
ถิ่นไทยงาม : โหวด สานศิลป์ร้อยเอ็ด
31 ส.ค. 2557
ถิ่นไทยงาม : โหวด สานศิลป์ร้อยเอ็ด
โด้เรหมี่ โด้เรหมี่ ซ้อล หล่า ... เสียงเพลงละครดังในอดีต แว่วเข้ามา เมื่อได้ยินเสียงครูเพลงโหวดบอกว่า เครื่องดนตรีกลมๆ เล็กๆ ชนิดนี้ มีโน้ตแค่ 5 ตัว คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา แค่นั้น ว่าแล้วครูก็หยิบเครื่องดนตรีที่เรียกว่า โหวด ขึ้นมาเป่าเป็นเพลง ขณะที่อีกครูท่านก็หยิบแคนขึ้นมาเป่ารับกัน บันเทิงวงเล็กๆ ด้วยเครื่องดนตรี 2 ชิ้นก็บรรเลงขึ้นอย่างสนุกสนาน
ใช่แล้ว วันนี้มาอยู่ที่ อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ต้นตำรับผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดนี้ แม้จะไม่ได้เจอ ครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ครูเพลงโหวด คนแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ก็ยังโชคดีได้มาเจอ ครูบัญชา ชอบบุญ ครูเพลงโหวดอีกคนหนึ่ง ที่ใช้บ้านเป็นทั้งแหล่งผลิต และสอนดนตรีประเภทนี้ด้วย
โหวด เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า จากของเล่นเด็กเลี้ยงควายสมัยก่อนที่ใช้แกว่งเล่นในฤดูเกี่ยวข้าว เพราะเชื่อว่า เพื่อการขอให้ต่อพญาแถนเพื่อให้ฝนหยุดตก จะได้เก็บเกี่ยวข้าวได้ และครูทรงศักดิ์ ได้นำมาปรับเป็นเสียงดนตรี จนได้รับความนิยมและกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญประกอบวงดนตรีพื้นเมืองของถิ่นอีสาน
ครูบัญชาบอกว่า สมัยก่อนการทำโหวดจะต้องเทียบเสียงแต่ละเสียงจากการฟัง ซึ่งโหวดอีสานมีโน้ตแค่ 5 ตัว คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา น้อยกว่าดนตรีสากล (มาหลังๆ ก็มีการผลิตโหวดที่มีเสียงดนตรีสากลครบด้วยเหมือนกัน) ปัจจุบันสะดวกขึ้น เมื่อมีเครื่องเทียบเสียงดนตรี รวมถึงมีหนังสือโน้ตเพลงที่มีการแกะโน้ตไว้แล้วด้วย
ไผ่ที่นำมาทำโหวด เป็นไผ่ป่าที่ชาวบ้านเรียกว่า ไผ่เหี้ย เป็นไผ่ขนาดเล็ก ที่จะนำมาตัดให้ได้ขนาด รูปทรง แล้วใช้ครั่งเป็นตัวอุดรู เพื่อปรับแต่งเสียงให้ได้โน้ตตามที่ต้องการ
"เดี๋ยวนี้ เราทำโหวดขายให้กับลูกศิษย์เป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาเอาไปใช้ได้ คนทั่วไปไม่ค่อยนิยม" ครูบัญชาบอกเล่าให้ฟังทั้งยังเป็นห่วงที่ปัจจุบัน คนที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ ดูจะน้อยลงไปตามกาลเวลา การผลิตโหวดจึงออกมา 2 แบบคือ แบบที่ใช่สำหรับนักดนตรีโดยเฉพาะที่จะมีการตั้งเสียงอย่างพิถีพิถันมากกว่าปกติ กับผลิตแบบธรรมดา เพื่อไปเป่าเลนๆ ใช้เวลาทำน้อยกว่า
นอกจากเป็นเครื่องดนตรีแล้ว จังหวัดร้อยเอ็ด ก็พยายามส่งเสริมเครื่องดนตรีชนิดนี้ เห็นได้จากการทำโหวดจิ๋วๆ ออกมาในรูปของเครื่องประดับ การเชิดชูเครื่องดนตรีประจำจังหวัดถึงตั้งวงเวียนมีโหวดขนาดยักษ์ตั้งอยู่ เป็นความภาคภูมิใจที่มีของดีประจำจังหวัด โดยไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร ที่สำคัญ แม้จะมีโน้ตเพลงแค่ 5 ตัว แต่โหวดก็สร้างสีสันและความบันเทิงให้กับผู้คนได้ไม่แพ้เครื่องดนตรีสากลอื่นๆ