
'อยู่ไฟ' ภูมิปัญญาไทย คืนความสวยคุณแม่หลังคลอด
12 ก.ย. 2557
ดูแลสุขภาพ : 'อยู่ไฟ' ภูมิปัญญาไทย คืนความสวยคุณแม่หลังคลอด
เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ สำหรับการอยู่ไฟหลังจากคลอดลูกเพื่อช่วยให้ร่างกายมีการฟื้นตัวได้รวดเร็ว มีสุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณสดใสได้มากยิ่งขึ้น แต่สำหรับในยุคปัจจุบัน คุณแม่มือใหม่บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือยังคงมีความสงสัยว่า การอยู่ไฟนี้สามารถช่วยให้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ วันนี้วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรจึงมีคำตอบที่จะมาคลายความสงสัยเกี่ยวกับการอยู่ไฟ รวมไปถึงวิธีการอยู่ไฟแบบต่างๆ มาฝาก
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอยู่ไฟจากภูมิปัญญาของคนไทยในสมัยก่อนอีกหลายวิธี ได้แก่
การย่างไฟ คือ การนอนบนแคร่ และนำเตาไฟ 2-3 เตา วางไว้ใต้แคร่ แต่ที่ก่อนขึ้นนอนบนแคร่ ต้องมีการ “เข้าขื่อ” ก่อน ซึ่งก็คือ การนอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบสะโพก เพื่อให้กระดูกเชิงกรานกลับเข้าที่ วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาของโครงสร้างกระดูกสันหลังที่จะผิดปกติตามมาในอนาคต และผู้อยู่ไฟต้องนุ่งเตี่ยวหรือผ้าถุง มีขมิ้นกับปูนแดงผสมเหล้า เอาสำลีชุบปิดสะดือ และทาท้องทาหลังไว้เสมอ เพื่อดับพิษร้อนและรักษาร่างกาย
การทับหม้อเกลือ หรือการนาบหม้อเกลือ เป็นการดูแลคุณแม่หลังคลอด ให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยลดไขมันสะสมที่หน้าท้อง โดยการนำเกลือสมุทรใส่หม้อดินตั้งไฟให้สุก แล้วนำมาผสมสมุนไพร เช่น ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก ใบพลับพลึง เป็นต้น จากนั้นใช้ผ้าห่อ แล้วนำมาประคบตามหน้าท้อง แขน ขา น่อง ความร้อนจากหม้อเกลือจะค่อยๆ ปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง การทับหม้อเกลือหลังคลอดลูกนั้น จะใส่เกลือลงในหม้อทะนนที่มีฝาปิด ตั้งไฟจนร้อนจัดให้เกลือในหม้อมีเสียงปะทุจึงยกหม้อเกลือวางบนใบ ละหุ่งหรือใบพลับพลึง
การกล่อมมดลูก ในระหว่าง 3-7 วันหลังคลอด หมอตำแยหรือผู้ให้บริการการอยู่ไฟจะมาฝืนท้องให้ทุกวัน คือ การเอามือกด-ดันตรงหัวเหน่า เพื่อช้อนให้มดลูกเข้าอู่ แล้วคลึงที่หัวเหน่าให้ปากมดลูกหดเข้าที่ เรียกว่า “การกล่อมมดลูก” ตอนกล่อมมดลูกจะมีน้ำคาวปลาทะลักออกมา ทำให้ผู้ที่อยู่ไฟรู้สึกสบาย
การนั่งถ่าน เป็นการรมควันจากการเผาสมุนไพร ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะในการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำความสะอาดแผลฝีเย็บและช่องคลอด สมานแผล บรรเทาอาการเจ็บปวดแผล ลดการติดเชื้อหลังคลอด สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ผิวมะกรูด ไพล ขมิ้นชัน กำยานบดผง นำมาหั่นให้ละเอียด แล้วเอาไปตากแดด เวลาใช้ให้หยิบทีละ 1 หยิบมือ โรยบนเตาไฟขนาดเล็กหรือกะลาตาเดียว เพื่อให้เกิดควันลอยขึ้นเพื่อสมานแผลบริเวณฝีเย็บ
การเข้ากระโจม คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด มาต้มในกระโจม เพื่อให้ได้ไอน้ำจากการต้ม ก่อนเข้ากระโจมให้เอาว่านนางคำ มาฝนหรือตำ คั้นเอาน้ำผสมกับเหล้าและการบูร ทาร่างกายของผู้ที่อยู่ไฟ กระโจมมักทำด้วยซี่ไม้ไผ่ ทำเป็นโครงเหมือนมุ้งประทุน เอาผ้าคลุมให้มิดชิด ต่อท่อจากหม้อต้มยาเข้าในกระโจม ตำรับยาที่ใช้ต้ม ประกอบด้วย เหง้าไพล ขมิ้น ตะไคร้ ใบหรือผิวมะกรูด ใบส้มป่อย ใบสาวหลง ใบเปล้าน้อย เกลือ พิมเสนและการบูรเล็กน้อย นำมาต้มแล้วอบ มีสรรพคุณเพื่อเพิ่มระบบการไหลเวียนให้ดีขึ้น คลายกล้ามเนื้อ
การประคบสมุนไพร เป็นวิธีการที่ช่วยลดการอักเสบ ลดการคัดของเต้านม ทั้งยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังคลอดบุตร ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก สามารถประคบด้วยลูกประคบ ซึ่งมีตัวยาคือ ไพล ตะไคร้ ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด ใบส้มป่อย การบูร ว่านนางคำ เคล้ากับเกลือ นำไปห่อทำเป็นมัด นึ่งให้ความร้อน ประคบตามตัวและเต้านม ทำทุกวันจนกระทั่งออกไฟ
การเข้าตะเกียบ เป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยในการดูแลหญิงหลังคลอดที่ผดุงครรภ์ไทย หรือหมอตำแยของไทยใช้ในอดีต โดยเน้นการกด การดัดในท่านอนตะแคง เพื่อจัดการให้ข้อต่อสะโพกและรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานขยับเข้าที่ ลดอาการปวด อาการขัดขา เสียวสะโพก เดินไม่สะดวก เนื่องจากการตั้งท้อง ยิ่งท้องแก่ท้องใหญ่ ยิ่งทำให้รอยต่อกระดูกเชิงกรานครากมากขึ้น และในขณะคลอดจะมีการขยายตัวของรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานมากยิ่งขึ้น (โดยธรรมชาติ ข้อต่อเหล่านี้จะกลับเข้าที่หลังคลอด โดยใช้เวลาระยะหนึ่ง) ถ้าแม่เดินหรือก้าวยาวเกินไป หรือก้าวขึ้นบันได จะทำให้ข้อต่อสะโพกขยับ เกิดอาการขัดและเสียวสะโพกเวลาเดิน หมอใช้วิธีการ “เข้าตะเกียบ” เพื่อช่วยให้ข้อต่อสะโพกและรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานขยับเข้าที่
การพันผ้าหน้าท้อง เป็นการใช้ผ้าพันรัดหน้าท้องของหญิงหลังคลอด ตั้งแต่หลังคลอดติดต่อกันประมาณ 15 วัน เพื่อให้ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยกระชับและพยุงหน้าท้องไม่ให้หย่อนยาน แต่มีข้อควรระวัง คือ หญิงหลังคลอดที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ต้องระมัดระวังขณะพันผ้า และต้องไม่พันผ้าให้รัดแน่นเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดและน้ำคาวปลาไหลไม่สะดวกได้
สิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ไฟของคุณแม่หลังคลอด ก็คือ การอยู่ไฟที่ถูกวิธี ซึ่งคุณแม่ควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการการอยู่ไฟที่ต้องใช้ไฟหรือเกิดควัน เช่น การย่างไฟ การนั่งถ่าน หรือการเข้ากระโจม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ในห้องหรือสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรมีผู้ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างที่คุณแม่อยู่ไฟ
วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร