิทธิพิเศษต่างๆ นั้น ก็ต้องว่ากันอีกทีหนึ่ง แต่ต้องหลังจากที่ไปขึ้นทะเบียนเพื่อเกณฑ์ทหารเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนที่ว่านี้ถึงจะสามารถทำได้ ส่วนเรื่องที่ว่า พ่อกับแม่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนนั้น ไม่มีผลกับเรื่องนี้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ ใช้ทะเบียนบ้านตามภูมิลำเนาเกิดของแม่เป็นการยืนยันสำหรับเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนสมรส
ด้าน ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน ผศ.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า ตามกฎหมายไทยแล้ว ผู้ชายไทยที่มีสัญชาติไทยทุกคน ต้องเกณฑ์ทหาร ดังนั้น กรณีของคุณมีการระบุไว้หลังสูติบัตรชัดเจนว่า เป็นสัญชาติไทย แสดงว่า แม้พ่อคุณจะเป็นคนญี่ปุ่น แต่คุณได้ใช้สัญชาติเดียวกับแม่ คือ สัญชาติไทย
ดังนั้น ก็ต้องไปรายงานตัวเพื่อเกณฑ์ทหาร เหมือนกับชายไทยทุกคน
ส่วนเรื่องที่พ่อของคุณซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น และแม่ที่เป็นคนไทย จะจดทะเบียนกันหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่จะอ้างอิง
ลุงแจ่ม