ไลฟ์สไตล์

ปลูก 'ปอเทือง-โสนแอฟริกัน' ฟื้นฟู 'ดิน' อู่ข้าวลุ่มเจ้าพระยา

ปลูก 'ปอเทือง-โสนแอฟริกัน' ฟื้นฟู 'ดิน' อู่ข้าวลุ่มเจ้าพระยา

02 ก.ย. 2557

ทำมาหากิน : ปลูก 'ปอเทือง-โสนแอฟริกัน' ฟื้นฟู 'ดิน' อู่ข้าวลุ่มเจ้าพระยา : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                           อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลาง นับแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาจนจรดอ่าวไทย จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่การเกษตรกว่า 17 ล้านไร่ กว่าร้อยละ 70 หรือ 11.90 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นาข้าว โดยรับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก มีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อย เป็นตัวคอยสนับสนุน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง 
 
                           ทว่า ผลจากการใช้ดินแบบไม่ยอมพัก ส่งผลให้สภาพความสมบูรณ์ของดินเสื่อมโทรมลง เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีใส่ปุ๋ยเคมีในนาข้าวเพื่อเพิ่มธาตุอาหาร ซึ่งมีผลในระดับหนึ่ง แต่เมื่อใส่มากและบ่อยเข้ากลับเป็นโทษ เพราะปุ๋ยเคมีทำให้ดินแข็ง รากพืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ นอกจากผลผลิตไม่เพิ่มแล้ว ยังเพิ่มต้นทุนในการผลิตมากขึ้น เสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง
 
                           กุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกปุ๋ยพืชสดไถกลบ ไม่ว่าโสนแอฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ โดยจะแนะนำการปลูกโสนแอฟริกันในนาข้าว เพราะทนน้ำขังได้ และต้องทำการปลูกช่วงต้นฝนแล้วไถกลบระยะออกดอกอายุราว 45-50 วัน  
 
                           “แต่ความที่เมล็ดโสนแอฟริกันแข็ง เกษตรกรที่หว่านไม่แช่น้ำจะมีผลทำให้เมล็ดบางส่วนงอกก่อน บางส่วนงอกทีหลัง กลายเป็นปัญหาต่อต้นข้าว เกษตรกรบางรายก็ไม่อยากใช้โสนแอฟริกัน เราเลยคิดใช้ปอเทือง ซึ่งงอกพร้อมๆ กันมาปลูกแทน” 
 
                           รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยต่อว่า ปกติปอเทืองปลูกในที่ดอนหรือนาดอน  เนื่องจากไม่สามารถทนน้ำขังเหมือนโสนแอฟริกัน แต่กรมพัฒนาที่ดินทดลองปลูกในที่ราบหรือราบลุ่ม โดยเปลี่ยนไปปลูกช่วงหลังเกี่ยวข้าวแทน ปรากฏว่าได้ผลดี เนื่องจากหลังเก็บเกี่ยวดินยังคงมีความชื้นหลงเหลือเพียงพอที่จะปลูก และส่งผลให้ปอเทืองเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นหากส่งเสริมชาวนาปลูกหลังเก็บเกี่ยวได้ก็จะเป็นผลดีต่อการผลิตข้าวในอนาคต
 
                           "เกษตรกรไร่อ้อยรายใหญ่ในภาคอีสาน ซึ่งเข้าใจประโยชน์ของพืชปุ๋ยสดดี นิยมปลูกปอเทืองในช่วงปลายฝน เพื่อให้อินทรียวัตถุจากปอเทืองเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ดินและต้นอ้อยใช้ประโยชน์ได้" โฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
 
                           สมศักดิ์ สุขจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานการสำรวจจำแนกดิน สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมพัฒนาที่ดินเคยส่งเสริมปลูกพืชปุ๋ยสดในช่วงที่รณรงค์ตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดจากการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดได้ทุกปีหรือ 2 ปีครั้ง ก็จะช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ที่สำคัญอินทรียวัตถุจากพืชปุ๋ยสดช่วยทำให้โครงสร้างดินโปร่ง ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี เพิ่มธาตุอาหาร ทำให้ต้นข้าวดูดใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ผลผลิตมากกว่าเดิม 20-30% ข้าวมีคุณภาพและรสชาติดีขึ้นจากธาตุอาหารบางตัวที่ไม่มีในปุ๋ยเคมี 
 
                           “พืชก็คล้ายกับคน เมื่อมีสุขภาพดีก็มีความแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย มีโรคภัยรบกวน ผลผลิตย่อมดีขึ้นเป็นธรรมดา การเว้นวรรคการทำนาเพื่อปลูกพืชปุ๋ยสดจึงเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรมากมาย ดีกว่าการทำนาโดยไม่หยุดพัก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นผลเสียต่อการผลิตและตัวเกษตรกรเอง”
 
                           ผู้อำนวยการคนเดิมระบุอีกว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางมีสภาพเป็นดินเหนียว มีองค์ประกอบทางไฟฟ้าเป็นประจุลบ ในขณะธาตุอาหารเป็นประจุบวก ดินเหนียวจึงตรึงธาตุอาหารได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับดินประเภทอื่น การปลูกและไถกลบพืชปุ๋ยสดสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นแหล่งปลูกข้าวจะเกิดประโยชน์หลายด้านที่คาดไม่ถึง
 
                           “นอกจากได้พักดิน เพื่อลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชในอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญและลดต้นทุนการผลิตแล้ว ผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นจากปุ๋ยพืชสด 20-30% ยังมีผลต่อการลดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ตามนโยบายโซนนิ่งของรัฐอีกด้วย”
 
                           ตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน นอกจากให้ความสำคัญกับพืชปุ๋ยสดในการปรับปรุงดินแล้ว ยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่พืชปุ๋ยสด โดยจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เกษตรกร ขณะเดียวกันส่งเสริมเกษตรกรปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และขายเมล็ดพันธุ์ให้กรมในราคาประกัน เพื่อสนองนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลดต้นทุนภาคเกษตร
 
 
 
 
 
 
----------------------------
 
(ทำมาหากิน : ปลูก 'ปอเทือง-โสนแอฟริกัน' ฟื้นฟู 'ดิน' อู่ข้าวลุ่มเจ้าพระยา : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)