
กินยารักษาโรคกระดูกพรุน...ข้อมูลที่ควรรู้
28 ส.ค. 2557
ดูแลสุขภาพ : กินยารักษาโรคกระดูกพรุน...ข้อมูลที่ควรรู้
ปัจจุบันมียารักษาโรคกระดูกพรุนที่ได้ผลดีมาก ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ลดการเกิดกระดูกหักได้ เราคงต้องทำความรู้จักวิธีการรักษาโดยการใช้ยาสักนิด
โดยทั่วไปนอกจากยาแคลเซียมและวิตามินดีแล้ว ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาอีก 1 ตัวซึ่งเป็นยาเฉพาะสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งในปัจจุบันยาที่นิยมใช้มี 5 ชนิด ดังนี้
1.ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonates)
2.ยากลุ่มเซิมส์ (SERMs)
3.ยาพ่นแคลซิโทนิน (calcitonin)
4.สตรอนเตียม รานีเลต (strontium ranelate)
5.ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (parathyroid hormone)
6.ยาดีโนซูแมบ (denosumab)
สำหรับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตมีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้รักษาโรคกระดูกพรุนมี 4 ชนิด ได้แก่ alendronate, risedronate, ibandronate และ zoledronic acid โดย 3 ชนิดแรกเป็นยาชนิดรับประทาน ส่วน zoledronic acid จะเป็นชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
สำหรับยาชนิดรับประทาน ต้องรับประทานให้ถูกวิธี โดยต้องรับประทานก่อนอาหารเช้าอย่างน้อย 30 นาที พร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว ห้ามรับประทานยาพร้อมนม กาแฟ น้ำส้ม หลังรับประทานยาจะต้องห้ามนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะถ้านอนจะทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบได้ง่าย ทำให้มีอาการแสบ ร้อน ปวดหรือจุกบริเวณลิ้นปี่และกลางหน้าอกได้ แต่ถ้ารับประทานถูกวิธี ผลข้างเคียงนี้จะเกิดขึ้นน้อยมาก สำหรับยาชนิดฉีด ภายหลังฉีดเข็มแรก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดข้อ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ไม่ต้องกลัว เพราะส่วนใหญ่หมอจะให้ยาป้องกันการเกิดอยู่แล้ว
นอกจากผลข้างเคียงข้างต้นแล้ว ผลข้างเคียงอื่นๆ พบได้น้อยมาก ที่สำคัญก่อนที่หมอจะเริ่มให้การรักษา ผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการตรวจการทำงานของไตเสมอ
สำหรับยากลุ่ม SERMs นั้น ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดขาบวมจากหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน มีอาการร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้าหรือตามร่างกายคล้ายอาการหมดประจำเดือนได้ สำหรับผลข้างเคียงอื่นๆ พบได้น้อย
ส่วนยาพ่น calcitonin เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากปลาแซลมอน ผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ในบางรายอาจมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบเล็กน้อยเท่านั้นเอง เพราะเป็นยาชนิดพ่นจมูก ปัจจุบันไม่ให้ใช้ในระยะยาว จะให้เพียงช่วงสั้นๆ 2-3 เดือนเท่านั้น เนื่องจากการให้ระยะยาวทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น
สำหรับยา strontium ranelate ก็พบผลข้างเคียงน้อยเช่นกัน บางรายอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหารได้บ้าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่มักเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้นเอง
สำหรับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เป็นชนิดฉีด ต้องฉีดเข้าเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเป็นเวลา 1½-2 ปี ผลข้างเคียงน้อย แต่ต้องเช็กการทำงานของไตและระดับแคลเซียมในเลือดก่อนเริ่มให้ยา โดยส่วนใหญ่ฮอร์โมนพาราไทรอยด์มักจะใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ เช่น เกิดกระดูกหักหลายตำแหน่ง ความหนาแน่นของกระดูกต่ำมากๆ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาชนิดอื่นๆ เท่านั้น
ส่วนตัวสุดท้าย คือยา denosumab ยาตัวนี้เป็นใหม่ ฉีดเข้าเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังปีละ 2 เข็ม ผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดผื่น ผิวหนังอักเสบหรือเกิดการติดเชื้อได้ แต่ยาตัวนี้มีข้อดีคือสามารถใช้ได้ในคนที่การทำงานของไตไม่ดี
สำหรับระยะเวลาการรักษานั้น จริงๆ แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้องให้ยานานเท่าไหร่ แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมีข้อแนะนำดังนี้
-ให้พิจารณาหยุดยาหลังการรักษาประมาณ 3-5 ปี
-สำหรับในรายที่เกิดกระดูกหัก หรือกระดูกพรุนมาก การรักษาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็ยังมีประโยชน์และการรักษานานถึง 10 ปี ก็ยังมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
โดย ศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกพรุน
และอาจารย์ประจำหน่วยต่อมไร้ท่อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น