ไลฟ์สไตล์

'พระที่นั่งวิมานเมฆ'วันวาน วันหนึ่ง วันนี้

'พระที่นั่งวิมานเมฆ'วันวาน วันหนึ่ง วันนี้

21 ส.ค. 2557

ศิลปวัฒนธรรม : 'พระที่นั่งวิมานเมฆ' วันวาน วันหนึ่ง วันนี้

 
                    ถ้าให้เอ่ยถึงพระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก...ตอบกันได้หรือไม่ค่ะว่าเป็นที่ไหน...คนไทยส่วนใหญ่ตอบได้ เพราะอย่างน้อยไม่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมแต่ก็ได้เรียนในสมัยเด็กๆ ซึ่งที่นั้นก็คือ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" โดยในระหว่างวันที่ 19 - 31 สิงหาคมนี้ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ สำนักพระราชวัง จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของพระที่นั่งวิมานเมฆตั้งแต่แรกเริ่มถึงปัจจุบัน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้สถาปนาพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อ พ.ศ. 2443  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระผู้ทรงฟื้นคืนชีวิตให้พระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อ พ.ศ. 2525 ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
 
                    พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพ.ศ.2443 โดยสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นรูปตัวแอลในภาษาอังกฤษ คือเป็นรูปสองแฉกตั้งฉากกัน ด้านหนึ่งขนานกับอ่างหยก (ทิศใต้) อีกด้านขนานกับคลองร่องไม้หอม (ทิศตะวันออก) แต่ละด้านยาว 60 เมตร เป็นอาคารสองชั้น เฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "แปดเหลี่ยม" สร้างเป็นสามชั้น มีห้องทั้งสิ้น 72 ห้อง ส่วนชั้นที่อยู่ติดดินเป็นชั้นใต้ต่ำสร้างก่ออิฐถือปูน องค์พระที่นั่งได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก มีลวดลายฉลุงดงามอย่างที่เรียกสถาปัตยกรรมยุคนั้นว่า "ขนมปังขิง"  เมื่อสร้างเสร็จได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวังมาประทับเป็นการถาวร ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเวลาถึง 5 ปี
และเมื่อการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศักราช 2449 จึงทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จวบจนเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช 2453 พระที่นั่งวิมานเมฆก็ปิดลง เพราะเจ้านายฝ่ายในต้องเสด็จฯ กลับไปประทับในพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี
 
                    จวบจนพุทธศักราช 2525 ในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสำรวจและพบว่าพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประณีตงดงาม และยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ รวมถึงศิลปวัตถุส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 อยู่เป็นจำนวนมาก จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บูรณะซ่อมแซมเนื่องจากเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทอง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตเป็นเลิศและมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง สมควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติสืบไป และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำศิลปวัตถุล้ำค่าส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจัดแสดง โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน "200 ปีแห่สายสัมพันธ์" เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อพระราชทานเลี้ยงแก่อาคันตุกะชาวต่างชาติ และผู้มีเกียรติชาวไทย จำนวน 512 คน ในค่ำคืนของวันที่ 22 ตุลาคม 2525 พระที่นั่งวิมานเมฆ จึงได้กลับสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งหลังจากปิดร้าง และไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับมายาวนานเกือบ 60 ปี
 
                    ซึ่งนอกจากเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีเจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพาร ประทับและพักอยู่ เนื่องจากต้องมีหน้าที่ถวายงานในหน้าที่ต่างๆ กัน โดยมีที่ประทับ และที่พักแยกเป็นส่วนภายในองค์พระที่นั่ง ซึ่งมีการตกแต่งทาสีภายในแบ่งออกเป็น 5 สี คือ สีฟ้า สีเขียว สีงาช้าง สีชมพู และสีลูกพีชซึ่งเป็นสีของ "แปดเหลี่ยม" หรือหมู่ห้องที่ประทับส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 การใช้สีต่างๆ ทาไม้เพื่อตกแต่งภายใน และรักษาเนื้อไม้นี้ เป็นวิธีการที่ทรงพบเห็นจากที่ประทับรับรอง ในคราวเยือนประเทศยุโรป ซึ่งแต่เดิมไทยเรานิยมใช้น้ำมันทารักษาเนื้อไม้เท่านั้น
 
                    นอกจากนิทรรศการ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” เนื่องในโอกาสงาน “เฉลิม 82 พรรษา มหาราชินี และฉลอง 29 ปี พิพิธภัณฑ์” ที่สวยงามตระการตาแล้ว ยังมีกิจกรรมเด่นคือตามรอย เรื่อง “เงาะป่า” ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อพ.ศ. 2448 ด้วย  ซึ่งเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากวิถีชีวิตของพวกเงาะป่าที่เมืองพัทลุง ชื่อ “คะนัง” ที่ทรงนำมาชุบเลี้ยงเป็นมหาดเล็กในวัง รวมทั้งการออกร้านของวิทยาลัยในวังชาย-หญิง, ร้านจิตรลดา, ร้าน  ภูฟ้า สินค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา การจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกและแสตมป์ส่วนตัว I-Stamp ของบริษัทไปรษณีย์ไทย
 
                    นิทรรศการ “วันวาน วันหนึ่ง วันนี้” เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมฟรีตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม ปิดทำการ