ไลฟ์สไตล์

'กะรังจุดฟ้า' ... มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน

'กะรังจุดฟ้า' ... มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน

07 ก.ย. 2557

'กะรังจุดฟ้า' ... มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                            ด้วยเหตุผลที่ "ปลากะรังจุดฟ้า" เป็นปลาที่นับวันจะหายาก ซึ่งเดิมทีมันเป็นอาหารอันโอชะของนักบริโภคอาหารทะเล เพราะมีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ปลาชนิดนี้ราคาสูงมาก ขณะเดียวกันบางคนที่เป็นนักนิยมเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ก็นำมาเลี้ยงไว้ในตู้โชว์ให้แขกผู้มาเยี่ยมเยือนได้เห็นโฉมของปลาชนิดนี้ 
 
                            "กะรังจุดฟ้า" นับเป็นปลาทะเลที่มีความสวยงามอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะลำตัวแบนยาว บริเวณรอบดวงตาไม่มีเกล็ด มีความยาวถึง 120 เซนติเมตร หางแบน เว้ากลางเล็กน้อย ขนาดสมบูรณ์เพศจะมีน้ำหนักตัวราว 3 กิโลกรัม และสูงสุด 7 กิโลกรัม ตามตัวมีหลากสีตั้งแต่เขียวแดง น้ำตาล และมีจุดสีฟ้าเล็กๆ เห็นแล้วสวยงามมาก
 
                            มักพบในทะเลที่มีความลึกตั้งแต่ 3-100 เมตร ทั้งในทะเลอันดามัน อ่าวไทย อินโดแปซิฟิก ตอนใต้ของญี่ปุ่นถึงออสเตรเลีย รวมไปถึงทางตอนใต้ของหมู่เกาะแคโรลีน และฟิจิ ในทะเลฝั่งอ่าวไทยชาวบ้านเรียกว่า "ปลากุดสลาด" หรือ "ปลาย่ำสวาท"
 
                            กระนั้นก็ตาม เดิมทีค่อนข้างจะเป็นปลาหายาก แต่วันนี้กรมประมงซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.(องค์การมหาชน) ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์ภายใต้ "โครงการต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์" พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า "ปลาจุดฟ้าอันดามัน" และกำลังอยู่ในขั้นตอนการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในกระชัง อนาคตจะพัฒนาเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของ จ.ภูเก็ต และจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันต่อไป
 
                            จากการที่ได้พูดคุยกับ ธวัช ศรีวีระชัย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ทราบว่า เดิมทีปลากะรังจุดฟ้า คนในท้องถิ่นเรียกว่า ปลาเก๋า หรือปลาตุ๊กแก เป็นปลาน้ำลึกที่มีราคาแพง ก่อนหน้านี้ชาวประมงนิยมนำลูกปลาจากธรรมชาติมาเลี้ยงในกระชังเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน บางคนซื้อไปเลี้ยงในตู้ซึ่งเดิมทีจะให้อาหารสดพวกปลา กุ้ง แต่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอาหารเม็ดแล้ว
 
                            รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก.บอกว่า การที่ สวก.สนับสนุนงบวิจัยให้กรมประมงนั้น มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เพราะเป็นปลาหายาก ตลาดต้องการสูง สวก.จึงมองว่าน่าจะปรับกลยุทธ์กระตุ้นความต้องการของตลาดเชิงรุก โดยจะเชื่อมโยงการตลาดกับการท่องเที่ยว ผลักดันให้ปลากะรังทั้ง 3 ชนิดในตระกูลเดียวกัน คือปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือ และปลาหมอทะเล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้วิจัยเพื่อหาแนวทางที่ขยายพันธุ์ต่อไป
 
                            ส่วนกรณีมีบางคนจะนำไปเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามก็ย่อมทำได้ เพราะปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปแล้ว แต่การเลี้ยงต้องเป็นตู้ใหญ่ ต้องใช้น้ำทะเลเลี้ยง แต่ไม่มั่นใจว่าเมื่อเลี้ยงในตู้แล้วปลาจะคงสีสวยเหมือนเดิมหรือไม่ ที่แน่ๆ ต้องให้ออกซิเจนให้เพียงพอด้วย
 
                            แม้ "กะรังจุดฟ้า" หรือ "ปลาจุดฟ้าอันดามัน" จะเป็นปลาที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ความสวยงามของปลาชนิดนี้เป็นอีกมิติที่สามารถนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำได้ บนเงื่อนไขมีพื้นที่เลี้ยงที่เพียงพอ อาทิ ในตู้โชว์ขนาดใหญ่ หรืออควอเตอร์ เป็นต้น
 
 
 
 
 
 
----------------------------
 
('กะรังจุดฟ้า' ... มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน : โดย...ดลมนัส  กาเจ)