'บั๊กการ์ด' แผ่นแปะกันยุงสมุนไพร ผลงานวิจัยเภสัชกรหญิงจุฬาฯ
16 ก.ย. 2557
ทำมาหากิน : 'บั๊กการ์ด' แผ่นแปะกันยุงสมุนไพร ผลงานวิจัยเภสัชกรหญิงจุฬาฯ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ด้วยความหลังฝังใจตอนวัยเด็กถูกยุงลายกัดจนเป็นไข้เลือดออก ทำให้เภสัชกรหญิง "วันทณีย์ เสนาคุณ" เจ้าของร้านขายยาฟาร์ม่าเวนเซ่อร์ พยายามคิดค้นยากันยุงเพื่อป้องกันปัญหายุงกัด โดยใช้เวลาศึกษาทดลองอยู่กว่า 4 ปี หลังเรียนจบปริญญตรีด้านเภสัชศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ ในที่สุดประสบผลสำเร็จ จึงเป็นที่มาของแผ่นแปะป้องกันยุงสมุนไพร ภายใต้ตราสัญลักษณ์ "บั๊กการ์ด (BUG GUARD)"
"บ้านพักอยู่ใกล้ตลาดสด ตลาดสมัยก่อนก็ไม่ได้สะอาดเท่าไหร่ แมลงเยอะมากๆ ทั้งแมลงวัน แมลงสาบ และโดยเฉพาะยุง จำได้ว่าตอนอยู่ป.2 เป็นไข้เลือดออกต้องส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลประจำจังหวัดและนอนไอซียูเป็นเดือน หลังจากนั้นก็เริ่มกลัวโรคนี้" ภญ.วันทณีย์ย้อนอดีตอันฝังใจ จากนั้นก็ใฝ่ฝันอยากจะเรียนทางด้านเภสัชเพื่อที่จะคิดค้นหายาในการรักษา ในที่สุดก็สมความตั้งใจ เมื่อสอบติดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อค้นหาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
เธอเล่าต่อว่า ในคณะเภสัชศาสตร์ปีแรกจะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปเหมือนคณะสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ แต่พอขึ้นปีสองเริ่มเรียนวิชาพื้นฐานของเภสัชฯ วิชาที่โหดที่สุดคือเภสัชพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่เกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้เป็นตัวยาทั้งหมด ซึ่งจะต้องจำชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์และลักษณะของพืชชนิดนั้นทั้งหมด เช่น ชนิดของลำต้น ใบเลี้ยง จำนวนกลีบดอก ราก ผล สี กลิ่น รส สารออกฤทธิ์ ใช้รักษาอะไร นับเป็นร้อยๆ ชนิด ทำให้รู้จักพืชสมุนไพรและต่างประเทศเป็นอย่างดี
"ปีสุดท้ายจะต้องเรียนวิชาการตลาด ทำให้รู้ว่าทำไมบริษัทยาถึงไม่คิดค้นยารักษาโรคไข้เลือดออก ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่น่าเจ็บปวด ประเทศไทยไม่สามารถคิดค้นยาเองได้ ไม่ใช่เพราะเภสัชกรไทยไม่เก่ง แต่ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยขาดเงินทุนในการวิจัยต่อยอดไปจนถึงการผลิตเป็นยาออกมาจำหน่ายจริง เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลาวิจัยนานกว่าจะได้ยาสักตัว"
เจ้าของผลิตภัณฑ์แผ่นแปะกันยุงสมุนไพรยังอธิบายถึงเหตุผลที่บริษัทยาต่างชาติไม่ให้ความสำคัญในการผลิตยารักษาโรคไข้เลือดออก ทั้งที่มีคนป่วยอยู่ทั่วโลก เนื่องจากไข้เลือดออกเป็นโรคของประเทศเขตร้อนชื้น ซึ่งมียุงชุกชุม ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น อากาศหนาว ไม่ค่อยมียุง ทำให้ความสำคัญในการผลิตยาตัวนี้ลดน้อยลงไป
"บริษัทผลิตยารายใหญ่อย่างอเมริกาก็ให้คำตอบว่าเหตุผลที่ไม่มีการวิจัยยารักษาโรคไข้เลือดออก หรือโรคเขตร้อนอื่นๆ ก็เพราะผลิตแล้วก็ต้องเอาไปแจกให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่ส่วนใหญ่พึ่งพายาด้วยการขอรับบริจาคจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศพวกนี้ก็ไม่มีเงินจ่าย คิดค้นออกมาก็ต้องเอามาแจกอย่างเดียว เขาเลยไม่สนใจไปคิดค้นยาคนที่มีเงินป่วยดีกว่า"
หลังเรียนจบ เธอก็เข้าทำงานกับบริษัทผลิตยาสมุนไพรแห่งหนึ่ง ทำให้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาต่อยอดในงานวิจัยทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพร พร้อมกับรั้งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดควบคู่กันไปด้วย หลังใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานกับบริษัทยาระยะหนึ่ง ก็ได้ลาออกเพื่อมาเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อ "ฟาร์ม่าเวนเซ่อร์" ที่บ้านเกิด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พร้อมกับทำงานวิจัยควบคู่กันไปด้วย จนในที่สุดจึงได้ผลิตตัวยาขึ้นมาตัวหนึ่ง มีชื่อว่า แผ่นแปะกันยุง บั๊กการ์ด (BUG GUARD) ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตจากพืชสมุนไพร 100%
"ตัวยาหลักมีส่วนผสมของสมุนไพร 4 ชนิดคือ ตะไคร้หอม ใบฝรั่ง ยูคาลิปตัส และลาเวนเดอร์ ไม่เป็นอันตรายกับทารกหรือเด็กต่ำกว่า 4 ขวบ ส่วนวิธีการใช้แปะตามเสื้อผ้า ช่องแอร์หรือพัดลม เพื่อให้กลิ่นไล่ยุงและยังออกฤทธิ์ได้ไกลและนานกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 4 เท่า หรือเฉลี่ยประมาณ 48 ชั่วโมง/แผ่น สนใจผลิตภัณฑ์ 08-9478-9551" ภญ.วันทณีย์กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกผลิตภัณฑ์เด่น ฝีมือเภสัชกรไทยที่ผลิตจากพืชสมุนไพรเพื่อป้องกันปัญหายุงรบกวน
-------------------------------
(ทำมาหากิน : 'บั๊กการ์ด' แผ่นแปะกันยุงสมุนไพร ผลงานวิจัยเภสัชกรหญิงจุฬาฯ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)